วันที่ 2 ตุลาคม 2563 : ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) แถลงนโยบายการขับเคลื่อนงานของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เนื่องในโอกาสการเข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการ ณ อาคารอุดมศึกษา 1 สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษาฯ (สป.อว.) ถนนศรีอยุธยา กรุงเทพฯ
ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล กล่าวว่า ในการขับเคลื่อนงานของ (อว.) จะปฏิบัติตามนโยบายของ ศ.ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (รมว.อว.) เพื่อให้เกิดสัมฤทธิ์ผลในทางปฏิบัติและเกิดประสิทธิภาพในการทำงาน โดยเน้นให้ความสำคัญในการฝึกอบรมบุคลากรระดับสูงของประเทศ ได้แก่ นักศึกษาระดับปริญญาตรี โท เอก และหลังระดับปริญญาเอก ซึ่งเป็นบุคลากรสำคัญของประเทศ รวมถึงจะดูแลเรื่องการวิจัยและนวัตกรรมในทุกๆ มิติของประเทศ โดยโครงการที่เกิดขึ้นจะเป็นโครงการที่แต่ละหน่วยงานเชื่อมโยงการทำงานร่วมกันทั้งหมด ซึ่ง (รมว.อว.) ได้มีแนวคิดที่จะขับเคลื่อนโครงการต่างๆ จำนวนมาก
ทั้งนี้ จากสถานการณ์โควิด–19 กระทรวง (อว.) ได้มีการเตรียมความพร้อมทางการแพทย์ สาธารณสุขและการวิจัย โดยเฉพาะโรงเรียนแพทย์หรือคณะแพทยศาสตร์ที่อยู่ภายใต้สังกัด รวมทั้งการปฏิบัติงานร่วมกับศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ซึ่งเป็นกลไกที่สำคัญมากในการรักษาสมดุลระหว่างเศรษฐกิจและสังคม และอีกเรื่องที่สำคัญคือ ภายหลังจากสถานการณ์โควิด–19 จะเกิดภาวะ New Normal มากขึ้น ทำให้ (อว.) จำเป็นต้องดูแลเยาวชนที่กำลังศึกษาอยู่ให้มีงานทำและมีความหวังในอนาคต ผ่านกระบวนการจ้างงานในรูปแบบต่างๆ แต่ในขณะเดียวกันกระทรวงฯ ไม่ได้ทำเฉพาะการจ้างงาน แต่จะต้องดำเนินการให้เยาวชนเกิดทักษะใหม่ที่จําเป็นต่อไปในอนาคตหรือ New-Skill หรืออาจเป็นการ Re-Skill ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญเร่งด่วน ยกตัวอย่าง เช่น โครงการ (อว.) จ้างงาน โครงการ 1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย เป็นต้น และยังให้ความสำคัญกับโครงการต่างๆ ของผู้สูงอายุอีกด้วย
นอกจากนี้ (อว.) จะเปิดโอกาสให้ประชาชนผู้ที่ทำให้เกิดประโยชน์กับประเทศชาตินอกเหนือจากการทำวิชาการอย่างเดียวเข้าสู่ตำแหน่งวิชาการ เช่น ศาสตราจารย์ปฏิบัติการ ศาสตราจารย์ที่มุ่งเน้นการวิจัย หรืออาจารย์ที่มีความโดดเด่นในด้านการปฏิบัติต่างๆ ซึ่งจะทำให้เกิดการทำงานให้เกิดประโยชน์ของประเทศและนับเป็นเรื่องที่ท้าทายมาก ทั้งนี้ ได้มีการต่อยอดโครงการ (อว.) จ้างงาน โดยคาดว่าจะเสนอต่อคณะรัฐมนตรีประมาณสัปดาห์หน้า และเมื่อผ่านความเห็นชอบโครงการฯ แล้ว จะเกิดการจ้างงานเพิ่มอีก 60,000 อัตรา ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศกว่า 3,000 จุด
นอกจากเป็นการจ้างงานแล้วยังเป็นการพัฒนาในพื้นที่ด้วย ซึ่งได้กำหนดเป้าหมายในการพัฒนาและร่วมพัฒนา โครงการนี้มีระยะเวลา 1 ปี เพื่อให้การคนที่จบการศึกษาแล้วหรือกำลังจะจบเข้าไปปฏิบัติงานในพื้นที่และในขณะเดียวกันก็จะมีอาจารย์ของมหาวิทยาลัยต่างๆ ในพื้นที่ทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงทำงานร่วมกับชุมชน “เรื่องของโควิดเป็นเรื่องที่น่าสนใจ ทำให้คนส่วนใหญ่สนใจทำวิจัยมากขึ้น พบว่า เกินครึ่งของคนที่มาทำเรื่องนี้เป็นนักวิจัยที่ไม่ใช่นักวิจัยอาชีพ แต่เป็นผู้ที่ปฏิบัติงานในภาคเอกชน เช่น การทำระบบปรับอากาศ การวิจัยเรื่องหน้ากากอนามัย และในส่วนของพื้นที่ยังมีปราชญ์ชาวบ้าน ทำให้เกิดการวิจัยภาคประชาชน ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่น่าสนใจมาก เราจะสนับสนุนให้เกิดเครือข่ายของประชาชนวิจัยและโครงการเยาวชนวิจัย โดยจะเริ่มตั้งแต่ประถมศึกษาจนถึงปริญญาตรี เช่น โครงการประกวดความคิดของการวิจัย ซึ่งเดิมโครงการวิจัยจะให้ทุนเฉพาะนักวิจัย แต่ตอนนี้เป็นเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ดีใครอยากทำเราจะให้คุณรับสมัครและเชิญชวนประชาชนเข้ามาร่วมด้วย เช่น โครงการ hackathon ใครมีไอเดียก็จะให้ทุนไปทำตัวอย่าง ถ้าทำดีจะให้ทำของจริงต่อไป” ปลัด (อว.) กล่าวทิ้งท้าย
สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน