เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2564 เวลา 11.00 น.นายสามารถ เจนชัยจิตรวนิช ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงยุติธรรม เป็นวิทยากรบรรยายให้ความรู้ใน กิจกรรมส่งเสริมความรู้เกี่ยวกับแชร์ลูกโซ่โรงแรมเบสเวสเทิร์น พลัส แวนด้า แกรนด์ ตำบลคลองเกลือ อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี
นายสามารถฯ กล่าวว่า กระทรวงยุติธรรมมีภารกิจหลักในการอำนวยความยุติธรรมให้กับประชาชน ซึ่งพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำนโยบายลดความเหลื่อมล้ำให้กับประชาชน สามารถเข้าถึงความยุติธรรมได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย หรือมีค่าใช้จ่ายน้อยที่สุด เพราะด้วยสถานะทางสังคมที่ด้อยกว่าทำให้คนยากจนเกิดความเสียเปรียบในทุกๆมิติ แต่ปัจจุบันกระบวนการยุติธรรมของไทยมีการพัฒนา โดย เฉพาะอย่างยิ่ง กองทุนยุติธรรมซึ่งเป็น ฟันเฟืองสำคัญ ในการอำนวยความยุติธรรมให้กับประชาชนอย่างแท้จริง และช่วยให้คนจนสามารถเข้าสู่กระบวนการทยุติธรรมได้อย่างเท่าเทียม ไม่ว่าจะเป็น ผู้ต้องหาซึ่งขาดแคลนทุนทรัพย์ในการประกันตัว หรือ เงินค่าใช้จ่ายในการเดินทาง รวมไปถึงการจัดทนายความ และการให้ความรู้ด้านกฎหมายแก่ประชาชน
กระทรวงยุติธรรมเปรียบเสมือนเครื่องจักรที่จำเป็นต้องอาศัยกลไกภาคประชาชนเป็นฟันเฟืองสำคัญในการอำนวยความยุติธรรมให้กับประชาชน โดยสิ่งที่กระผมจะถ่ายทอดให้กับทุกท่านฟังในที่นี้คือเรื่องของแชร์ลูกโซ่ ซึ่งพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้ผลักดันให้มีการแก้ไขกฎหมาย และขับเคลื่อนร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามแชร์ลูกโซ่ เพื่อเป็นเครื่องมือสำคัญ ในการแก้ไขปัญหาแชร์ลูกโซ่ซึ่งเป็นวาระแห่งชาติ
นอกจากนี้ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมได้มีนโยบายเชิงรุกในการป้องกันและปราบปรามปัญหาแชร์ลูกโซ่ภายใต้ การดำเนินงานของศูนย์วยุติธรรมสร้างสุข และการบูรณาการการทำงานของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงยุติธรรม โดย เร่งรัดติดตามดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดอย่างต่อเนื่อง และยึดอายัดทรัพย์สินผู้กระทำความผิดเพื่อนำกลับไปคืนให้กับเหยื่อที่ถูกหลอกลวง
แม้ว่า ที่ผ่านมา ประเทศไทย เคยได้รับบทเรียน จากมหันตภัยแชร์ลูกโซ่ มาแล้วหลายครั้ง อาทิ แชร์แม่ชม้อย ซึ่งมีผู้เสียหายกว่า 20,000 คน คิดเป็นมูลค่าความเสียหายกว่า 4,500 ล้านบาท,แชร์แม่นกแก้ว,แชร์ชาร์เตอร์,แชร์บิทเชอร์,แชร์ยูฟัน,แชร์โชกุน และแชร์ Forex -3D ซึ่งจะมีกลวิธีในการหลอกลวง แตกต่างกันออกไป แต่สิ่งที่เหมือนกัน คือ การกล่าวอ้างว่าจะให้ผลตอบแทนสูงกว่าการฝากเงินในธนาคาร จึงเป็นสิ่งที่ดึงดูดให้ประขาชนตกเป็นเหยื่อจำนวนมาก จนต้องสูญเสียทรัพย์สินเงินทองจำนวนมหาศาล จึงถึงเวลาแล้วที่จะต้องกลับมาทบทวนรูปแบบการแจ้งเตือนประชาชนเพราะต้องยอมรับว่า ประชาชนให้ความสนใจในประเด็น พิษภัยของแชร์ลูกโซ่ น้อยกว่า ประเด็นการชักชวนมาลงทุนแล้วได้รับผลตอบแทนสูงในระยะเวลาอันรวดเร็ว
“ทุกคนมีโอกาสที่จะถูกหลอกลวงด้วยกันทั้งสิ้น แล้วจะป้องกันตนเองได้อย่างไร ซึ่งวิวัฒนาการของเทคโนโลยีสารสนเทศในทุกวันนี้ เปรียบเสมือนดาบสองคม ที่ทำให้ แชร์ลูกโซ่ แพร่ระบาด ได้อย่างรวดเร็ว ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่ของประชาชนทุกคน ที่จะต้องช่วยกันสอดส่องดูแล ไม่ให้ใครมาทำธุรกิจหลอกลวงผู้อื่น และอย่าไปหลงเชื่อใครง่ายๆ หากเราช่วยกันก็สามารถควบคุม การแพร่ระบาดของแชร์ลูกโซ่ได้เช่นเดียวกับการควบคุมการแพร่ระบาดของ โรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า (COVID-19) ที่ประเทศไทยสำเร็จมาแล้ว”
สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน