(5 ม.ค.64)เมื่อเวลา 11.15 น.ที่อาคารรัฐสภา นายวัชระ เพชรทอง อดีตส.ส.ประชาธิปัตย์ ยื่นหนังสือผ่านเจ้าหน้าที่สารบาญ สำนักงานเลขาธิการ สภาผู้แทนราษฎรถึงนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ขอให้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนนางพรพิศ เพชรเจริญ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เรื่องรายงานการพบเห็นสำนักงานผู้รับเหมาช่วงหรือไม่ และเหตุใดจึงให้สัมภาษณ์ว่า คณะกรรมการตรวจการจ้างฯลงมติ 6 ต่อ 3 ไม่ให้ขยายเวลาก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ ซึ่งผิดไปจากข้อเท็จจริง คือ 6 ต่อ 2 ทำให้สาธารณชนสงสัยในการปฏิบัติหน้าที่ราชการของนางพรพิศเป็นอย่างยิ่ง
จากนั้น นายวัชระ แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนว่า นายชวน หลีกภัย ได้มอบหมายให้นางพรพิศ และคณะเข้าตรวจสภาพทั่วไปของการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2563 ปรากฏข้อเท็จจริงว่ามีสำนักงานชั่วคราวของบริษัทผู้รับเหมาช่วง ตั้งอยู่ใกล้เคียงกับสำนักงานของบริษัทผู้รับเหมาคู่สัญญา จึงไม่ทราบว่านางพรพิศได้รายงานสาระสำคัญของสัญญาการก่อสร้างสภาแห่งนี้ต่อประธานสภาผู้แทนราษฎรหรือไม่ เพราะตามสัญญาจัดซื้อจัดจ้างเลขที่ 116/2556 ข้อ 11 ระบุว่า ห้ามบริษัทจ้างผู้รับเหมาช่วง หากบริษัทรับเหมาผิดสัญญา สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรย่อมต้องปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด เพราะประธานสภาฯมีนโยบายอยากให้อาคารรัฐสภาก่อสร้างแล้วเสร็จ และเป็นประโยชน์ต่อทางราชการอย่างสูงสุด แต่ต้องอยู่บนพื้นฐานความถูกต้องตามกฎหมาย ดังนั้นตนจึงขอแจ้งให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรทราบ และได้โปรดตรวจสอบรายงานเรื่องการสั่งราชการเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรและคณะให้ไปตรวจสภาพทั่วไปของการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2563 ว่าได้รายงานเรื่องบริษัทผู้รับเหมาช่วงเรื่องนี้ให้ทราบหรือไม่ หากไม่รายงาน ขอให้ประธานสภาฯ ตั้งกรรมการสอบสวนว่ามีเหตุผลใด เพราะเป็นหลักฐานที่ปรากฎชัดเจนว่าบริษัทคู่สัญญากับสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรผิดสัญญาข้อ 11 อย่างชัดเจน และเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2563 กรณีมติคณะกรรมการตรวจการจ้างอาคารรัฐสภาฯได้มีการลงมติ 6 ต่อ 2 ต่อมานางพรพิศ กลับ ได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่ามติกรรมการตรวจการจ้างลงมติ 6 ต่อ 3 ไม่ให้ขยายเวลาก่อสร้าง ครั้งที่ 5 ทำให้สาธารณชนสงสัยในคำสัมภาษณ์การปฏิบัติหน้าที่ของเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรเป็นอย่างมาก จึงขอให้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ว่าเหตุใดจึงให้สัมภาษณ์ผิดไปจากข้อเท็จจริงเช่นนั้น