ผู้เชี่ยวชาญด้านวัณโรคชี้ว่ามีคนทั่วโลกราว 10 ล้านคน ป่วยด้วยวัณโรคกันทุกปี และอย่างน้อย 2 ล้านคนจากผู้ป่วยทั้งหมดนี้เสียชีวิต
แม้จะมีวิธีบำบัดวัณโรคด้วยยาปฏิชีวนะ ผู้ป่วยส่วนมากมักได้รับการรักษาที่ล่าช้า เพราะวิธีการตรวจวินิจฉัยวัณโรคที่ใช้กันในปํจจุบันใช้เวลานานหลายสัปดาห์กว่าจะได้ผล
ในการตรวจวินิจฉัยในปัจจุบัน ตัวอย่างเสมหะของคนที่สงสัยว่าติดเชื้อวัณโรคจะถูกนำไปเพาะเชื้อเสียก่อน เชื้อเเบคทีเรียที่เป็นต้นเหตุของวัณโรคจะค่อยๆ เติบโตอย่างช้าๆ และผู้ป่วยต้องเสียเวลารอผลการตรวจ ผู้ป่วยในชนบทห่างไกลมักไม่กลับไปรับผลการตรวจเนื่องจากถนนหนทางที่ทุรกันดาร
นอกจากนี้ ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่าการตรวจด้วยการส่องดูตัวอย่างเสมหะผ่านทางกล้องจุลทรรศน์ ไม่สามารถให้ผลการตรวจที่เเม่นยำได้ เพราะการระบุชัดเจนว่ามีเชื้อเเบคทีเรียในตัวอย่างเสมหะที่ปนเปื้อนด้วยสิ่งสกปรกอื่นๆ ทำได้ยากมาก
แต่การตรวจหาวัณโรควิธีใหม่ที่กำลังอยู่ระหว่างการทดลองนี้ มีศักยภาพที่จะช่วยให้เจ้าหน้าที่เทคนิคได้ผลการตรวจเชื้อภายในหนึ่งชั่วโมง ช่วยให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที ไม่ล่าช้าอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
คุณ Carolyn Bertozzi นักชีวเคมีที่มหาวิทยาลัย Standford University ในรัฐ California ช่วยพัฒนาวิธีการตรวจหาเชื้อวัณโรคที่รวดเร็วนี้ ซึ่งเธอชี้ว่า ช่วยลดปัญหาที่เกิดขึ้นกับการตรวจหาวัณโรคที่กำลังประสบกันในปัจจุบันในประเทศกำลังพัฒนา
คุณ Bertozzi กล่าวว่า การตรวจหาเชื้อวัณโรคที่ใช้เวลานานและไม่เเม่นยำ ถือเป็นปัญหาใหญ่ทางสาธารณสุข
การตรวจหาเชื้อวัณโรคแบบใหม่นี้ใช้โมเลกุลของน้ำตาลที่พบในผนังของเซลล์ของเชื้อเเบคทีเรีย ทีมนักวิจัยได้ใช้สีย้อมแบบสะท้อนเเสงเป็นเครื่องหมายลงบนตัวโมเลกุลน้ำตาลที่ถูกตกเเต่งเเล้ว ซึ่งโมเลกุลน้ำตาลพิเศษนี้จะเข้าไปรวมอยู่ในผนังของเซลล์ของตัวเชื้อเเบคทีเรียวัณโรคที่มีชีวิต
และเมื่อเจ้าหน้าที่เทคนิคใช้กล้องจุลทรรศน์ส่องดูตัวอย่างของเชื้อเเบคทีเรีย จะมองเห็นว่าตัวเชื้อเเบคทีเรียที่ก่อให้เกิดวัณโรคที่มีชีวิตเรืองแสงสีเขียวออกมา ช่วยให้ได้ผลการตรวจที่เเม่นยำสูง
คุณ Bertozzi กล่าวว่า วิธีการตรวจนี้ยังสามารถใช้ในการตรวจดูตัวอย่างเสมหะได้ เพื่อดูว่าเชื้อวัณโรคในผู้ป่วยคนที่เข้ารับการบำบัดตอบสนองต่อยาปฏิชีวนะอย่างไร แม้ว่าจะยังต้องพัฒนากันต่อไป คุณ Bertozzi มองว่าการตรวจหาเชื้อวัณโรคที่ใช้โมเลกุลน้ำตาลสีเรืองเเสงนี้ เป็นวิธีการหนึ่งที่ช่วยยืนยันการตรวจวินิจฉัยที่ใช้กล้องส่องจุลทรรศน์ในการตรวจตัวเชื้อเเบคทีเรีย
คุณ Bertozzi กล่าวกับผู้สื่อข่าววีโอเอว่าตื่นเต้นมาก เพราะเป็นวิธีการตรวจอย่างง่ายๆ ไม่ต้องพึ่งเทคโนโลยีที่ทันสมัย แต่สามารถอุดช่องโหว่ทางเทคโนโลยีได้
ทีมนักวิจัยชี้ว่ากำลังนำวิธีการตรวจแบบใหม่นี้ไปทดลองภาคสนามในประเทศแอฟริกาใต้ตั้งเเต่เดือนมิถุนายนที่ผ่านมา