พล.ต.นพ.พีระพัฒน์ วิริยธรรมภูมิ
คนสูงวัยมักจะเป็นโรคที่ติดเชื้อได้ง่ายกว่าวัยอื่นๆ และมีอัตราการเสียชีวิตสูง ผู้สูงอายุในวัย 60 ปีขึ้นไป อยู่ในกลุ่มที่มีความเสี่ยง เนื่องจากมีภูมิต้านทานต่ำ เสี่ยงเกิดโรคติดเชื้อที่ทำให้ร่างกายไม่แข็งแรง โดยเฉพาะโรคติดเชื้อที่พบได้บ่อยในผู้สูงอายุ ได้แก่ โรคงูสวัด โรคไข้หวัดใหญ่ และโรคปอดบวมรวมทั้งโรคบาดทะยัก เพราะภูมิต้านทานต่ำกว่าคนในวัยอื่นๆ
พล.ต.นพ.พีระพัฒน์ วิริยธรรมภูมิ ผู้อำนวยการอาวุโส คลินิกอายุรกรรม โรงพยาบาลกรุงเทพไชน่าทาวน์ กล่าวว่า คนสูงอายุมีโอกาสติดเชื้อโรคได้ง่ายกว่าคนทั่วไป อีกทั้ง ยังมีความรุนแรงมากกว่า จะสังเกตได้ว่าผู้สูงอายุที่ป่วยด้วยโรคติดเชื้อ มีอัตราการเสียชีวิตสูงกว่าวัยเด็ก และวัยทำงาน เมื่อผู้สูงอายุเกิดโรคติดเชื้ออาจจะมีอาการที่รุนแรง และต้องใช้เวลาในการรักษานานกว่า และเสี่ยงต่อภาวะป่วยเรื้อรัง พิการหรือเสียชีวิตได้ วัคซีนจึงเป็นความจำเป็น เพื่อช่วยลดความเจ็บปวด และทำให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
ทั้งนี้ “วัคซีนไข้หวัดใหญ่” ควรฉีดเป็นประจำทุกปีในช่วงปลายฤดูฝนถึงช่วงฤดูหนาว เพราะเชื้อโรคมีการเปลี่ยนสายพันธุ์ที่ระบาดทุกปี ส่วนผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีนอาจมีอาการไข้ต่ำ ปวด บวม แดง สามารถบรรเทาได้ด้วยการประคบน้ำอุ่น และรับประทานยาแก้ปวด ลดไข้ อาการจะดีขึ้นภายใน 2-3 วัน “วัคซีนบาดทะยัก” มีแนวโน้มว่าจะพบในผู้สูงอายุมากขึ้น เพราะหลังจากฉีดวัคซีนป้องกันแล้ว ร่างกายจะมีภูมิต้านทานอยู่ประมาณ 10 ปี ดังนั้น ผู้สูงอายุที่เคยฉีดวัคซีนบาดทะยักแล้วควรฉีดซ้ำ โดยฉีดเพียงครั้งเดียวทุก 10 ปี แต่สำหรับผู้ที่ไม่เคยฉีดวัคซีนบาดทะยักมาก่อน สามารถฉีดเข็มแรกได้ทันที หลังจากนั้นก็ฉีดเข็มที่ 2 ห่างจากเข็มแรก 1 เดือน และเข็มที่ 3ห่างจากเข็มที่ 2 ประมาณ 6 เดือน ผลข้างเคียง อาจมีอาการปวด บวม แดงมีไข้ ปวดหัว หรืออ่อนเพลียเกิดขึ้นได้
“วัคซีนปอดอักเสบ” ป้องกันโรคปอดบวม หรือปอดอักเสบ ที่เกิดจากการติดเชื้อสเตรปโตคอคคัส นิวโมเนียอี และยังเป็นสาเหตุของการติดเชื้อรุนแรง เช่น การติดเชื้อในกระแสโลหิต เยื่อหุ้มสมองอักเสบในผู้สูงอายุผู้ป่วยตัดม้าม ผู้ป่วยตับวายหรือไตวาย ผู้ป่วยที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง หรือได้รับยากดภูมิคุ้มกัน ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลและอาจเสียชีวิตได้ วัคซีนป้องกันปอดบวม หรือวัคซีนนิวโมคอคคัส ฉีดเมื่ออายุ 65 ปีขึ้นไป เข้ากล้ามเนื้อ 2 เข็ม เข็มแรกแนะนำให้ฉีด ชนิด 13 สายพันธุ์ และเข็มที่สองเป็นชนิด 23 สายพันธุ์ ฉีดห่างกัน 1 ปี ไม่ต้องฉีดกระตุ้นอีก โดยหลังฉีดวัคซีน อาจมีอาการแดงหรือปวดเป็นผื่นแดงบริเวณที่ฉีด และอาจมีอาการเป็นไข้ตัวร้อน ซึ่งหายได้ภายใน 1-2 วันด้วยยาแก้ปวดลดไข้
“วัคซีนป้องกันงูสวัด” เป็นโรคที่พบได้บ่อยและพบอุบัติการณ์มากขึ้นเมื่ออายุมากกว่า 50 ปี ภาวะแทรกซ้อนที่พบได้บ่อยคือภาวะปวดเรื้อรัง หรือ post-herpetic neuralgia(PHN) มีอาการปวดเจ็บแสบร้อนตามแนวเส้นประสาทเรื้อรัง และอาการปวดอาจเป็นอยู่ตลอดชีวิตในผู้สูงอายุมักพบความรุนแรงกว่าคนในวัยอื่น วัคซีนสามารถลดความเสี่ยงในการเกิดโรคงูสวัดได้ร้อยละ 51.3 โดยแนะนำให้ฉีดในผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป โดยฉีดเข้าใต้ผิวหนังเพียงเข็มเดียว จากนั้นไม่ต้องฉีดกระตุ้นอีก ส่วนวัคซีนไข้เลือดออก เริ่มมีใช้แล้วแต่ยังรอรายงานผลสำหรับผู้สูงอายุ การพิจารณาการฉีดวัคซีนควรปรึกษาแพทย์ เพื่อรับคำแนะนำและเลือกวัคซีนที่เหมาะสม จากข้อดีและข้อเสียโดยดูจากประวัติสุขภาพ กลุ่มอายุของผู้รับบริการประวัติการแพ้อาหาร ยา สมุนไพร วิตามิน โดยเฉพาะผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อสูง