อดีตนายกฯ “ยิ่งลักษณ์-สมชาย” ควงคู่ทำบุญที่วัดพระธาตุหริภุญชัยวรมหาวิหาร ด้าน “ยิ่งลักษณ์” ถือโอกาสถวายของดำ 8 อย่าง เพื่อสะเดาะเคราะห์
เมื่อวันที่ 15 กันยายน ที่ผ่านมา น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี พร้อมนางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ และคณะ เดินทางมาทำบุญสลากภัตที่วัดพระธาตุหริภุญชัยวรมหาวิหาร อ.เมือง จ.ลำพูน โดยมีนายสงวน พงษ์มณี และนายรังสรรค์ มณีรัตน์ อดีต ส.ส.ลำพูน พร้อมประชาชนมารอต้อนรับ เมื่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์เดินทางมาถึงได้เข้าพบพระเดชพระคุณพระเทพรัตนนายก เจ้าคณะจังหวัดลำพูน พูดคุยถึงการทำบุญและการจะจัดกิจกรรมประเพณีสลากภัตของ จ.ลำพูน จากนั้นคณะของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้ไปทำบุญและถวายต้นสลากภัตรวมทั้งพบปะกับประชาชนและนักเรียนที่มาทำบุญ โดยมีแฟนคลับมารอถ่ายรูปเป็นจำนวนมากเกือบ 1,000 คน
นอกจากนี้ ยังมีอดีต ส.ส.ลำพูน และอดีต ส.ส.เชียงใหม่ ติดตามมาร่วมพิธีด้วย โดยนางสาวยิ่งลักษณ์ได้กราบพระในวิหารหลวงของวัดพระธาตุหริภุญชัยและร่วมทำบุญอีกด้วย ขณะเดียวกันได้มีแฟนคลับได้มาขอถ่ายรูปเพื่อเก็บเป็นที่ระลึก ด้วย จนเจ้าหน้าที่ต้องกันผู้คนให้ออกไปเนื่องจากบรรยากาศร้อนอบอ้าว
ผู้สื่อข่าวรายงาน ว่า หลังจากที่ได้ร่วมทำบุญในวัดพระธาตุหริภุญชัยวรมหาวิหารเสร็จแล้ว อดีตนายกฯทั้ง 2 คน ได้เข้ากราบสักการะ อนุสาวรีย์เจ้าแม่จามเทวี ที่ข้างศาลากลางจังหวัดลำพูนด้วย และในเย็นวันเดียวกัน จะได้ร่วมชมพิธี ขบวนแห่สลากย้อมซึ่งเป็นประเพณีที่สำคัญอีกประเพณีหนึ่งของทางภาคเหนือ
สำหรับประเพณีสลากย้อม ที่วัดพระธาตุหริภุญชัยวรมหาวิหาร มีพิธีเปิดงานในเวลา 17.00 น. และงานมีถึงวันนี้ 16 ก.ย.เพียง 2 วัน ประวัติงานประเพณีสลากย้อมของจังหวัดลำพูน คือ งานประเพณีที่สืบทอดกันมา นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547 เป็นต้นมา ได้มีการนำประเพณี “สลากย้อม” ที่เริ่มสูญหายมาผนวกรวม เป็นประเพณี “สลากภัตและสลากย้อม” ที่ดำเนินการจัดควบคู่กันไป ประเพณีนี้นอกจากเป็นการถวายทานตามคติความเชื่อของงานสลากภัตแล้ว ยังเป็นการรวมต้นสลากย้อมจากหลากหลายชุมชนมา ถวายและจัดงานที่วัดพระธาตุหริภุญชัยวรมหาวิหาร ศูนย์รวมจิตใจของชาวลำพูนก่อนเป็นลำดับแรกของทุกๆปี นับตั้งแต่ปี 47 เป็นต้นมา
หลังจากนั้น จึงจะมีการจัดงานของสลากวัดอื่นๆ เรื่อยไปตามการตกลงกันในแต่ละปีว่าวัดใดจะเป็นเจ้าภาพจัดงาน จนถึงวันแรม14 ค่ำ เดือน 11 (เดือนเกี๋ยงเหนือ แรม 14 ค่ำ หรือ เดือนเกี๋ยงดับ) สลากย้อม เป็นประเพณีที่มีพื้นเพมาจาก “ชาวยอง” กลุ่มชาติพันธุ์ลื้อจากสิบสองปันนา ก่อนจะอพยพมาอยู่ที่เมืองยองในพม่า และย้ายมาตั้งหลักแหล่งถิ่นฐานอยู่ในจังหวัดลำพูนอีกทีหนึ่งเมื่อ 200 กว่าปีที่แล้ว ปัจจุบันมีชาวยองอาศัยอยู่ในลำพูนกว่า 80% เดิมสลากย้อมเป็นการถวายทานเพื่อเป็นพุทธบูชาของหญิงสาว บางพื้นที่จำเพาะเจาะจงว่าต้องมีอายุ 20 ปีเท่านั้น ขณะที่บางพื้นที่ไม่จำเป็น ขอให้เป็นช่วงคาบเกี่ยวกับอายุ 20 ปี (บวกลบ 2-3 ปี) แต่สิ่งที่เชื่อเหมือนกันก็คือ ต้องเป็นหญิงสาวที่ไม่แต่งงาน โดยเชื่อว่า การถวายสลากย้อมของหญิงสาวจะได้รับอานิสงส์ผลบุญอย่างสูงยิ่งเทียบเท่ากับการบวชของผู้ชาย