การฝึกซ้อมคราวนี้มีขึ้นในจังหวะเวลาที่กำลังมีความตึงเครียดเพิ่มสูงในทะเลจีนใต้ หลังจากศาลอนุญาโตตุลาการถาวรในกรุงเฮก, เนเธอร์แลนด์ ตัดสินเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ว่า จีนไม่ได้มีสิทธิทางประวัติศาสตร์เหนือพื้นที่พิพาทในทะเลแห่งนี้ตามที่กล่าวอ้าง รวมทั้งยังวิพากษ์ตำหนิว่า แดนมังกรทำลายสิ่งแวดล้อมในอาณาบริเวณดังกล่าวอีกด้วย
ขณะที่ปักกิ่งประกาศตั้งแต่ต้นไม่ยอมรับว่า ศาลอนุญาโตตุลาการแห่งนี้ มีอำนาจในการพิจารณาคดีนี้ รวมทั้งไม่ให้ความร่วมมือใด ๆ และไม่ยอมรับผลการตัดสินที่ออกมา
ตามคำแถลงของกองทัพเรือจีนวันนี้ ในเว่ยโป๋ หรือไมโครบล็อก อย่างเป็นทางการ การฝึกร่วมที่ใช้ชื่อว่า “ฝึกร่วมทางทะเลปี 2016” (Joint Sea-2016) คราวนี้ จะมีทั้งเรือผิวน้ำ, เรือดำน้ำ, อากาศยานปีกคงที่, เฮลิคอปเตอร์ซึ่งมีฐานอยู่บนเรือ และทหารนาวิกโยธิน เข้าร่วม
โดยที่ทั้งสองประเทศจะดำเนินการฝึกปฏิบัติการทั้งทางด้านการป้องกัน, การกู้ภัย และการต่อต้านเรือดำน้ำ, ตลอดจน “การเข้ายึดเกาะ” และกิจกรรมอย่างอื่น ๆ คำแถลงฉบับนี้ระบุ
สำหรับทหารนาวิกโยธินนั้นจะเข้าร่วมการฝึกยิงด้วยกระสุนจริง, การป้องกันเกาะ และการปฏิบัติการยกพลขึ้นบก โดยที่การฝึกร่วมคราวนี้ถือเป็นการปฏิบัติการครั้งใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยร่วมจัดกันมาของกองทัพเรือของทั้งสองประเทศ
จีนได้แถลงเรื่องการร่วมฝึกซ้อมทางนาวีกับรัสเซียมาตั้งแต่เดือนกรกฎาคม โดยกล่าวว่า เป็นการฝึกซ้อม “ตามปกติ” ด้วยจุดมุ่งหมายที่จะเสริมสร้างความร่วมมือกันให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น และไม่ได้มุ่งต่อต้านชาติอื่น ๆ ใด ๆ ทั้งสิ้น
อย่างไรก็ตาม จีนกับรัสเซียมีทัศนะคล้ายคลึงกันในประเด็นปัญหา อย่างเช่น วิกฤตการณ์ในซีเรีย ทำให้บ่อยครั้งที่ทั้ง 2 ชาติ มีความคิดเห็นไปคนละทางกับสหรัฐฯและยุโรปตะวันตก ขณะเดียวกัน มอสโกแสดงท่าทีหนุนหลังจุดยืนปักกิ่งในกรณีพิพาทในทะเลจีนใต้
เมื่อปีที่แล้ว จีนกับรัสเซียได้จัดการฝึกซ้อมทางนาวีเช่นนี้ที่ทะเลญี่ปุ่นและทะเลเมดิเตอร์เรเนียน