นายวิริทธิ์พล หิรัญรัตน์ นายกสมาคมสมาคมนักวิทยุและโทรทัศน์จังหวัดเพชรบูรณ์ เปิดเผยว่า คณะกรรมการสมาคมนักวิทยุและโทรทัศน์จังหวัดเพชรบูรณ์ โดยการสนับสนุนจากคณะที่ปรึกษาและสมาชิก ได้มีมติร่วมกันที่จะจัดกิจกรรมเนื่องในวันวิทยุกระจายเสียงแห่งชาติ โดยการทำกิจกรรมพบปะเยี่ยมสมาชิก สถานีวิทยุอำเภอวังโป่ง อำเภอชนแดน (สถานีวิทยุ 97.00 MHz love smile สถานีวิทยุ โรงเรียนเสรีศึกษา สถานีวิทยุ 95.25 MHz คนโคกเจริญ สถานีวิทยุ 103.50 MHz ชนแดนเรดิโอ อำเภอชนแดน พร้อมกับศึกษาดูงานกิจกรรมเด่นของหน่วยงานในพื้นที่ เยี่ยมชมโครงการเศรษฐกิจพอเพียงสู่อาหารกลางวันเพื่อนักเรียน โรงเรียนบ้านน้ำลัด ตำบลพุทธบาท อำเภอชนแดน สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเพชรบูรณ์ เขต 1 และ เยี่ยมชมศูนย์เรียนรู้ธนาคารน้ำใต้ดิน และศูนย์เรียนรู้ด้านพันธุกรรมพืช องค์การบริหารส่วนตำบลพุทธบาทเพื่อนำสิ่งดีๆของชุมชนออกเผยแพร่ให้สาธารณะชนได้รับทราบต่อไป
นางกาญจนา สุกาญจนรักษ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านน้ำลัด กล่าวว่า โครงการเศรษฐกิจพอเพียง โดยการปลูกพืชผลทางการเกษตร เพื่อนำผลผลิตเข้าสู่โครงการอาหารกลางวันของโรงเรียน รวมทั้งเป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับนักเรียน พร้อมกับมีการจัดการเรียนการสอนตามหลักสูตรให้สอดคล้องกับภาวะการณ์ในหลายปัจจัย ทั้งนี้ คณะผู้ปกครองบางส่วนได้เข้ามาช่วยปรับพื้นที่ให้ โดยนักเรียนได้ช่วยบำรุงด้วยปุ๋ยคอก และรดน้ำ พรวนดิน โรงเรียนได้เน้นย้ำไม่ให้มีการพ่นยา หรือฉีดยาเคมีที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย ทำให้เป็นพืชผักปลอดสารพิษที่ผลิตขึ้นร่วมกันโดยนักเรียน ครู และชุมชน สำหรับเมล็ดพันธุ์นั้น ได้จัดซื้อมาจากแหล่งผลิตในเขตอำเภอเขาค้ออนึ่ง โรงเรียนบ้านน้ำลัด ตั้งอยู่ในเขตหมู่ที่ 27 บ้านน้ำลัด ตำบลพุทธบาท อำเภอชนแดน ได้จัดตั้งเมื่อปี พ.ศ.2509 เปิดสอนระดับชั้นอนุบาล-ประถมศึกษา มีนักเรียน รวม 114 คน มีครู 7 คน ปัจจุบันมี นางกาญจนา สุกาญจนรักษ์ เป็น ผู้อำนวยการโรงเรียน และมีนางพัณณ์นิภา เครือกิจกุลหิรัญ เป็นประธานคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานของโรงเรียน
ในการเยี่ยมชม ศูนย์เรียนรู้ธนาคารน้ำใต้ดิน และศูนย์เรียนรู้ด้านพันธุกรรมพืช องค์การบริหารส่วนตำบลพุทธบาท ดร.มนัส เสนานุช ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลพุทธบาท ได้บรรยายถึงองค์ความรู้ ตามศาสตร์พระราชา ในหลักการทำธนาคารน้ำใต้ดิน ทั้ง ๒ ระบบ เพื่อให้เกิดประโยชน์หลากหลายด้านต่อชุมชน เช่น ช่วยแก้ปัญหาภัยแล้ง ปัญหาน้ำท่วม น้ำขัง น้ำสกปรก ช่วยกรองน้ำให้สะอาดขึ้น เป็นการกักเก็บ สะสมน้ำไว้ใต้ดิน เมื่อเราต้องการใช้ก็สามารถนำขึ้นมาใช้ได้ ที่สำคัญเป็นการสร้างเครือข่าย ร่วมด้วยช่วยกัน ขยายผล ขับเคลื่อนความรู้ความเข้าใจให้กับชุมชนอื่นๆ ได้เห็นความสำคัญของน้ำ รู้จักการฝากน้ำไว้ใต้ดิน เรียนรู้การบริหารจัดการน้ำ เสมือนการออมหรือกักเก็บน้ำต้นทุนไว้ใช้ในหน้าแล้ง สามารถนำเอาองค์ความรู้ไปปรับใช้ภายในท้องถิ่นท้องที่ ด้วยวิธีดักอุ้มน้ำในช่วงน้ำหลากหรือฤดูฝน ลงไปเก็บไว้ในธนาคารน้ำใต้ดิน เป็นการบูรณาการความรู้ทางวิชาการ และภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ใช้บริหารจัดการน้ำได้อย่างยั่งยืนต่อไป
มนสิชา คล้ายแก้ว