(21ธ.ค.63) เมื่อเวลา13.45น.นายวัชระ เพชรทอง อดีตส.ส.ประชาธิปัตย์ ยื่นหนังสือผ่านเจ้าหน้าที่สารบรรณสภาฯขอคัดค้านการขยายเวลาก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ครั้งที่ 5 อีกครั้งหนึ่งต่อนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งก่อนหน้านี้เคยยื่นมาแล้วเมื่อวันที่ 14 ธันวาคมที่ผ่านมา ขณะเดียวกันยังได้ยื่นหนังสือกับนายสาธิต ประเสริฐศักดิ์ ประธานคณะกรรมการตรวจการจ้างฯและกรรมการทุกคน รวมทั้งนางพรพิศ เพชรเจริญ เลขาธิการสภาผู้แทนด้วย
จากนั้น นายวัชระ ได้แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนว่า การขยายสัญญาก่อสร้างครั้งที่ 4 เป็นเวลา 382 วันที่อนุมัติโดย นายสรศักดิ์ เพียรเวช เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ขณะที่นายชวนเป็นประธาน นายสรศักดิ์ไม่ได้สนใจฟังข้อท้วงติงด้านกฎหมายจากกลุ่มงานพัสดุ สำนักการคลังสภาผู้แทนราษฎร ที่ให้ขอความเห็นจากสำนักกฎหมาย สำนักงานเลขาธิการสภาก่อนอนุมัติ แต่กลับเดินหน้าให้ขยายระยะเวลาตั้งแต่ครั้งที่ 1-4 นานถึง 1,864 วัน โดยเฉพาะการขยายเวลาครั้งที่ 4 ตนได้ยื่นหนังสือคัดค้านไปถึงนายสรศักดิ์ แต่ก็ไม่ได้รับฟังเช่นกัน ทั้งนี้กลุ่มบริษัท ATTA ผู้ควบคุมงานก็ไม่ได้เห็นชอบการขยายเวลาครั้งที่ 4 แต่อย่างใด
ทั้งนี้ นายวัชระ ได้ยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)ให้สอบสวนกรณีนี้และกรณีเกี่ยวเนื่องแล้วเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2563 บัดนี้การขยายเวลาก่อสร้างครั้งที่ 4 เป็นเวลา 382 วัน กำลังจะสิ้นสุดลงในวันที่ 31 ธันวาคม 2563 นี้ คือเหลือเวลาอีกเพียง 10 วัน เท่านั้น ปรากฏว่า นายจักรพันธ์ จันทรเจริญ ผู้อำนวยการสำนักกฎหมาย สำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ได้ทำหนังสือที่ สพ.0015/124 ลงวันที่ 15 ธันวาคม 2563 ถึงประธานกรรมการตรวจการจ้างโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ ซึ่งตนได้อ่านและขอสรุปความเห็นของสำนักกฎหมายได้ว่า
ข้อกล่าวอ้างของบริษัทฯ ผู้รับเหมา “ไม่มีความสมเหตุสมผลและไม่เกิดประโยชน์แก่ทางราชการ หากพิจารณาอนุมัติให้ขยายระยะเวลาการดำเนินการตามสัญญาที่กล่าวอ้าง ด้วยเหตุผลคือ
1.บริษัทผู้รับเหมาไม่เคยมีการกล่าวอ้างถึงปัญหาดังกล่าว (เหตุล่าช้าในการจัดหาผู้รับจ้างอื่น) แต่อย่างใด จึงอาจแสดงให้เห็นถึงเจตนาไม่สุจริตของผู้รับจ้าง
2.งานของผู้รับเหมายังดำเนินการไม่แล้วเสร็จเป็นงานส่วนภูมิสถาปัตยกรรม ดังนั้น เหตุที่ผู้รับจ้างกล่าวอ้างเพื่อขอขยายระยะเวลา กรณีนี้จึงอาจไม่มีส่วนสัมพันธ์ และมีผลกระทบโดยตรงกับงานตามสัญญา อันเป็นเหตุให้ผู้รับจ้างไม่สามารถส่งมอบงานได้ตามระยะเวลาที่กำหนดในสัญญา
3.สัญญาจ้างก่อสร้างฯ อ้างเหตุจากการดำเนินการตามสัญญาของสัญญาอีกฉบับหนึ่ง ซึ่งมีผู้รับจ้างเป็นบริษัทฯ (ซิโน) เดียวกันกับผู้รับจ้าง (ซิโน) เพื่อเรียกร้องประโยชน์ทางหนึ่งทางใดจากสำนักงานฯ ผู้ว่าจ้าง ซึ่งเป็นคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่ง ย่อมเป็นการไม่เหมาะสมและใช้สิทธิไม่สุจริต
4.ขณะนี้บริษัทผู้รับเหมายื่นฟ้องสำนักงานฯ เป็นคดีปกครองหมายเลขดำที่ 961/2563 ขอให้ชำระหนี้เป็นเงิน 1,596,592,305.46 บาท พร้อมดอกเบี้ย 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว จากมูลกรณีโครงการนี้ จึงมีข้อควรพิจารณาว่า กรณีนี้ยังมีข้อพิพาทในประเด็นเกี่ยวกับการปฏิบัติผิดสัญญากันอยู่ สำนักงานฯ สมควรพิจารณาอนุมัติให้ขยายระยะเวลาการปฏิบัติตามสัญญาหรือไม่ เนื่องจากอาจส่งผลต่อรูปคดีได้
ดังนั้นจึงสรุปได้จากเหตุผลข้างต้นว่า ข้อกล่าวอ้างของบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ตามหนังสือเลขที่ SINO-THAI/J.2436/L-1178/RO ลงวันที่ 24 พฤศจิกายน 2563 กรณีนี้ อาจไม่มีความสมเหตุสมผลเพียงพอ และไม่ก่อให้เกิดประโยชน์แก่ทางราชการ” อนึ่ง จากกรณีค่างานเพิ่ม , ค่าจ้างบริษัทผู้ออกแบบ ICT , บริษัทที่ปรึกษาการก่อสร้าง , บริษัทผู้ควบคุมงานการก่อสร้างเพิ่มตามสัญญาที่ขอขยายและอื่นๆ จากเดิมงบประมาณจัดซื้อจัดจ้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ 12,280 ล้านบาท ทราบว่าสภาฯ มีขอเงินเพิ่มในงบประมาณต่างๆ เป็นจำนวนเกือบ 2 หมื่นล้านบาทแล้ว และบริษัทฯ ยังมีการขออนุมัติจ่ายเงินค่าเร่งรัดการก่อสร้างห้องประชุมสุริยัน-จันทราอีก 215 ล้านบาท ซึ่งไม่ทราบว่ามีการอนุมัติจ่ายแล้วหรือไม่? จึงอยากทราบงบประมาณทั้งหมดในการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ในขณะนี้ว่ามีทั้งสิ้นเท่าใด
โดยนายวัชระ ได้กล่าวย้ำว่า มีความภูมิใจที่นายชวนมีนโยบายไม่ต่อสัญญาขยายระยะเวลาก่อสร้างรัฐสภาแห่งใหม่อย่างชัดเจน แต่หากมีการขยายสัญญาครั้งที่ 5 ก็จะไปยื่นหนังสือคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตามหลักการที่นายชวนเคยสอนว่า “ไม่เกรงใจคนทุจริต” ต่อไป