วันที่ 29 ต.ค.63 เวลา 13.30 น.สมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย นำโดย คุณกิตตินันท์ ธรมธัช นายกสมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย พร้อมด้วย นายปุญชรัสมิ์ ตาเลิศ หรือ น้องแคนดี้ อายุ 33 ปี เจ้าหน้าที่ประสานงานชุมชนด้านสิทธิมนุษยชนและส่งเสริมความเท่าเทียม สมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย
เจ้าของตำแหน่ง นางงาม Princess of Love เวที Miss Queen Rainbow Sky 2018 เดินทางเข้าพบ น.ส.อารีวรรณ จตุทอง กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เพื่อยื่นหนังสือต่อคณะกรรมสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) กรณีศูนย์บริจาคโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย ปฏิเสธไม่รับบริจาคโลหิตจากผู้หญิงข้ามเพศ (ชายเป็นหญิง เกย์ ตุ๊ด) เนื่องจากเป็นกลุ่มเสี่ยงในการติดเชื้อเอชไอวีและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
นายกิตตินันท์ฯ เปิดเผยว่าบุคคลที่เป็นสตรีข้ามเพศไม่สามารถที่จะไปบริจาคเลือดได้ที่ศูนย์บริจาคโลหิตแห่งชาติ เราเคยต่อสู้ในเรื่องของหญิงรักหญิงมาเมื่อปี พ.ศ.2549 ผ่านสำเร็จมาแล้วได้ทำการถอดถอนหญิงรักหญิงออกไปยังเหลืออยู่แค่ประเด็นชายรักชายที่มีเพศสัมพันธ์ในเพศเดียวกันรวมถึงบุคคลข้ามเพศด้วย
ด้าน น้อมแคนดี้ หรือ นายปุญชรัสมิ์ บอกเล่าประสบการณ์ที่ถูกปฏิเสธไม่รับบริจาคโลหิตจากสภากาชาดไทยว่า ตั้งแต่สมัยตนเรียนที่มหาวิทยาลัยมหาสารคาม (คณะแพทยศาสตร์ สาขาวิชาแพทย์แผนไทยประยุกต์บัณฑิต) แล้วมีรถรับบริจาคเลือดมาที่มหาวิทยาลัย เรากับเพื่อนเลยไปขอบริจาค เพื่อนเกย์และเพื่อนกะเทยหัวโปกที่ภายนอกบอยๆ สามารถบริจาคได้ตามปกติ ขณะที่เราแสดงอัตลักษณ์ทางเพศชัดเจน แม้ว่าแต่งชุดนิสิตชาย เพราะคณะไม่ให้แต่งหญิง แต่เราไว้ผมยาวแล้ว แต่งหน้าด้วย วันนั้นเลยโดนปฏิเสธ เจ้าหน้าที่บอกว่า “น้องอยู่ในกลุ่มเสี่ยง เราไม่รับบริจาคนะ” แล้วให้ลงจากรถเลย เราไม่เข้าใจว่าตัวเองเสี่ยงยังไง เพราะยังไม่เคยมีอะไรกับใครเลย เพื่อนๆ แซวกันว่า “เธอมันสวยเกินไปไง เขาเลยไม่เอา” แต่เราเฟลมาก เป็นกะเทยแล้วสกปรกขนาดนั้นเลยเหรอ
“พอถึงช่วงฝึกงาน เราฝึกที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในภาคกลาง แล้วเจอรถรับบริจาคเลือดอีก เราเลยลองขอบริจาค เดินเข้าไปถามเจ้าหน้าที่ว่า “หนูบริจาคได้ไหมคะ” เขาบอกว่า “เอาจริงๆ ก็บริจาคได้ แต่ด้วยเพศสภาพของน้อง ทางสภากาชาดระบุเลยว่าไม่รับ” เขาพูดดีนะ ไม่ได้มองเราว่าเป็นกลุ่มเสี่ยง แต่กฎเป็นแบบนี้ โอเค เราเข้าใจ ถ้าผู้ใหญ่รู้ขึ้นมาอาจต่อว่าได้ แต่ในใจคิดว่า “อีกแล้วเหรอ” สมัยนั้นคำอธิบายต่อกะเทยน่ากลัวเลย เอกสารการเกณฑ์ทหารบอกว่า “โรคจิตถาวร” เพิ่งเปลี่ยนเป็นคำว่า “ภาวะเพศสภาพไม่ตรงกับเพศกำเนิด” เมื่อไม่กี่ปีมานี้ (บังคับใช้เป็นทางการเมื่อปี 2557) เราคุยกับแม่ที่เป็นพยาบาล เขาบอกว่า “เดี๋ยวไปบริจาคกับโรงพยาบาลที่แม่ทำงานละกัน” ตอนนั้นเราปฏิเสธไป มันเหนื่อยแล้ว เราต้องยืนยันความบริสุทธิ์อีกกี่ครั้ง สุดท้ายอาจโดนเจ้าหน้าที่บอกเหมือนเดิมว่า “คุณอยู่ในกลุ่มเสี่ยง” ก็ได้
“หลังจากเรียนจบ เราไม่ได้ทำงานในวงการแพทย์ แต่มีใบประกอบวิชาชีพแพทย์แผนไทย เวลาผ่านไปสักระยะ ตอนนั้นทำงานอยู่ภาคใต้ พอเจอรถรับบริจาคเลือด เราเลยลองเข้าไปถาม ตัดสินใจยื่นบัตรสภาการแพทย์แผนไทยให้ดูด้วย อยากให้เขามองว่า เรามีความเข้าใจนะ ไม่ใช่คนที่ไม่รู้เรื่องพฤติกรรมเสี่ยงอะไรเลย แต่เจ้าหน้าที่บอกว่า “พี่เข้าใจนะ แต่กฎเป็นแบบนี้ เขาไม่ให้รับเลือดของเกย์กะเทย” ในใจคือคำเดิมเลยว่า “อีกแล้วเหรอ” ทำไมเราถึงบริจาคเลือดไม่ได้ แม้แต่การคัดกรองว่าบริจาคได้ไหม เรายังไม่ได้รับสิทธิ์เลย หลังจากนั้นอีกหลายปี เราเปลี่ยนมาทำงานเป็นเจ้าหน้าที่ของฟ้าสีรุ้ง (สมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย) ตอนนั้นประเทศไทยมี พ.ร.บ.ความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ.2558 เราอยากรู้ว่าสถานการณ์จริงเปลี่ยนแปลงบ้างไหม เลยตัดสินใจไปบริจาคเลือดอีกครั้งเมื่อ 1 กรกฎาคม 2562
“เราไปที่สภากาชาดตรงถนนอังรีดูนังต์ ตัวเองแปลงเพศแล้ว เคยมีอะไรกับผู้ชายมาเป็นปีแล้ว ตอนนั้นใช้ถุงยางอนามัย แต่วันที่บริจาคเลือดเรามีแฟนเป็นทอม เรากรอกข้อมูลตามปกติ กดบัตรคิว ทำเรื่องจนได้บัตรผู้บริจาคโลหิตชั่วคราว แต่พอถึงห้องที่เจาะนิ้ว เขาเห็นคำนำหน้าชื่อแล้วเรียกไปคุยเลย พยาบาลวิชาชีพถามว่า “น้องเป็นชายใช่ไหมค่ะ” เราแต่งตัวแบบนี้แล้ว แต่ต้องตอบไปว่า “ใช่ค่ะ” เขาพูดต่อว่า “น้องไม่รู้ใช่ไหมว่าเขาไม่ให้บริจาค” เราอธิบายไปว่า “ตัวเองไม่ได้มีพฤติกรรมเสี่ยง เคยมีอะไรกับผู้ชาย แต่ก็ป้องกัน นานเป็นปีแล้วด้วย ตอนนี้มีแฟนเป็นทอม” เรานำเอกสารผลเลือดว่าไม่มีเชื้อเอชไอวีมายืนยันด้วย วันนั้นพยายามอธิบายทุกอย่าง พูดกับเขาว่าเพศชายหญิงก็มีความเสี่ยงได้เหมือนกันนะ แต่เขาจบว่า “เพศแบบน้องมีความเสี่ยงมากกว่า” มันจะเสี่ยงได้ยังไง ตอนนั้นเราใช้นิ้ว แต่ไม่ได้พูดออกไปนะ (หัวเราะ) ในใจคือคำเดิมเลยว่า “อีกแล้วเหรอ”
“เมื่อก่อนกฎของสภากาชาดเคยบอกว่า “หากมีพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศ อาทิ มีเพศสัมพันธ์กับผู้อื่นที่ไม่ใช่คู่ของตน มีเพศสัมพันธ์กับเพศเดียวกัน ให้งดบริจาคเลือดเป็นการถาวร” แต่ปัจจุบันเหลือแค่ “ท่านหรือคู่ครองของท่านต้องไม่มีพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศสัมพันธ์” เราไม่ได้มีพฤติกรรมเสี่ยง พูดความจริงทุกอย่าง เอาเอกสารผลเลือดมายืนยันอีก คุณอาจบอกว่า กฎมาจากงานวิจัย เพศแบบนี้มีความเสี่ยงมากกว่า แต่ไม่ได้แปลว่าทุกคนต้องเป็นแบบนั้น ทุกคนที่ร่างกายพร้อมและไม่มีพฤติกรรมเสี่ยงควรเข้าถึงการคัดกรอง หลายครั้งที่เลือดขาดแคลน เราก็อยากให้เลือดของตัวเองได้ช่วยคนอื่น ทำไมต้องจำกัดสิทธิ์ ทำไมต้องกีดกัน มันโอเคกว่านะ ถ้าเราไม่ได้บริจาคเพราะเลือดไม่สมบูรณ์ แต่เรากลับถูกปฏิเสธเพราะเป็นกะเทย”
ด้านนางอารีวรรณฯ รับเรื่องแล้วกล่าวว่า หลังจากนี้จะเข้ากระบวนการ การรับเรื่องร้องเรียนแล้วจะทำการตรวจสอบ และการออกข้อเสนอแนะไปยังหน่วยงาน กสม.พิจารณาเรื่องนี้ก่อนว่าเป็นการละเมิดสิทธิหรือไม่ ถ้าเห็นว่าละเมิดก็ดำเนินการตรวจสอบและมีหนังสือไปยังหน่วยงาน หากหน่วยงานไม่ปฏิบัติหรือแก้ไข ก็จะมีหนังสือไปยัง ครม. ต่อไป
สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน