พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานเปิดการฝึกร่วมระหว่างคณะทำงานผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์ทหารกับคณะทำงานผู้เชี่ยวชาญด้านการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการบรรเทาภัยพิบัติ (ADMM-Plus Military Medicine-Humanitarian Assistance and Disaster Relief Joint Exercise 2016 : AM-HEx 2016)
โดยมีรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม ปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการเหล่าทัพ และผู้แทนส่วนราชการที่เกี่ยวข้องของประเทศไทยเอกอัครราชทูต ผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารจากประเทศสมาชิกอาเซียนและประเทศคู่เจรจา รวมทั้งผู้แทนจากองค์การระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมพิธีเปิดการฝึกฯ ณ ค่ายนวมินทราชินี จังหวัดชลบุรี กรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์(ร.21รอ.)
กระทรวงกลาโหมไทย กระทรวงกลาโหมสหพันธรัฐรัสเซีย กระทรวงป้องกันประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และกระทรวงกลาโหมญี่ปุ่น ได้ร่วมกันเป็นเจ้าภาพจัดการฝึกร่วมฯ
ระหว่างวันที่ 1 – 11 ก.ย.2559 โดยถือเป็นสัญลักษณ์ที่สำคัญของความร่วมมือทางทหารภายใต้กลไกการประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียนกับรัฐมนตรีกลาโหมประเทศคู่เจรจา หรือ ADMM-Plus
ซึ่งการฝึกร่วมฯ ครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความร่วมมือในการแบ่งปันประสบการณ์ ข้อมูล ทักษะความรู้ระหว่างเจ้าหน้าที่แพทย์ทหารของประเทศสมาชิกอาเซียนและประเทศคู่เจรจา ตลอดจนพัฒนาศักยภาพของหน่วยทหารในภูมิภาคในการปฏิบัติการร่วมด้านการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการบรรเทาภัยพิบัติ
โดยกำลังพล และยุทโธปกรณ์ที่เข้าร่วมการฝึก ประกอบด้วย กำลังทหารจากประเทศสมาชิกอาเซียนและประเทศคู่เจรจา ประมาณ 2,000 นาย โดยมียุทโธปกรณ์ที่เข้าร่วมการฝึก เช่น อากาศยาน C-130,
Sea Hawk, Mi-17 และเรือหลวงอ่างทองจากประเทศไทย เรือ LST จากสาธารณรัฐประชาชนจีน อากาศยาน Ka-27 และเรือพยาบาล จากสหพันธรัฐรัสเซีย อากาศยาน CH-47 และเรือ LST จากญี่ปุ่น อากาศยาน
Super Puma จากสาธารณรัฐสิงคโปร์ และอากาศยาน C-295 จากสาธารณรัฐอินโดนีเซีย
พล.อ.ประวิตร ให้สัมภาษณ์ภายหลัง ว่า การฝึกครั้งนี้ถือว่าเป็นใหญ่ที่สุด โดยต่อไปจะมีการฝึกร่วมกันทุกๆปี แต่ละปีอาจมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการฝึกบ้าง แต่จะเน้นการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ เนื่องจากปัจจุบันไม่สามารถรู้ได้ว่าจะเกิดภัยพิบัติในพื้นที่ใดของอาเซียนและประเทศคู่เจรจา
“ผมรู้สึกภูมิใจที่ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางช่วยเหลือพิบัติและการแพทย์ทหาร โดยได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีกับมิตรประเทศทั้ง 18 ประเทศ และคาดหวังต่อไปในอนาคตเราจะทำให้การฝึกในครั้งนี้เป็นสากลมากขึ้น และที่สำคัญที่สุดคือความร่วมมือระหว่างประเทศอาเซียนและประเทศคู่เจรจา แม้แต่ประเทศรัฐเซีย ที่อยู่ห่างไกลยังส่งยุทโธปกรณ์มาร่วมฝึก รวมถึงประเทศญี่ปุ่นด้วย นับว่าประเทศไทยเป็นสากล มีแต่คนไทยที่ต้องช่วยเหลือดูแลกันให้เกิดความเจริญให้กับประเทศไทย” พล.อ.ประวิตร กล่าวต่อว่า
ส่วนแผนการจัดซื้อยุทโธปกรณ์ เพื่อรองรับการช่วยเหลือภัยพิบัติ นั้นทางอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย ที่มาร่วมงานในวันนี้ จะไปพิจารณาและประสานงานกับกองบัญชาการกองทัพไทยและเหล่าทัพเพื่อดูว่าอะไรที่สามารถบูรณาการร่วมกันได้ เพื่อช่วยเหลือภัยพิบัติต่างๆที่จะเกิดขึ้นในอนาคต