วันที่ 26 ม.ค.64 เวลา 13.30 น.ณ ห้องอเนกประสงค์ ชั้น1 อาคาร 1 สตม.(สวนพลู) สาทร กทม. : พล.ต.ท.สมพงษ์ ชิงดวง ผบช.สตม. พร้อมด้วย พล.ต.ต.ณฐพล แสวงกิจ รอง ผบช.สตม.,พล.ต.ต.อาชยน ไกรทอง รอง ผบช.สตม.,พล.ต.ต.ปิติ นิธินนทเศรษฐ์ ผบก.ตม.1,พ.ต.อ.ยศเอก รักษาสุวรรณ รอง ผบก.ตม.1,พ.ต.อ.กีรติศักดิ์ ก้องเกียรติศิริ ผกก.สส.บก.ตม.1 ร่วมกันแถลงข่าว 3 คดี ดังนี้ 1.บุกรวบต่างด้าวคาผ้าเหลือง เกลื่อนวัดดังย่านฝั่งธนฯ ทำศาสนาเสื่อม ปลอมเป็นพระหากินกับศรัทธาประชาชน ไม่หวั่นโควิด 2.รวบสาวใหญ่ชาวเมียนมาร์สวมบัตรคนไทยนานกว่า 30 ปี หลบกบดานกลางเมืองหลวง และ 3.ไบโอฯ เจ๋ง ตม.1 จับแขกอินเดียหลบเข้าไทยเปลี่ยนหนังสือเดินทางใหม่ยังไม่รอด
คดีที่ 1 บุกรวบต่างด้าวคาผ้าเหลือง เกลื่อนวัดดังย่านฝั่งธนฯ ทำศาสนาเสื่อม ปลอมเป็นพระ หากินกับศรัทธาประชาชน ไม่หวั่นโควิด : เจ้าหน้าที่ กก.สส.บก.ตม.1 ได้รับแจ้งจากพลเมืองดีว่าบริเวณวัดตะล่อม เขตภาษีเจริญ มีพระสงฆ์ต่างด้าวมาจำวัดอยู่เป็นจำนวนหลายร้อยรูป ซึ่งอยู่กันอย่างหนาแน่นและแออัด อาจเป็นแหล่งแพร่กระจายของโรคไวรัสโคโรน่า 2019 (โควิด-19) และมีพฤติการณ์หลอกลวงประชาชน ขอให้เจ้าหน้าที่ฯเข้าไปตรวจสอบและดำเนินการ ซึ่งเบื้องต้นจากการตรวจสอบข้อมูลทำให้ทราบว่า เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองหลายจังหวัด เช่น ตม.จ.สระแก้ว,ตม.จ.สมุทรปราการ แตม.จ.นครปฐม ได้เคยจับคนต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง ที่อ้างว่าเป็นพระภิกษุและจำวัดที่วัดตะล่อมมาแล้วหลายราย เจ้าหน้าที่ กก.สส.บก.ตม.1 จึงได้วางแผนจัดกำลังลงไปหาข้อมูลและตรวจสอบอีกครั้ง โดยเจ้าหน้าที่ฯได้แฝงตัว และเฝ้าติดตามพฤติการณ์ของบุคคลที่คาดว่าเป็นพระสงฆ์ต่างด้าว จนกระทั่งทราบแน่ชัดว่าภายในวัดมีพระต่างด้าวจำวัดอยู่เป็นจำนวนมากตามที่มีการร้องเรียน โดยพระเหล่านี้ช่วงเช้ามืดจะออกบิณฑบาตและออกรับเรี่ยไรตามตลาดและแหล่งชุมชนต่างๆ ที่มีประชาชนจำนวนมาก
ซึ่งจะมีรถแท็กซี่และจักรยานยนต์รับจ้างคอยรับส่งเป็นประจำ ส่วนของที่ได้จากการบิณฑบาตส่วนใหญ่จะมีการวนให้แม่ค้านำมาจำหน่ายให้ประชาชนนำมาใส่บาตรใหม่อีกรอบ และจะกลับเข้าวัดในช่วงสายๆของแต่ละวัน นอกจากนี้เจ้าหน้าที่ฯยังได้แฝงตัวเข้าไปสำรวจที่พักของพระสงฆ์ภายในวัด พบว่ามีการแบ่งเป็นโซนๆ โดยพระต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรถูกต้อง จะจัดให้พักอยู่บริเวณอาคารกุฏิพระ ส่วนพระที่อยู่โดยไม่ถูกต้องจะพักอยู่บริเวณใต้ถุนกุฏิใต้อาคารต่างๆ
หลังจากเจ้าหน้าที่ฯได้ข้อมูลที่ชัดเจน จึงได้วางแผนจัดกำลังเข้าตรวจสอบ ซึ่งจะเน้นเข้าตรวจสอบในช่วงบ่ายเพราะพระส่วนใหญ่จะอยู่ภายในบริเวณวัด โดยจะทำการตรวจสอบเอกสารการได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักร เอกสารแสดงความเป็นพระสงฆ์หรือใบสูติบัตรพระ และมีการตรวจวัดอุณหภูมิเบื้องต้นอีกด้วย เพื่อป้องกันเชื้อโรคไวรัสโคโรน่า 2019 (โควิด-19)
เนื่องจากพระสงฆ์ส่วนใหญ่เป็นพระต่างด้าว และอยู่รวมกันอย่างแออัดหนาแน่น หากมีผู้ติดเชื้ออาจเป็นแหล่งแพร่กระจายของเชื้อโรคได้ โดยมีพระเลขานุการวัดตะล่อม เป็นผู้นำตรวจและแจ้งว่าเจ้าอาวาสไม่อยู่ เจ้าหน้าที่ได้กระจายกำลังกันตรวจสอบ พบพระสงฆ์สัญชาติต่างๆ คือ เมียนมาร์,อินเดีย,กัมพูชา,ลาว และบังคลาเทศ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสัญชาติเมียนมาร์ และมีเอกสารถูกต้อง จำนวน 181 รูป ขณะเจ้าหน้าที่เข้าตรวจ พบพระภิกษุส่วนหนึ่งหลบอยู่บริเวณใต้เมรุเผาศพและบริเวณใต้ถุนอาคารกุฏิพระ จากการตรวจสอบพบ คนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา จำนวน 27 ราย ไม่สามารถนำหลักฐานใดๆซึ่งแสดงความเป็นพระสงฆ์ และการได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรมาแสดงให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบได้ และรับว่าเป็นบุคคลต่างด้าวเข้ามาและอยู่ในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต
ซึ่งบุคคลเหล่านี้เข้ามาและมีพฤติการณ์หลอกลวงประชาชนให้หลงเชื่อว่าเป็นพระภิกษุสงฆ์ในพระพุทธศาสนา เพื่อให้ประชาชนที่มีจิตรศรัทธาร่วมทำบุญบริจาคเงิน ทำให้ศาสนาเสื่อมเสีย พระเลขานุการวัดตะล่อม แจ้งว่าเจ้าอาวาสจะเป็นผู้พิจารณาอนุญาตให้ใครหรือพระรูปใด ได้เข้ามาจำวัดหรือพักอาศัยภายในบริเวณวัด จากนั้นเจ้าหน้าที่จึงได้ให้คนต่างด้าวเปลี่ยนเครื่องแต่งกาย และนำตัวคนต่างด้าวทั้งหมด ไปที่ สน.บางเสาธง ส่งพนักงานสอบสวน เพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
เบื้องต้นแจ้งข้อกล่าวหา เป็นบุคคลต่างด้าวเข้ามาและอยู่ในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต เจ้าหน้าที่ฯ ได้แจ้งความประสงค์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินการทางกฎหมายกับเจ้าอาวาสฯ ในข้อหา “ให้คนต่างด้าวเข้าพักอาศัย ซ่อนเร้น หรือช่วยเหลือด้วยประการใดๆ เพื่อให้คนต่างด้าวนั้นพ้นจากการจับกุม” และเจ้าหน้าที่ฯจะทำการสืบสวนขยายผลต่อ จนถึงการลักลอบเข้าเมืองของคนต่างด้าวเข้ามาในประเทศต่อไป
คดีที่ 2 รวบสาวใหญ่ชาวเมียนมาร์ สวมบัตรคนไทยนานกว่า 30 ปี หลบกบดานกลางเมืองหลวง : เจ้าหน้าที่ กก.สส.บก.ตม.1 ได้รับการประสานมาจากเจ้าหน้าที่เทศบาลนครปากเกร็ด ว่ามีบุคคลน่าเชื่อ ว่าจะเป็นบุคคลต่างด้าวสวมบัตรประชาชนคนไทย เจ้าหน้าที่ฯจึงได้ทำการรายงานผู้บังคับบัญชาเบื้องต้นเพื่อทำการสืบสวนหาตัวผู้กระทำผิด เจ้าหน้าที่เทศบาลนครปากเกร็ด ซึ่งตั้งศูนย์บริการ อยู่ที่ศูนย์การค้า คอสโม บาร์ซ่า เมืองทองธานี จังหวัดนนทบุรี โดยได้รับคำร้อง ของนางสุคำฯ ว่าขอแจ้งย้ายปลายทางเข้าไปในทะเบียนบ้านหลังหนึ่งในจังหวัดนนทบุรี จากนั้น นางสุคำฯ ได้ยื่นคำร้องความประสงค์ขอเปลี่ยนบัตรประจำตัวประชาชน ในขณะที่สแกนลายนิ้วมือ เพื่อเปรียบเทียบหลักฐานข้อมูลบัตรประจำตัวประชาชน ระบบแสดงข้อมูลรายการบุคคล และภาพใบหน้าของผู้ต้องหามีบัตร 2 ภาพ ซึ่งเป็นภาพของบุคคลคนเดียวกัน เมื่อทำการสอบถามเพิ่มเติม ผู้ต้องหาดังกล่าวได้เดินหนีไป พร้อมทิ้งบัตรประชาชนที่ใช้แสดงตนในการแจ้งย้ายที่อยู่ไว้
จากการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่าผู้ต้องหา มี 2 สถานะทางทะเบียนราษฎร์ สถานะที่ 1 เป็นบุคคลสัญชาติไทย ชื่อนางสุคำฯ สถานะที่ 2 เป็นบุคคลไม่มีสถานะทางทะเบียน ชื่อนางอุ่นแปงฯ ซึ่งเชื่อได้ว่า ผู้ต้องหาน่าจะมีการทุจริตสวมตัวทำบัตรประชาชน ต่อมาเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2563 เจ้าหน้าที่เทศบาลนครปากเกร็ด ได้เข้าแจ้งความร้องทุกข์ กับพนักงานสอบสวน สภ.ปากเกร็ด และได้ทำการประสานเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง เพื่อติดตามผู้กระทำความผิด จนกระทั่งเจ้าหน้าที่สืบทราบว่านางสุคำฯ หรือนางอุ่นแปงฯ ผู้ต้องหาตามหมายจับของศาลจังหวัดนนทบุรีที่ 29/2 564 ลงวันที่ 21 มกราคม 2564 ได้พักอาศัยอยู่บริเวณอาคาร มโนชัยแมนชั่น เขตห้วยขวางกรุงเทพฯ จึงได้แจ้งให้ทางผู้บังคับบัญชาทราบ
จากนั้นเจ้าหน้าที่ฯ ได้เดินทางไปถึงบริเวณอาคารมโนชัยแมนชั่น พบบุคคลต้องสงสัย นางอุ่นแปงฯ หรือนางสุคำฯ ยืนอยู่บริเวณหน้าอาคารดังกล่าว เจ้าหน้าที่ฯจึงได้ตรวจสอบเปรียบเทียบกับรูปภาพ ตามตำหนิรูปพรรณ ในหมายจับดังกล่าวพบว่าเป็นบุคคลคนเดียวกัน ตามหมายจับจริง แต่นางอุ่นแปงฯ หรือนางสุคำฯ ได้ขึ้นรถจักรยานยนต์รับจ้างออกจากอาคาร มายังบริเวณสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน สถานีห้วยขวาง ฝั่งติดกับอาคารชุดคอนโด ไลฟ์ แอท รัชดา/ห้วยขวาง ก่อนที่เจ้าหน้าที่จะทำการจับกุม เจ้าหน้าที่ฯ จึงได้ติดตามตัวมายังบริเวณดังกล่าว เมื่อนางอุ่นแปงฯ หรือนางสุคำฯ ลงจากรถจักรยานยนต์รับจ้าง บริเวณสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน เจ้าหน้าที่ฯ จึงได้แสดงตัวเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจและแสดงบัตรจนผู้ต้องหาเป็นที่พอใจ
จากนั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจได้อ่านและแสดงหมายจับให้นางอุ่นแปงฯ หรือนางสุคำฯ ตรวจสอบ นางอุ่นแปงฯ หรือนางสุคำฯ ตรวจดูแล้ว จึงรับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกันตามหมายจับดังกล่าวจริง และยังไม่เคยถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมตามหมายจับดังกล่าวมาก่อน เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดจับกุมจึงแจ้งข้อหา ให้ผู้ต้องหาทราบว่า เป็นบุคคลไม่มีสัญชาติไทย ทำหรือใช้หรือแสดงหลักฐานอันเป็นเท็จ หรือกระทำการเพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นมีชื่อหรือมีรายการอย่างหนึ่งอย่างใดในทะเบียนบ้านหรือเอกสารทางทะเบียนราษฎร์อื่นโดยมิชอบ และเป็นบุคคลไม่มีสัญชาติไทยยื่นคำขอมีบัตร ด้วยการแจ้งข้อความหรือแสดงหลักฐานอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อความจริงต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ในการขอมีบัตร เจ้าหน้าที่ชุดจับกุมจึงได้นำตัวผู้ต้องหาส่งพนักงานสอบสวน สภ.ปากเกร็ด และจากการสอบสวนเพิ่มเติม ผู้ต้องหาให้การว่า เดิม ตนเองสัญชาติเมียนมาร์ เชื้อสายไทลื้อ เกิดที่จังหวัดเชียงตุง ประเทศเมียนมาร์ และเติบโตอยู่ที่จังหวัดเชียงตุงจนอายุได้ประมาณ 4 ปี ก็ได้เดินทางมาที่อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย โดยมีญาติอยู่ที่อำเภอแม่สาย จึงได้อาศัยอยู่ด้วยประมาณปีกว่า หลังจากนั้นประมาณปี พ.ศ.2530 ได้มาทำงานที่เขตบางกะปิ กรุงเทพฯ โดยมาทำงานเป็นแม่บ้านให้กับผู้รับเหมาก่อสร้างรายหนึ่ง และบุคคลดังกล่าวได้ดำเนินการติดต่อทำบัตรประชาชนให้ในราคาประมาณ 30,000 บาท ซึ่งในสมัยนั้นก็ได้บัตรประจำตัวประชาชน มาในชื่อนางสุคำฯ และเมื่อปีพ.ศ.2536 ผู้รับเหมาคนดังกล่าวได้เสียชีวิต ตนเองก็ได้ใช้บัตรประจำตัวประชาชนดังกล่าวเรื่อยมา ต่อมาประมาณปีพ.ศ.2550 จึงได้ไปขึ้นทะเบียนบุคคลไม่มีสถานะทางทะเบียนกับทางอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย และตนก็ได้บัตรประจําตัวบุคคลไม่มีสถานะทางทะเบียน ชื่อนางอุ่นแปงฯ แต่ก็ยังคงถือบัตรประจำตัวคนไทยเรื่อยมาจนกระทั่งถูกจับกุม
คดีที่ 3 ไบโอฯเจ๋ง ตม.1 จับแขกอินเดียหลบเข้าไทยเปลี่ยนหนังสือเดินทางใหม่ ยังไม่รอด : สืบเนื่องมาจาก ในขณะที่เจ้าหน้าที่ กก.สส.บก.ตม.1 ออกสืบสวนหาข่าวในเขตพื้นที่รับผิดชอบ ในช่วงระดมกวดขันจับกุมแรงงานต่างด้าว ในการเคลื่อนย้ายแรงงานและลักลอบเข้าเมือง โดยใช้รถยนต์ตรวจการณ์อัจฉริยะ BMW เมื่อเจ้าหน้าที่ฯ ขับรถผ่านมาบริเวณซอยประชาร่วมใจ 48 เขตคลองสามวา กรุงเทพฯ พบชายคล้ายชาวต่างด้าวมีลักษณะท่าทางเป็นพิรุธเมื่อเห็นรถยนต์ตรวจการณ์อัจฉริยะ เจ้าหน้าที่ฯ จึงได้แสดงตัวเป็นเจ้าพนักงานตำรวจตรวจคนเข้าเมือง พร้อมแสดงบัตรเจ้าพนักงานให้ชายดังกล่าวดู และขอตรวจสอบหนังสือเดินทางหรือเอกสารอื่นใดที่ใช้แทนหนังสือเดินทาง เบื้องต้นรับว่าเป็นคนต่างด้าว ชื่อ นายโมฮัมหมัด (MR.MOHAMAD) สัญชาติอินเดีย แต่ไม่มีเอกสารใดๆ แสดงให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบได้ เจ้าหน้าที่สังเกตจากรูปพรรณแล้วไม่เชื่อว่า จะอายุ 43 ปี และคนต่างด้าวพยายามทำทีเป็นสื่อสารไม่เข้าใจ เจ้าหน้าที่ได้ตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้นจากรถยนต์ตรวจการณ์อัจฉริยะ และเชิญตัวคนต่างด้าวมาที่ กก.สส.บก.ตม.1 เพื่อตรวจสอบข้อมูลอย่างละเอียดอีกครั้ง
จากการตรวจสอบจากระบบสารสนเทศตรวจคนเข้าเมือง (Biometrics) พบว่า นายโมฮัมหมัด (MR.MOHAMAD) สัญชาติอินเดีย อายุ 43 ปี เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรทางด่าน ทอ.สุวรรณภูมิ เมื่อ 29 ก.ค.62 (2019) ประเภทวีซ่านักท่องเที่ยว ได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรถึง 26 ก.ย.62 (อยู่เกินกำหนดอนุญาต 461 วัน) และเมื่อตรวจสอบลายพิมพ์นิ้วมือต่อไป ยังพบว่าเดิมคนต่างด้าวรายนี้ ใช้ชื่อว่า MUMTAZ สัญชาติ อินเดีย อายุ 53 ปี เคยถูกจับกุมในข้อหาอยู่ในราชอาณาจักรโดยการอนุญาตสิ้นสุด (อยู่เกินกำหนดอนุญาต 1,162 วัน) และถูกเจ้าหน้าที่ผลักดันออกนอกราชอาณาจักร พร้อมขึ้นบัญชีเป็นบุคคลต้องห้ามเข้ามาในราชอาณาจักรเป็นเวลา 10 ปี จะเดินทางเข้าประเทศไทยได้ในวันที่ 14/04/2570 แต่เมื่อถูกผลักดันออกไปแล้วคนต่างด้าวมียังความประสงค์จะเดินทางเข้ามายังประเทศไทยอีก จึงได้ไปทำหนังสือเดินทางเล่มใหม่และใช้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร จนกระทั่งมาถูกเจ้าหน้าที่ฯ ตรวจสอบและจับกุม และนำส่งพนักงานสอบสวน เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป โดยแจ้งข้อกล่าวหา เป็นบุคคลต่างด้าวเข้ามาและอยู่ในราชอาณาจักรโดยการอนุญาตสิ้นสุด
สุชษฐ ศิลานนท์ รายงาน