สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) โดยโครงการสนับสนุนการถ่ายทอดเทคโนโลยีและการเรียนรู้การปลูกไม้ผล และอุทยานหลวงราชพฤกษ์ จัดกิจกรรม “การถ่ายทอดเทคโนโลยี และแลกเปลี่ยนเรียนรู้การปลูกองุ่น” เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2563 ณ อุทยานหลวงราชพฤกษ์ จ.เชียงใหม่ โดยการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เทคนิคและวิธีการปลูกองุ่นในระบบใหม่จากการวิจัยและพัฒนาของโครงการหลวง และสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง ซึ่งจะช่วยให้ได้ผลผลิตสูง คุณภาพดี สะดวกต่อการจัดการลดการใช้สารเคมีและความเสี่ยงด้านการตลาด
นายวิรัตน์ ปราบทุกข์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (สวพส.) กล่าวว่า องุ่นเป็นไม้ผลทางเลือกที่สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูงส่งเสริมให้เกษตรกรบนพื้นที่สูงปลูกเป็นอาชีพ เพราะเป็นพืชที่ให้ผลตอบแทนต่อพื้นที่สูง สามารถทดแทนพืชที่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เช่น ข้าวโพด เป็นต้น นอกจากนี้ยังเป็นไม้ผลที่มีศักยภาพทางการตลาดเนื่องจากราคาและความต้องการของตลาดมีสูง และสามารถใช้เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางการเกษตรได้อีกด้วย
ระบบการปลูกองุ่นแบบโครงการหลวงได้พัฒนาขึ้นใหม่จากผลการวิจัยเรื่อง “การศึกษาและพัฒนาระบบการจัดทรงต้นและตัดแต่งกิ่งองุ่น” โดยศึกษาปัญหาที่เกิดจากการปลูกองุ่นในระบบเดิม โดยวิธีการสำคัญที่พัฒนาขึ้นใหม่ ได้แก่ วิธีการผลิตต้นกล้า ระยะปลูก รูปแบบการจัดทรงต้น วิธีการสร้างกิ่ง ระบบการตัดแต่งกิ่ง วิธีการส่งเสริมการสร้างตาดอก และการปฏิบัติดูแลรักษาที่เหมาะสมกับนิสัยการเจริญเติบโตขององุ่นและสภาพแวดล้อม เป็นระบบที่มีการจัดวางกิ่งอย่างเป็นระบบระเบียบเพื่อสร้างกิ่งที่จะให้ผลผลิตที่มีจำนวน ความสมบูรณ์และตำแหน่งของกิ่งได้ตามที่ต้องการ ทำให้ต้นองุ่นให้ผลผลิตสูง มีคุณภาพ สม่ำเสมอและยาวนาน นอกจากนี้ ยังง่ายต่อการจัดการโรคและแมลง โดยมีรูปแบบการจัดทรงต้น และระยะปลูก 3 แบบ คือ ทรงต้นแบบตัว T ระยะปลูก 6×3 เมตร แบบตัว H ระยะปลูก 6×3 เมตร และแบบตัว T ระยะปลูก 6×1.5 เมตร ซึ่งสามารถให้ผลผลิต 70-100 กิโลกรัมต่อต้นต่อปี
สำหรับองุ่นไชน์ มัสแคท ถูกปรับปรุงพันธุ์ขึ้นในปีพ.ศ. 2531 ที่สถานีวิจัยองุ่นและพลับอะกิซึ จังหวัดฮิโรชิม่า ประเทศญี่ปุ่น และขึ้นทะเบียนพันธุ์ในปีพ.ศ. 2549 เป็นลูกผสมระหว่างองุ่นพันธุ์ Akitsu21 x Hakunan ลักษณะผลกลมขนาดใหญ่ มีเมล็ด ผิวผลสีเขียวอมเหลือง ไม่แตกง่าย เนื้อแน่น หวาน กรอบ ไม่ฝาด มีกลิ่นมัสแคท ทนต่อโรคผลเน่าและราน้ำค้างได้ในระดับปานกลาง แต่อ่อนแอต่อโรคแอนแทรคโนส ทนต่อความหนาวเย็น
วิธีการทำให้ไม่มีเมล็ดโดยในระยะหลังดอกบานเต็มที่ 1-3 วัน จุ่มช่อดอกลงในสารละลายที่มีสเตรปโตมัยซิน ความเข้มข้น 200 ppm (AGREPT 1 มิลลิลิตร) ร่วมกับจิบเบอเรลลิค แอซิด ความเข้มข้น 25 ppm (นันโต จิปเปอร์ 0.8 กรัม) และ CPPU ความเข้มข้น 5 ppm (Fulmet 5 มิลลิตร) ผสมกันในน้ำ 1 ลิตร
ในการผลิตองุ่นแบบประณีต ให้ผลผลิตมีคุณภาพสูง ภายใต้ระบบการปลูกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ใช้ต้นทุนการผลิตในการทำโรงเรือนและค้างต่ำกว่าโรงเรือนขนาดมาตรฐานทั่วไป อีกทั้งยังสามารถลดผลกระทบที่มีต่อผลผลิตองุ่นจากความแปรปรวนของสภาพอากาศได้อีกด้วย
อ่านเพิ่มเติมที่ : https://www.hrdi.or.th/Activities/detail/332