(27 ธ.ค.63)จากกรณีที่นายสาธิต ประเสริฐศักดิ์ ประธานคณะกรรมการตรวจการจ้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ ได้รับหนังสือของนายจักรพันธ์ จันทรเจริญ ผู้อำนวยการสำนักกฎหมาย สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ลงวันที่ 23 ธันวาคม 2563 ที่ให้ความเห็นสรุปว่า บริษัท ซิโน-ไทย เอนจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จก.(มหาชน) ได้ขอขยายเวลาการก่อสร้างอาคารรัฐสภาครั้งที่ 5 จำนวน 133 วัน หลังจากขยายสัญญามาแล้ว 4 ครั้ง 1,864 วันจากสัญญาก่อสร้างเดิม 900 วัน รวม 2,764 วันก็ไม่แล้วเสร็จ ได้มาขอขยายเวลาก่อสร้างครั้งที่ 5 เป็นการใช้สิทธิไม่สุจริตและไม่ก่อประโยชน์แก่ทางราชการ และต่อมานายสาธิตได้แจ้งให้กลุ่มบริษัทที่ปรึกษาโครงการหรือ CAMA และกลุ่มบริษัทผู้ควบคุมงาน หรือ ATTAไปหาเหตุผลที่ดีกว่าเดิมเพื่อนำมาประกอบการพิจารณาอนุมัติให้บริษัทซิโน-ไทยได้ขยายเวลาก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่นั้น
นายวัชระ เพชรทอง อดีต ส.ส.ประชาธิปัตย์ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2563 กลุ่มบริษัทผู้ควบคุมงาน ATTAได้ประชุมและมีมติไม่เห็นชอบการขอขยายเวลาครั้งที่ 5 ของบริษัท ซิโน-ไทย พร้อมกับส่งหนังสือแจ้งถึงกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา CAMA แล้ว สัญญาก่อสร้างเดิมมีระยะเวลา 900 วัน หากก่อสร้างไม่เสร็จบริษัทซิโน-ไทยผู้รับจ้างต้องเสียค่าปรับวันละ 12 ล้านบาท จากค่าก่อสร้าง 12,280 ล้านบาท การขยายเวลาครั้งที่ 1 จำนวน 378 วัน กลุ่มบริษัท CAMA เห็นชอบตามคณะกรรมการตรวจการจ้างฯชุดนายสรศักดิ์ เพียรเวช เป็นประธาน แต่กลุ่มบริษัทATTA กลับเห็นชอบให้ขยายเวลาเพียง 287 วันตามคณะกรรมการตรวจการจ้างฯชุดนายวีระพันธ์ มุขะสมบัติ เป็นประธาน การขยายเวลา 278 วันเป็นเหตุให้นายจเร พันธุ์เปรื่อง เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรถูกพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (คสช.)ใช้คำสั่งม.44 ย้ายไปประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
ต่อมามีการขยายเวลาอีกเป็นครั้งที่ 2 จำนวน 421 วัน และครั้งที่ 3 จำนวน 678 วัน ทั้งกลุ่มบริษัท CAMAและกลุ่มบริษัทATTA ต่างเห็นชอบเหมือนกัน ส่วนการขยายเวลาครั้งที่ 4 จำนวน 382 วัน กลุ่มบริษัทCAMAเห็นชอบ กลุ่มบริษัทATTAไม่เห็นชอบ จึงเป็นที่สังเกตว่าการใช้อำนาจตามม.44 ของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคสช.ที่โยกย้ายนายจเร พันธุ์เปรื่อง เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรขณะนั้น เป็นเพราะไม่ตอบสนองความต้องการของฝ่ายการเมืองใช่หรือไม่ ในการขยายเวลาก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ และกลุ่มบริษัท CAMA เห็นชอบให้ขยายเวลาก่อสร้างตามความต้องการของบริษัทซิโน-ไทยฯทุกครั้ง จึงมีคำถามว่ากลุ่มบริษัทCAMAที่สำนักงานเลขาธิการจ้างเป็นที่ปรึกษาโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่เป็นที่ปรึกษาของทางราชการหรือที่ปรึกษาบริษัทผู้รับเหมากันแน่
ขณะที่งบประมาณสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรจ่ายให้ทั้ง 2 กลุ่มบริษัทคือ CAMA และATTAรวมแล้วทั้งสิ้นกว่า 550 ล้าน จึงชัดเจนว่ายิ่งขยายเวลาไปเท่าใดก็จะต้องเสียเงินภาษีของประชาชนเพิ่มมากขึ้นเท่านั้น ซึ่งคณะกรรมการตรวจการจ้างฯจะมีการประชุมพิจารณาขยายเวลาก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ในวันจันทร์นี้ เวลา 09.00 น.และประชุมต่อเนื่อง 3 วันรวดจนหมดพ.ศ.2563
นายวัชระ ยังได้เปิดเผยถึงข้อมูลของกลุ่มบริษัทที่ควบคุมงานก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่หรือ ATTA ประกอบด้วย บริษัท อรุณ ชัยเสรี คอนซัลติ้ง เอนจิเนียร์ส จำกัด นายปิยวัชร ชัยเสรี ผู้มีอำนาจได้มอบอำนาจให้นายพินัส เลิศเลื่อมใส เป็นผู้มีอำนาจลงนาม บริษัท เทสโก้ จำกัด มีนายธรรมนูญ มงคล เป็นผู้มีอำนาจลงนาม บริษัท สถาปนิกหนึ่งร้อยสิบ จำกัด นายมนต์ชัย คงประยูร มอบอำนาจให้นายพินัส เลิศเลื่อมใส เป็นผู้มีอำนาจลงนาม และบริษัท ไทยเอนยิเนียริ่ง คอนซัลแตนทส์ จำกัด มีนายพงษ์ศักดิ์ เดชอุดม เป็นผู้มีอำนาจลงนาม ส่วนบริษัทที่ปรึกษาโครงการหรือ CAMA ประกอบด้วย บริษัท ซีอีแอล เอ็นจิเนียส์ จำกัด มีนายจาตุรันต์ ศิรพงศ์พันธุ์ เป็นผู้มีอำนาจลงนาม บริษัท เอทีที คอนซัลเตนท์ จำกัด มีนายวีระพล ทองอุไทยและนายวิรัช องค์ประเสริฐ เป็นผู้มีอำนาจลงนามมอบอำนาจให้นายอานนท์ กุลฤดีฤทธา เป็นผู้มีอำนาจลงนาม และบริษัท สถาปนิก 49 จำกัด มีนายนิธิ สถาปิตานนท์ เป็นผู้มีอำนาจลงนามมอบอำนาจให้นายประภากร วทานยกุลเป็นผู้มีอำนาจลงนาม และบริษัท มิตรเทคนิคคอนซัลแท้นท์ จำกัด มีนายหริส สูตะบุตรและนายสุรวัฒน์ คงสิริ เป็นผู้มีอำนาจลงนามซึ่งมอบอำนาจให้นายนิรุทธ เหมศาสตร์ เป็นผู้มีอำนาจลงนามแทน
ในเรื่องการขอขยายเวลาก่อสร้างครั้งที่ 5 โดยมิชอบนั้น นายวัชระได้ติดตามอย่างใกล้ชิดและยืนยันว่าจะยื่นเรื่องร้องเรียนต่อป.ป.ช.ทันทีไม่ว่าข้าราชการระดับใดหรือบริษัทเอกชนที่ร่วมมือด้วยซึ่งมีโทษตามกฎหมายป.ป.ช.ที่รุนแรงมากขึ้นทั้งจำคุก ปรับ ริบทรัพย์สินไม่ว่าข้าราชการหรือกรรมการบริษัทเอกชนก็ตาม และสำคัญที่สุดคือเมื่อนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎรได้พูดย้ำกับสื่อมวลชนไว้ถึง3ครั้งว่า ไม่ขยายเวลาการก่อสร้างอีก รวมทั้งสำนักกฎหมายและกลุ่มบริษัทผู้ควบคุมงาน ATTA ทุกองค์กรต่างไม่เห็นชอบกับการขยายเวลาครั้งที่ 5 ด้วย ข้าราชการผู้ใต้บังคับบัญชานายชวน หากกล้าสวนก็ต้องกล้าไปให้การต่อป.ป.ช.ในอนาคต และเรื่องต้องจบที่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางอย่างแน่นอน การที่ใครจะรับปากรับคำให้สัญญาว่าเคลียร์ป.ป.ช.ได้หมด ก็ให้ดูกรณีนายวิโรจน์ นวลแข ประธานบอร์ดกรุงไทยหรือกรณีสินบนโรงไฟฟ้าขนอมเป็นตัวอย่างสอนใจ เว้นแต่ว่าไม่เป็นข้าราชการที่ดีเท่านั้น