ที่โรงพยาบาลสตูล อำเภอเมือง จังหวัดสตูล สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี องค์นายกกิตติมศักดิ์ และองค์ประธานกรรมการมูลนิธิชัยพัฒนา ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทาน “เครื่องช่วยหายใจพระราชทาน” จำนวน 1 เครื่อง แก่โรงพยาบาลสตูล เพื่อช่วยเหลือโรงพยาบาลและบุคลากรทางการแพทย์ ในการรักษาผู้ป่วยติดเชื้อไวรัส COVID-19 โดยงบประมาณจากมูลนิธิชัยพัฒนา “กองทุนชัยพัฒนา สู้ภัยโควิด-19 และโรคระบาดต่างๆ” โดยนายเทอดศักดิ์ บุญยขจร รองเลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา ได้ทำพิธีส่งมอบเครื่องช่วยหายใจพระราชทานแก่โรงพยาบาลสตูล โดยมีนายศักระ กปิลกาญจน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล และแพทย์หญิงวันทนา ไทรงาม ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสตูล เป็นผู้แทนรับมอบอุปกรณ์ทางการแพทย์พระราชทานเบื้องหน้าบรมพระฉายาลักษณ์
จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา หรือโควิด-19 ในจังหวัดสตูลที่ผ่านมา ยังไม่มีรายงานผู้ติดเชื้อในพื้นที่ แต่มีการรับผู้ติดเชื้อจำนวน 18 ราย ซึ่งเป็นผู้ที่เดินทางกลับมาจากการชุมนุมทางศาสนาอิสลาม ณ ประเทศอินโดนีเซีย เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลสนาม และส่งต่อรักษาที่โรงพยาบาลสตูล จำนวน 5 ราย และทุกรายได้หายดีและกลับบ้านได้ นอกจากนี้ยังมีผู้ป่วยที่เข้าเกณฑ์เฝ้าระวังเข้ามารับการรักษาอย่างต่อเนื่อง โรงพยาบาลยังต้องเตรียมความพร้อมด้านบุคลากร ครุภัณฑ์ทางการแพทย์ และระบบบริการให้มีความพร้อมรองรับกรณีเกิดการแพร่ระบาดอีก ซึ่งครุภัณฑ์การแพทย์มีความจำเป็นอย่างมากในการรักษาผู้ป่วย ที่มีอาการของระบบทางเดินหายใจ คือเครื่องช่วยหายใจชนิดควบคุมปริมาณและแรงดัน ที่ทางโรงพยาบาลมีไม่เพียงพอ การได้รับพระราชทานเครื่องช่วยหายใจในครั้งนี้นำความปลาบปลื้มและยินดี ต่างสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ หลักจากนั้น นายเทอดศักดิ์ บุญยขจร รองเลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา ได้เดินทางไปยังโรงพยาบาลท่าแพ อำเภอท่าแพ จังหวัดสตูล เพื่อประกอบพิธีส่งมอบ “ระบบแลกเปลี่ยนอากาศแรงดันลบแบบสมบูรณ์” พระราชทานจาก สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อติดตั้งในห้องผู้ป่วย เพิ่มความปลอดภัยให้บุคลากรทางการแพทย์ โดยมีนายศักระ กปิลกาญจน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล และนายแพทย์พันธ์เชษฐ์ บุญช่วย ผู้อำนวยการโรงพยาบาลท่าแพ เป็นผู้รับมอบ ซึ่งระบบแลกเปลี่ยนอากาศแรงดันลบแบบสมบูรณ์ ได้ใช้หลักการนำอากาศสะอาดเติมเข้าสู่ห้องผู้ป่วยตลอดเวลา ทำให้อากาศในห้องที่มีเชื้อโรคถูกดูดออกจากห้องอย่างรวดเร็ว โดยไม่นำอากาศเดิมภายในห้องกลับมาใช้ซ้ำ สามารถรองรับการติดตั้งในหอผู้ป่วยรวม ที่มีตั้งแต่ 3-9 เตียงต่อห้อง นอกจากนี้ หากสถานการณ์โรคโควิด-19 หมดไป จะสามารถนำมาปรับใช้เป็นห้องรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็ง ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง และผู้ป่วยโรคติดเชื้อทางเดินหายใจอื่นๆ ได้อีกด้วย
นิตยา แสงมณี // ผู้สื่อข่าวประจำจังหวัดสตูล