กรมชลประทานวางแผนงานคลองระบายน้ำหลากเจ้าพระยาฝั่งตะวันออก ซึ่งเป็น 1 ใน 9 แผนบรรเทาอุทกภัยจากความเห็นชอบของ กนช. พร้อมเดินหน้าโครงการคลองระบายน้ำหลากชัยนาท-ป่าสัก จังหวัดชัยนาท ชี้ดำเนินการสำรวจ ออกแบบเพิ่มเติม อยู่ในระยะที่ 2 ผ่าน 3 จังหวัด นครสวรรค์ ลพบุรี และสระบุรี ระบุแล้วเสร็จปี 2564
นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า หลายปีบ่อยครั้งพื้นที่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาประสบปัญหาอุทกภัย โดยเฉพาะเมื่อปี 2554 เห็นได้ชัดว่าปริมาณน้ำหลากมากกว่าศักยภาพการระบายน้ำที่มีอยู่ ซึ่งปริมาณน้ำส่วนใหญ่ในแม่น้ำเจ้าพระยาจะไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาไปยังด้านท้ายน้ำ ความสามารถในการระบายน้ำของเขื่อนเจ้าพระยา รวมกับการระบายผ่านคลองชลประทานฝั่งตะวันออก และฝั่งตะวันตกบริเวณเหนือเขื่อนสามารถระบายน้ำได้รวมประมาณ 3,425 ลบ.ม./วินาที ขณะที่ในปี 2554 ที่ผ่านมา บริเวณเหนือเขื่อนเจ้าพระยามีปริมาณน้ำประมาณ 5,000 ลบ.ม./วินาที ทำให้น้ำล้นตลิ่ง เกิดมูลค่าความเสียหายตามพื้นที่ต่างๆ สูงถึง 1.42 ล้านล้านบาท และยังกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนในภาคธุรกิจ
ฉะนั้นในปี 2555 จึงมีโครงการศึกษาเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวเพื่อระบายน้ำให้ไหลลงทะเลอย่างมีประสิทธิภาพ ต่อมาปี 2560 กรมชลประทานได้จัดทำแผนบรรเทาอุทกภัยทั้งหมด 9 แผนงาน โดยมีมติเห็นชอบจากคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2563 ที่ผ่านมา ซึ่งโครงการคลองระบายน้ำหลากเจ้าพระยาฝั่งตะวันออก เป็นแผนงานลำดับที่ 2 จาก 1 ใน 9 แผนงาน ซึ่งเพื่อที่จะช่วยระบายน้ำหลากหน้าเขื่อนเจ้าพระยาลงสู่อ่าวไทยจากเดิมเป็น 930 ลบ.ม/วินาที สามารถช่วยบรรเทาปริมาณน้ำหลากพื้นที่ท้ายเขื่อนเจ้าพระยาได้
แผนงานลำดับที่ 2 นี้คือ แผนงานคลองระบายน้ำหลากเจ้าพระยาฝั่งตะวันออก ประกอบไปด้วย โครงการคลองระบายน้ำหลากชัยนาท–ป่าสัก จังหวัดชัยนาท และ โครงการคลองระบายน้ำหลากป่าสัก–อ่าวไทย ในปี 2562 ได้ดำเนินการสำรวจออกแบบรายละเอียดโครงการคลองระบายน้ำหลากชัยนาท-ป่าสัก ในระยะที่ 1 เสร็จสิ้นแล้ว จากประตูระบายน้ำมโนรมย์ จังหวัดชัยนาท ถึงประตูระบายน้ำช่องแค จังหวัดนครสวรรค์ รวมระยะทาง 46.5 กิโลเมตร
โดยจะเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำหลากหน้าเขื่อนเจ้าพระยาจากเดิม 130 ลบ.ม/วินาที ให้เป็น 930 ลบ.ม./วินาที การออกแบบประกอบไปด้วย 1.คลองส่งน้ำอนุศาสนนันท์ พร้อมอาคารประกอบ มีอาคารบังคับน้ำกลางคลอง 1 แห่ง (ปตร.โคกกะเทียม) และอาคารระบายน้ำปลายคลอง 1 แห่ง (ปตร.เริงราง) 2.คลองระบายชัยนาท-ป่าสัก พร้อมอาคารประกอบ มีอาคารบังคับน้ำกลางคลอง 3 แห่ง และอาคารระบายน้ำปลายคลอง 1 แห่ง
“ในปี 2563 นี้โครงการดังกล่าวอยู่ระหว่างดำเนินงานต่อในระยะที่ 2 แล้ว กรมชลประทานได้ว่าจ้างกิจการร่วมค้า FWTG JV ซึ่งประกอบด้วย บริษัท ฟรอนเทียร์ เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแทนท์ส จำกัด บริษัท วิศวชาญ 2002 จำกัด และบริษัท ธูว์ บราเดอร์ พาทเนอร์ จำกัด ให้สำรวจออกแบบโครงการคลองระบายน้ำหลากชัยนาท-ป่าสักจังหวัดชัยนาท (เพิ่มเติม) ผ่านพื้นที่ 3 จังหวัด เริ่มตั้งแต่ประตูระบายน้ำช่องแค อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ ผ่านจังหวัดลพบุรี จนถึงแม่น้ำป่าสักที่ตำบลเริงราง อำเภอเสาไห้ จังหวัดสระบุรี รวมระยะทางประมาณ 88 กิโลเมตร”
ทั้งนี้ แผนการดำเนินงานของโครงการมีกำหนดแล้วเสร็จภายใน 540 วัน นับจากวันเริ่มปฏิบัติงาน โดยเซ็นสัญญาแล้วเมื่อ วันที่ 15 พฤษภาคม 2563 เริ่มปฏิบัติงาน วันที่ 21 พฤษภาคม 2563 และสิ้นสุดการปฏิบัติงาน วันที่ 11 พฤศจิกายน 2564 แบ่งเป็น 2 งานหลักคือ งานสำรวจออกแบบรายละเอียดโครงการ และงานประชาสัมพันธ์ โดยการมีส่วนร่วมของประชาชน เบื้องต้นเมื่อ วันที่ 28 สิงหาคม 2563 ที่ผ่านมา ได้มีการจัดประชุมปฐมนิเทศโครงการในจังหวัดลพบุรี เพื่อฟังความคิดเห็นของประชาชนที่เข้าร่วมกว่า 151 คนแล้ว
สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน