ผู้ว่าฯกทม. “พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง” นำคณะผู้บริหาร ลงตรวจ ท่าเทียบเรือ โป๊ะริมแม่น้ำเจ้าพระยา เตรียมความพร้อมเเละความปลอดภัย ช่วงเทศกาลลอยกระทง 31ต.ค.63.
วันนี้ ( 29 ต.ค.63 ) เวลา 13.16 น. พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ประธานการตรวจความปลอดภัยท่าเทียบเรือและโป๊ะ (ทางน้ำ) บริเวณริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ในช่วงเทศกาลลอยกระทง ประจำปี 2563 โดยมี คณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สำนักเทศกิจ สำนักงานเขตในพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้การต้อนรับและบรรยายสรุปการเตรียมความพร้อม ณ บริเวณท่าเรือสำนักงานวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว เขตพระนคร
จากนั้นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นำคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร สื่อมวลชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลงเรือตรวจการณ์เพื่อตรวจสอบความปลอดภัยและความมั่นคงแข็งแรงของท่าเทียบเรือริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา โดยเริ่มจากบริเวณท่าเรือสำนักงานวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว เขตพระนคร ไปยังบริเวณสวนสันติชัยปราการ เขตพระนคร ท่าเทียบเรือวาสุกรี เขตดุสิต ท่ากรมชลประทาน สามเสน เขตดุสิต บริเวณรัฐสภาแห่งใหม่ เขตดุสิต ขึ้นเรือตรวจความปลอดภัยบริเวณท่าเรือเกียกกาย เขตดุสิต จากนั้นลงเรือไปท่าวัดสร้อยทอง เขตบางซื่อ และขึ้นเรือบริเวณท่าพระราม 8 ฝั่งธนบุรี เขตบางพลัด กรุงเทพมหานคร ได้เตรียมความพร้อมมาตรการดูแลด้านความปลอดภัยแก่ประชาชนในช่วงเทศกาลลอยกระทง ประจำปี 2563 ซึ่งในปีนี้วันลอยกระทงตรงกับวันที่ 31 ต.ค.63
โดยกรุงเทพมหานครกำหนดจัดงานลอยกระทงใน 2 พื้นที่หลัก ได้แก่ บริเวณสะพานพระราม 8 ฝั่งธนบุรี เขตบางพลัด และบริเวณคลองโอ่งอ่าง เขตสัมพันธวงศ์และเขตพระนคร ทั้งนี้เพื่ออำนวยความสะดวกและดูแลความปลอดภัยแก่ประชาชนที่เดินทางมาร่วมกิจกรรมดังกล่าว กรุงเทพมหานคร จึงได้กำหนดมาตรการดูแลความปลอดภัยให้กับประชาชนในช่วงเทศกาลลอยกระทง ประจำปี 2563 โดยสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ร่วมกับสำนักการแพทย์ ได้จัดเรือดับเพลิงและเรือกู้ชีวิต ออกลาดตระเวนในแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่สะพานพระราม 7 ถึงสะพานพระราม 9 รวมระยะทาง 20.4 กม. เพื่อดูแลความปลอดภัยแก่ประชาชนที่มาลอยกระทงบริเวณริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา โดยแบ่งออกเป็น 3 ชุด ดังนี้
ชุดที่ 1 ตั้งแต่สะพานพระราม 7 ถึงสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า ประกอบด้วย เรือดับเพลิง 38 ฟุต จำนวน 2 ลำ เจ้าหน้าที่และอุปกรณ์กู้ภัยทางน้ำ จำนวน 1 ชุด
ชุดที่ 2 ตั้งแต่สะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า ถึงสะพานสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช (สะพานสาทร) ประกอบด้วย เรือดับเพลิง 38 ฟุต จำนวน 2 ลำ เจ้าหน้าที่และอุปกรณ์กู้ภัยทางน้ำ จำนวน 1 ชุด และ
ชุดที่ 3 ตั้งแต่สะพานสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ถึงสะพานพระราม 9 ประกอบด้วย เรือดับเพลิง 38 ฟุต จำนวน 2 ลำ เจ้าหน้าที่และอุปกรณ์กู้ภัยทางน้ำ จำนวน 1 ชุด พร้อมกันนี้ได้จัดเจ้าหน้าที่ พร้อมรถดับเพลิง รถไฟฟ้าส่องสว่าง และถังดับเพลิง เพื่อดูแลความปลอดภัยแก่ประชาชนในพื้นที่ 37 จุด ดังนี้ 1.กองอำนวยการร่วมส่วนหน้า 6 จุด ได้แก่ จุดที่ 1 บริเวณเชิงสะพานพระราม 8 เขตบางพลัด จุดที่ 2 บริเวณสวนสันติไชยปราการ เขตพระนคร จุดที่ 3 บริเวณสวนลุมพินี เขตปทุมวัน จุดที่ 4 บริเวณริมบึงลำพังพวย เขตบึงกุ่ม จุดที่ 5 ริมคลองผดุงกรุงเกษม เขตดุสิต และจุดที่ 6 บริเวณคลองโอ่งอ่าง เขตพระนคร 2.พื้นที่ลอยกระทง บริเวณสวนสาธารณะและริมคลอง 32 จุด และ 3.ท่าเทียบเรือและโป๊ะ ตามที่ได้รับการร้องขอจากสำนักงานเขตในพื้นที่ จัดเจ้าหน้าที่ พร้อมอุปกรณ์ช่วยชีวิต เสื้อชูชีพ ห่วงยางช่วยชีวิต และเชือกช่วยชีวิต นอกจากนี้สำนักเทศกิจ ได้จัดเจ้าหน้าที่สังกัดสำนักและสำนักงานเขต เพื่อดูแลความเป็นระเบียบเรียบร้อยในพื้นที่จัดงาน ส่วนสำนักการจราจรและขนส่งร่วมกับสำนักงานเขต ได้สำรวจตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงและความพร้อมของท่าเทียบเรือและโป๊ะที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาและคลองสายต่างๆ ในพื้นที่ 50 เขต จำนวนทั้งสิ้น 402 ท่า อยู่ในสภาพดีพร้อมใช้งาน จำนวน 353 ท่า และอยู่ในสภาพชำรุด จำนวน 49 ท่า รวมถึงการติดป้ายประกาศเตือน ป้ายจำนวนบรรจุน้ำหนัก และวางมาตรการดูแลด้านความปลอดภัยแก่ประชาชน เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุ ตลอดจนสร้างความอุ่นใจแก่ประชาชนที่มาลอยกระทง
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า วันนี้ผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ได้ตรวจความพร้อมของท่าเทียบเรือบริเวณริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อความปลอดภัยของประชาชนที่จะมาลอยกระทงในวันที่ 31 ต.ค.63 ปีนี้กรุงเทพมหานครกำหนดจัดงานลอยกระทงใน 2 พื้นที่ ได้แก่ บริเวณสะพานพระราม 8 ฝั่งธนบุรี และบริเวณคลองโอ่งอ่าง ด้วยความห่วงใยจากกรุงเทพมหานครและป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นแก่ประชาชนในช่วงเทศกาลดังกล่าว จึงได้วางมาตรการด้านความปลอดภัยโดยมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงของท่าเทียบเรือและโป๊ะที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาและคลองต่าง ๆ ในพื้นที่ 50 เขต อีกทั้งลดจำนวนคนลงมาบนโป๊ะหรือท่าเทียบเรือเหลือแค่ 80% จากจำนวนที่รับน้ำหนักได้ เพื่อความปลอดภัย และไม่ให้เกิดความหนาแน่นจนเกินไป
นอกจากนี้กรุงเทพมหานครได้เปิดสวนสาธารณะทั้ง 30 แห่ง เช่น สวนลุมพินี สวนจตุจักร สวนสราญรมย์ สวนนวมินทร์ภิรมย์ เพื่อให้ประชาชนเข้าไปลอยกระทง ตั้งแต่เวลา 05.00-24.00 น. พร้อมทั้งขอความร่วมมือประชาชนใช้กระทงที่ทำจากวัสดุธรรมชาติ ย่อยสลายง่าย เช่น ใบตอง ขนมปัง หากเป็นไปได้ 1 ครอบครัวต่อ 1 กระทง เพื่อลดปริมาณขยะในแม่น้ำลำคลอง รวมถึงงดดื่มสุราและงดเก็บกระทงที่มีผู้ลอยไปแล้ว เนื่องจากกระแสน้ำที่ค่อนข้างเย็นอาจทำให้เป็นตะคริวและเกิดอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ พร้อมทั้งได้มอบหมายให้สำนักสิ่งแวดล้อม จัดเก็บกระทงในแม่น้ำเจ้าพระยาและคลองต่าง ๆ โดยแยกประเภทกระทง จำนวนที่จัดเก็บได้ โดยจะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในเวลา 06.00 น. ของวันรุ่งขึ้น รวมถึงแจ้งเตือนประชาชนห้ามจุดประทัด พลุ ตะไล โคมลอย หรือปล่อยบั้งไฟขึ้นสู่ท้องฟ้า ซึ่งหากตกลงหลังคาบ้านเรือนอาจก่อให้เกิดอัคคีภัยขึ้นได้ พร้อมกันนี้ขอให้ประชาชนปฏิบัติตนตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อย่างเคร่งครัด ไม่ประมาทและควรใส่หน้ากากตลอดเวลา
#ขอบคุณข้อมูลข่าวสาร ภาพข่าว
> Cr.Pr.สำนักงานประชาสัมพันธ์ กทม.
/////////////////////////////
> ธีรพล ปลื้มถนอม “พนักงานเทศกิจ ส.1 เขตพระนคร” รายงาน