วันที่ 17 ก.ย.63 เวลา 11.00 น.ที่ศาลปกครองกลาง แจ้งวัฒนะ กทม. : นายสนธิญา สวัสดี อดีตผู้สมัครพรรคพลังประชารัฐ เข้ายื่นฟ้องประธานรัฐสภา ต่อศาลปกครองกลาง ขอให้มีคำพิพากษาสั่งให้ประธานรัฐสภาไม่รับญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญทุกฉบับ และให้มีการจัดทำประชามติเพื่อรับฟังเสียงประชาชนว่าสมควรมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 60 หรือไม่ รวมทั้งระหว่างพิจารณาคดีขอให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษา โดยสั่งไม่ให้มีการเคลื่อนไหวเพื่อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ
ทั้งนี้นายสนธิญาฯ กล่าวว่าส่วนตัวเห็นว่าขณะนี้ประเทศมีปัญหาอื่นที่จำเป็นต้องเร่งแก้ไขมากกว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ประกอบกับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่านการลงประชามติเมื่อ 7 สิงหาคม 2559 โดยมีผู้ใช้สิทธิ์ออกเสียงรับร่างรัฐธรรมนูญถึง 16.8 ล้านเสียง แต่วันนี้จะมี ส.ส.บางคนมาดำเนินการให้มีการแก้ไขบางมาตรา ด้วยการยื่นญัตติต่อประธานรัฐสภา จึงเห็นว่าการดำเนินการดังกล่าวเป็นการขัดต่อกฎหมายและหลักการออกเสียงประชามติ ซึ่งการปฏิบัติหน้าที่ของ ส.ส. ควรต้องยึดตามรัฐธรรมนูญมาตรา 114 ที่กำหนดว่าต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติโดยรวม ไม่ตกอยู่ภายใต้อาณัติอิทธิพลของกลุ่มบุคคลใด รวมทั้งมาตรา 185 ซึ่งกำหนดบัญญัติถึงการกระทำที่ขัดกันแห่งผลประโยชน์ จึงอยากถามว่าการที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นเป็นไปเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติประชาชน หรือของพรรคการเมือง
“ผมมองว่าเวลานี้ที่มีการเสนอ ให้มีการแก้ไขเป็นรายมาตรา เป็นการเลี่ยงบาลีเพื่อที่จะไม่ทำประชามติ ถามประชาชนว่าควรจะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้หรือไม่ ซึ่งความจริงแล้วนายกรัฐมนตรีก็ให้สัมภาษณ์ชัดว่าพร้อมที่จะหาเงินมาเป็นค่าทำประชามติ ถามประชาชนว่าควรจะแก้ไหม จึงอยากจะฝากถึง ส.ส. ส.ว. ถ้าบริสุทธิ์ใจก็ควรที่จะเสนอให้ประธานรัฐสภา สั่งให้มีการทำประชามติ ซึ่งผมเชื่อว่ามันจะเป็นทางออกที่ดีของปัญหาในขณะนี้ และเชื่อว่าจะไม่มีใครไปขัดขวาง“ นายสนธิญาฯ กล่าว
เมื่อถามว่าทำไมไม่มองว่าการแก้รัฐธรรมนูญจะลดความขัดแย้งทางการเมือง นายสนธิญาฯ กล่าวว่า ถ้าดูการชุมนุมวันที่ 19 กันยายน เป้าหมายหลักได้เปลี่ยนไปแล้ว ถ้ามีการเอาเรื่อง 10 ข้อเสนอการปฏิรูปสถาบันมาพูด เชื่อว่าประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะไม่มีการหยิบขึ้นมาพูด
นายสนธิญาฯ ยังกล่าวด้วยว่าได้รับหนังสือแจ้งจากประธานศาลรัฐธรรมนูญ กรณีที่ตนเองได้ร้องขอให้ศาลสั่งให้แกนนำกลุ่มเยาวชนปลดแอก ล้มเลิกการกระทำที่เข้าข่ายเป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 ว่าให้ส่งเอกสารเพิ่มเติม ซึ่งตนจะขอติดตามการชุมนุมในวันที่ 19 และ 20 กันยายน นี้ก่อน ว่าเนื้อหาการชุมนุม คืออะไร ถ้ายังคงมีการพูดจาบจ้วงสถาบัน ก็จะมีการรวบรวมข้อมูลและทำเอกสารเพิ่มเติมส่งไปยังศาลรัฐธรรมนูญภายใน 1 สัปดาห์หลังการชุมนุม
สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน