วันที่ 3 พ.ย.63 : ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีที่กลุ่มผู้ค้าสลากกินแบ่งรัฐบาลจำนวน 61 คน แห่แจ้งความ พงส.สภ.รัตนบุรี ภ.จ.สุรินทร์ เมื่อวันที่ 7 ต.ค.63 ให้ดำเนินคดีกับนายทศพร จิตรแม้น ยี่ปั๊วตัวแสบพร้อมพวกที่หลอกขายสลากกินแบ่งฯ ในราคาต่ำกว่ายี่ปั๊วรายอื่นๆ โดยกลอุบายว่าจะจำหน่ายลอตเตอรรี่งวดประจำวันที่ 16 ต.ค.63 และงวดประจำวันที่ 1 พ.ย.63 ให้ผู้เสียหายในลักษณะเป็นกล่องๆ แต่ละกล่องจะมีสลากกินแบ่งจำนวน 500 ใบ ราคากล่องละ 35,000-40,000 บาท (เฉลี่ยสลากกินแบ่งตกใบละ 70-80 บาท)
โดยตกลงว่าจะส่งมอบสลากกินแบ่งฯ ให้ภายในวันที่ 6-7 ต.ค.63 สำหรับงวดวันที่ 16 ต.ค.63 และวันที่ 21-22 ต.ค.63 สำหรับงวดวันที่ 1 พ.ย.63 จนมีผู้หลงเชื่อโอนเงินให้นายทศพรฯ ผ่านบัญชีธนาคารของนายยุทธนา (สงวนนามสกุล),นายศราวุฒิ (สงวนนามสกุล),นายไชยพันธุ์(สงวนนามสกุล) น.ส.อัจฉราวรรณ (สงวนนามสกุล),นายสุพจน์ (สงวนนามสกุล) รวมเป็นเงิน 300-400 ล้านบาท
แต่เมื่อถึงวันเวลาส่งมอบสลากกินแบ่งฯ นายทศพรฯ กลับหลบหนีไม่ส่งมอบสลากกินแบ่งตามที่ตกลงไว้ จึงพากันแจ้งความกับพนักงานสอบสวน สภ.รัตนบุรี ให้เอาผิดนายทศพรฯ พร้อมพวกข้อหาฉ้อโกงประชาชน จนถึงวันนี้ตำรวจยังติดตามจับกุมนายทศพรฯ พร้อมพวกไม่ได้ แต่กลับมีข่าวว่า “ป่านนี้ยังจับตัว 2 ผู้ต้องหาไม่ได้เลย ข้อมูลจากผู้เสียหายว่า เมื่อคืนเห็น 2 ผู้ต้องหานั่งกินเหล้าอยู่กับกลุ่มชายฉกรรจ์ใส่เสื้อตราโล่ตำรวจและกระเทย (สาวประเภทสอง) จำนวนมาก อย่างนี้ อย่างที่รู้มาว่ามีผู้หลักผู้ใหญ่นักการเมืองท้องถิ่นและคนมีสีในพื้นที่มีเอี่ยวด้วยหรือไม่ ถึงทำให้ป่านนี้ยังจับผู้ต้องหาไม่ได้”
ต่อมาเวลา 14.00 น. ที่ ศูนย์ยุติธรรมสร้างสุข กระทรวงยุติธรรม นายอานนท์ เชื้อสัตตบงกช ทนายความ พานายสามิตร สิ่วสงวน และนางจิรนันท์ สิ่วสงวน พร้อมผู้เสียหายจากการถูกหลอกลงทุนซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาลหรือ ล็อตเตอรี่ นำเอกสารหลักฐานการลงทุนซื้อขายล็อตเตอรี่มาร้องทุกข์ต่อ พ.ต.อ.อัครพล บุณโยปัษฎัมภ์ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) เพื่อขอให้ ดีเอสไอติดตามทรัพย์ให้ผู้เสียจำนวนกว่า 100 คน มูลค่าความเสียหายกว่า 400 ล้านบาท พร้อมขอให้รับเรื่องดังกล่าวเป็นคดีพิเศษด้วย
นายสามิตรฯ กล่าวว่า ตนและพวกได้ถูกผู้ต้องหาซึ่งเป็นชาวจังหวัดร้อยเอ็ดเข้ามาตีสนิท และชักชวนให้ร่วมทุนด้วยการนำเงินไปซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาลมาจำหน่าย และหากขายได้ทั้งหมดก็จะแบ่งเงินให้กับผู้ร่วมลงทุน ตนเห็นว่ามีคนรู้จักได้ร่วมทุนกับผู้ต้องหารายนี้มานานกว่า 2 ปี และมีรายได้จริงจากการซื้อล็อตเตอรี่ ตนจึงตัดสินใจลงทุนกับผู้ต้องหาเมื่อเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา และยังซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาลกับผู้ต้องหาไปขายให้กับกลุ่มเครือญาติในราคาต้นทุนฉบับละ 80 บาท หรือราคากล่องละ 35,000-40,000 บาท
โดยในช่วง 4-5 งวดแรก ได้รับเงินจากการจำหน่ายล็อตเตอรี่จริง ต่อมางวดวันที่ 16 ต.ค.63 และงวด วันที่ 1 พ.ย.63 ที่ผ่านมา ได้มีผู้ฝากซื้อล็อตเตอรี่ โดยลงทุนไปอีกรวมเป็นเงินจำนวน 25 ล้านบาท แต่ปรากฏว่าผู้ต้องหาไม่สามารถจัดหาล็อตเตอรี่มาให้ได้ ทั้งๆที่รับเงินไปแล้ว และไม่สามารถติดต่อได้อีก ตนและผู้เสียหายจึงเข้าแจ้งความที่ สภ.รัตนบุรี ภ.จ.สุรินทร์ ขณะเดียวกันตนก็ถูกผู้เสียหายที่ฝากซื้อล็อตเตอรี่แจ้งจับในข้อหาฉ้อโกงด้วยเช่นเดียวกัน
ขณะที่ นายอานนท์ฯ ทนายความกล่าวว่า หลังจากผู้เสียหายเข้าแจ้งความแล้ว เจ้าหน้าที่ตำรวจสภ.รัตนบุรี ได้ออกหมายจับผู้ต้องหาไปแล้ว 8 ราย เหลืออีก 2 รายที่ยังตามจับตัวไม่ได้ ทั้งๆที่ทั้งสองคนยังอยู่ในพื้นที่ไม่ได้หลบหนีไปไหน ต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่ตามยึดทรัพย์สินของผู้ต้องหาได้ เป็นเงินสดพร้อมสร้อยคอทองคำ แต่เมื่อนำไปตรวจสอบพบว่าเป็นของปลอม ผู้เสียหายจึงรู้สึกไม่สบายใจและเกรงว่าจะไม่ได้รับความเป็นธรรมเพราะผู้ต้องหาอาจมีผู้มีอิทธิพลหนุนหลัง อีกทั้งยังได้ทรัพย์สินที่หลอกลวงประชาชนไปจำนวนมาก จึงต้องร้องขอให้ ดีเอสไอ เข้ามาช่วยทำคดี และรับคดีดังกล่าวไว้เป็นคดีพิเศษ
ด้าน พ.ต.อ อัครพลฯ กล่าวว่า ดีเอสไอ จะรับเรื่องดังกล่าวไว้พิจารณาและตั้งเรื่องเป็นเลขสืบสวนคดี โดยจะส่งพนักงานสอบสวนไปตรวจสอบข้อเท็จจริงในพื้นที่ เนื่องจากคดีดังกล่าวมีผู้เสียหายจำนวนมาก และมีวงเงินสูง การหลอกลวงประชาชนให้ร่วมลงทุนในช่วงที่มีการแพ่รระบาดของเชื้อโควิด-19 เป็นการซ้ำเติมทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติม ก่อนผู้เสียหายจะมาร้องกระทรวงยุติธรรมและ ดีเอสไอ ได้เดินไปร้องต่อนาย สิระ เจนจาคะ ประธานกรรมาธิการกฎหมายฯ ที่รัฐสภาให้ช่วยเหลือด้วย
สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน