(24ธ.ค.63)จากกรณีที่นายวัชระ เพชรทอง อดีตส.ส.ประชาธิปัตย์ได้ยื่นหนังสือคัดค้านการขยายเวลาก่อสร้างอาคารรัฐสภาครั้งที่ 5 ต่อนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 21 ธ.ค.ที่ผ่านมาและนายชวนได้ส่งหนังสือต่อให้นายสาธิต ประเสริฐศักดิ์ ประธานกรรมการตรวจการจ้างและกรรมการทุกคนได้พิจารณาแล้วนั้น
ล่าสุด นายสุทธิพล พัชรนฤมล ผอ.โครงการบริษัท ซิโน-ไทย เอนจิเนียริ่ง แอนด์คอนสตรัคชั่น จก.(มหาชน) ได้ทำหนังสือร้องเรียนลงวันที่ 23 ธ.ค.63 ต่อนายสาธิตตอบโต้การร้องเรียนของนายวัชระ โดยระบุว่า นายวัชระไม่มีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาขยายเวลาการก่อสร้างของบริษัท และหนังสือร้องเรียนของนายวัชระก็ไม่สามารถนำมาประกอบการพิจารณาได้ อีกทั้งข้อสรุปของนายวัชระก็ไม่สามารถนำมาใช้คัดค้านได้เช่นกัน เพราะเหตุแห่งการขยายเวลาไม่ได้เกิดจากความผิดของบริษัท อีกทั้งหนังสือร้องเรียนของนายวัชระยังมีลักษณะเชิงบังคับว่า หากมีการขยายเวลาก็จะส่งเรื่องให้ป.ป.ช.ดำเนินการ หรืออีกนัยหนึ่งคือการขยายเวลาเป็นการเหมารวมว่าทุจริตต่อหน้าที่ ทั้งที่ต้องพิจารณาว่ามีเหตุแห่งการขอขยายเวลาได้ตามสัญญาหรือไม่ และเป็นความผิดของผู้รับจ้างหรือไม่ จึงเห็นว่าการร้องเรียนของนายวัชระเป็นการแทรกแซงจากภายนอกเป็นเรื่องทางการเมืองกดดันคณะกรรมการตรวจการจ้าง จึงอยากให้กรรมการได้พิจารณาจากเหตุแห่งการขอขยายเวลาอย่างถูกต้องและเป็นธรรมด้วย
ด้านนายวัชระ ได้ออกมาตอบโต้ในเรื่องนี้ทันทีว่า นายสาธิตได้พิจารณาวาระหนังสือคัดค้านการขยายเวลาก่อสร้างอาคารรัฐสภาครั้งที่ 5 ตามที่นายชวน หลีกภัย ประธานสภาฯส่งไปแล้ว จะไปลบทิ้งหรือลบเทปการประชุมได้อย่างไร นี่คือยุคนายชวน หลีกภัย มิใช่ยุคคสช.ตนยื่นหนังสือในฐานะประชาชนผู้เสียภาษีมิใช่เรื่องการเมืองแต่อย่างใด และยื่นคัดค้านมาตั้งแต่การขยายเวลาครั้ง 4 แต่เลขาธิการสภาฯในขณะนั้น ไม่ได้ให้มีการพิจารณาแบบประชาธิปไตยเช่นนี้ กลับรวบอำนาจพิจารณาอนุมัติแต่เพียงผู้เดียวเหมือนเช่นการอนุมัติให้ขยายเวลาตั้งแต่ครั้งที่1- 4 เป็นผลงานของนายสรศักดิ์ เพียรเวช อดีตเลขาฯสภาล้วนๆ แม้กลุ่มบริษัทATTAไม่เห็นชอบการขยายเวลาครั้งที่ 4 จำนวน 382 วันก็ไม่ฟัง นี่คือประโยชน์ของการมีสภาที่มาจากการเลือกตั้งและมีประมุขฝ่ายนิติบัญญัติที่ใจซื่อมือสะอาด ซื่อสัตย์ มืออาชีพ เมื่อนายสุทธิพล ตัวแทนบริษัทซิโนฯส่งหนังสือมา นายสาธิตก็ต้องให้ความเป็นธรรมบรรจุเรื่องเป็นวาระพิจารณาต่อไป
นายวัชระ ย้ำว่า ตนมีสิทธิยื่นหนังสือคัดค้านในฐานะประชาชนผู้เสียภาษีและปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญฉบับปราบโกง พ.ศ 2560 มาตรา 63 และมาตรา 78 ใครกันแน่ที่ใช้อิทธิพลทางการเมืองเอางานหรือโครงการสัมปทานจากรัฐ มีบริษัทไหนในประเทศนี้ที่ได้รับการขยายสัญญาและขอเงินเพิ่มไม่หยุดหย่อน มีความละอายบ้างหรือไม่
นี่คือการสร้างรัฐสภาของประเทศ แต่ทำไมมันเน่าเหม็นฉาวโฉ่ขนาดนี้ สำนักกฎหมาย สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรทำหนังสือถึงนายสาธิตยืนยันแล้วว่าบริษัทใช้สิทธิไม่สุจริตและไม่ก่อประโยชน์กับทางราชการ หากกรรมการตรวจการจ้างไปเชื่อพ่อค้าเอกชนให้ขยายสัญญาอีกเป็นครั้งที่ 5 ป.ป.ช.อาจตั้งเรื่องรอรับอยู่แล้วก็เป็นได้
ก็แล้วแต่เวรกรรมของแต่ละคน บางคนอาจกระหยิ่มว่าตนอยู่เหนือกฎหมาย แต่ไม่มีใครอยู่เหนือกฎแห่งกรรมได้ พระสยามเทวาธิราชมีจริง คนทุจริตไม่อาจหลอกประชาชนได้
ส่วนเรื่องที่บริษัทซิโนฯอ้างว่าหนังสือร้องเรียนของนายวัชระเป็นเชิงบังคับกดดันนั้น นายวัชระ ชี้แจงว่า ตนเป็นแค่ประชาชนธรรมดาไม่มีสิทธิ์ไปบังคับกรรมการตรวจการจ้างได้ หนังสือที่ส่งถึงผู้รับผิดชอบก็เพียงต้องการบอกอย่างตรงไปตรงมากับกรรมการล่วงหน้าว่าอะไรจะเกิดขึ้น ถ้าได้อนุมัติ เพราะประธานตรวจการจ้างก็ย่อมรู้กฎหมายดี เมื่อสำนักกฎหมายของสภาไม่เห็นชอบการขยายเวลาและกลุ่มบริษัทATTAซึ่งเป็นผู้ควบคุมงานไม่เห็นชอบการขยายเวลามาตั้งแต่ครั้งที่ 4 แล้ว กอปรกับมีการขยายเวลาซ้ำซากนานถึง 1,864 วัน จะขอขยายอีกเป็นครั้งที่ 5 จำนวน 133 วันและยังมีคดีฟ้องสภาเรียกค่าเสียหายอีกถึง 1,600 ล้านบาท หากกรรมการตรวจการจ้างมีมติให้ขยาย เท่ากับสภาเป็นฝ่ายผิด ทางบริษัทก็นำไปเป็นหลักฐานในศาลปกครองได้อีก สภาก็เสียค่าโง่ซ้ำซาก หากได้ใช้หลักวิญญูชนพิจารณาง่ายๆก็ตัดสินใจได้แล้วว่าอะไรคือถูก อะไรคือผิด และหากตัดสินใจผิดก็เป็นเรื่องที่ช่วยไม่ได้ ตัวอย่างมีให้เห็นๆที่อดีตอธิบดี อดีตรัฐมนตรีติดคุกล้วนเกิดจากความเกรงใจหรือสมยอมหรืออาจถูกบังคับเพื่อแลกกับตำแหน่งหรือผลประโยชน์ต่างๆ ดังนั้น ข้าราชการต้องตัดสินใจให้ดี เพราะไม่มีใครมาติดคุกแทนได้