ศาลฎีกา พิพากษายืนจำคุก “สนธิ ลิ้มทองกุล” 20 ปี คดีทำเอกสารรายงานการประชุมเท็จ ค้ำประกันกู้เงินธนาคารกรุงไทย กว่าพันล้าน
นายสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์ในเครือผู้จัดการ และอดีตแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เดินทางมาฟังคำพิพากษาศาลฎีกา คดีที่อัยการฝ่ายคดีเศรษฐกิจและทรัพยากร1 ยื่นฟ้องนายสนธิ พร้อมด้วยนายสุรเดช มุขยางกูร อดีตกรรมการบริษัท แมเนเจอร์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) / นางสาวเสาวลักษณ์ ธีรานุจรรยงค์ อดีตผู้บริหารแผนฟื้นฟู บริษัทแมเนเจอร์ฯ และ นางสาวยุพิน จันทนา อดีตกรรมการ บริษัทแมเนเจอร์ฯ ฐานกระทำผิด พระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535
จากกรณีเมื่อระหว่างวันที่ 29 เมษายน 2539 – ถึง 31 มีนาคม 2540 จำเลยทั้งสี่ เป็นกรรมการ บริษัทแมเนเจอร์ ฯ ได้ร่วมทำสำเนา รายงานการประชุมของกรรมการบริษัท ที่เป็นเท็จว่า มีมติให้ บริษัทเป็นผู้ค้ำประกันเงินกู้ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ให้กับบริษัท เดอะ เอ็ม กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ซึ่งนายสนธิ จำเลยที่ 1 ถือหุ้นอยู่ รวม 6 ครั้ง จำนวน 1,078 ล้านบาท โดยไม่ได้ขออนุมัติจากมติที่ประชุมกรรมการบริษัท และยอมให้มีการเปลี่ยนแปลง บัญชีไม่ตรงกับความเป็นจริง โดยไม่ได้นำภาระการค้ำประกันเงินกู้ดังกล่าวส่งให้ตลาดหลักทรัพย์ และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) เพื่อลวงให้ผู้ถือหุ้น บริษัทแมเนเจอร์ฯ ขาดประโยชน์ที่ควรจะได้รับ รวมทั้งเป็นการลวงให้นักลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ ไม่ได้รับรู้ถึงการค้ำประกันหนี้ดังกล่าว
คดีนี้ศาลชั้นต้น มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2555 จำคุกนายสนธิ จำเลยที่ 1 และนางสาวเสาวลักษณ์ จำเลยที่ 3 คนละ 42 ปี 6 เดือน จำคุกนายสุรเดช จำเลยที่ 2 เป็นเวลา 2 ปี 6 เดือน ส่วนนางสาวยุพิน จำเลยที่ 4 แต่เมื่อรวมโทษทุกกระทงผิดแล้ว ให้จำคุกจำเลยที่ 1,3,4 สูงสุดตามกฎหมายมาตรา คนละ 20 ปี
ต่อมาจำเลยที่ 1, 3 และ 4 ยื่นอุทธรณ์ ส่วนนายสุรเดช จำเลยที่ 2 ไม่ได้ยื่นอุทธรณ์คดีจึงถือที่สุดตามกฎหมายรับโทษจำคุก 2 ปี 6 เดือน
ขณะที่ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาคดีนี้เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2557 โดยพิพากษายืนตามศาลชั้นต้น
ศาลฎีกา ตรวจสำนวนประชุมแล้วเห็นว่า ที่จำเลยฎีกาว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำกรรมเดียวนั้น เห็นว่าการทำรายงานการประชุมเพียงหนึ่งครั้งแต่นำไปค้ำประกันการกู้ยืมเงิน 6 ครั้ง ในวันเวลาที่แตกต่างกัน เป็นเวลา 1 ปี และ มีจำนวนเงินแต่ละครั้งไม่เท่ากัน ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น ส่วนที่จำเลยฎีกาขอให้ลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษ ศาลเห็นว่า บริษัทของจำเลยเข้าตลาดหลักทรัพย์ต้องมีหลักธรรมมาภิบาล หากกรรมการบริษัทกระทำผิดเสียเอง ย่อมสร้างผลกระทบต่อบริษัท ขณะที่การกระทำของจำเลยเป็นความผิดร้ายแรง ส่งผลกระทบจำนวนมาก ที่จำเลยอ้างถึงคุณงามความดียังไม่เพียงพอที่จะให้รอการลงโทษได้ฏีกาจำเลยฟังไม่ขึ้นที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทรณ์พิพากษาลงโทษมานั้นชอบแล้ว พิพากษายืน
ภายหลังคำฟังคำพิพากษานายสนธิ ได้โอบกอดให้กำลังใจจำเลยร่วม ก่อนที่นายสนธิจะออกมาโทรศัพท์ แจ้งข่าวรายงาน จากนั้นทางเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ ได้ควบคุมตัวทั้งสามมายังห้องควบคุมตัวใต้ถุนศาลเพื่อรอส่งตัวเข้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครและทัณฑสถานหญิงกลางต่อไป
counter