วันที่ 15 ก.ย.63 : พ.ต.อ.เชิงรณ ริมผดี รอง ผบก.ตม.2 ในฐานะ รองโฆษก สตม. เปิดเผยกรณีมีการโพสต์ Twitter ของผู้ใช้รายหนึ่ง เมื่อวันที่ 11 ก.ย.63 เป็นข้อความในทำนองว่า “เมื่อวานไปหาเพื่อนที่สุวรรณภูมิ แต่ละไฟล์ จะมีคนไทยกลับจากต่างประเทศ แต่แค่เพียง 20% เท่านั้น 80% เป็นชาวต่างชาติที่บินมาเพื่อหาหมอที่ รพ.ดังแถวนานา จำนวนมาก คนกลุ่มนี้จ่ายเงินมหาศาลให้กับรัฐโดยไม่กักตัว”
พ.ต.อ.เชิงรณฯ ชี้แจงว่า ปัจจุบันผู้ที่สามารถเดินทางเข้าราชอาณาจักรได้ คือ คนไทยที่เดินทางกลับประเทศ ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศกำหนดโควต้าไว้วันละ 600 คน ตามความสามารถในการคัดกรองและการกักตัวในสถานที่ซึ่งรัฐจัดให้ (SQ) และคนต่างชาติที่ได้รับอนุญาต ซึ่งต้องเป็นผู้ที่ต้องจ่ายเงินค่ากักตัวเอง (ASQ,AHQ)
สำหรับกรณีคนต่างชาติที่ได้รับอนุญาตให้เดินทางเข้าราชอาณาจักรได้ดังกล่าว จะต้องเป็นบุคคลที่อยู่ในกลุ่มประเภทที่อนุญาตตามข้อกำหนดซึ่งออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ กำหนด อาทิ คนต่างชาติที่มีใบอนุญาตทำงาน คนต่างชาติที่มีครอบครัวเป็นคนไทย คนต่างชาติที่มีใบสำคัญถิ่นที่อยู่ นักเรียน นักศึกษา ตลอดจนผู้ที่มีความจำเป็นต้องเข้ามารักษาพยาบาล แต่ไม่ใช่การรักษาโควิด-19 เป็นต้น
โดยคนต่างชาติที่เข้าเงื่อนไขซึ่งประสงค์จะเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร ก่อนเดินทางจะต้องลงทะเบียนเพื่อยื่นขอหนังสือรับรองการอนุญาตให้เข้าประเทศ (COE) ต่อสถานทูตไทยในต่างประเทศ,ขอวีซ่าถูกต้องตามวัตถุประสงค์ที่จะเดินทางเข้ามา โดยต้องแสดงหลักฐานการจองสถานที่กักตัวต่อสถานทูต และต้องมีกรมธรรม์ประกันสุขภาพซึ่งมีวงเงินค่ารักษาไม่น้อยกว่า 100,000 เหรียญสหรัฐ ครอบคลุมตลอดระยะเวลาที่พำนักในราชอาณาจักร อีกทั้งต้องมีหลักฐานรับรองว่าไม่มีเชื้อโควิด-19 ซึ่งออกไม่เกิน 72 ชั่วโมงก่อนเดินทาง และเมื่อเดินทางถึงสนามบินสุวรรณภูมิ จะยื่นเอกสารทั้งหมดและกรอกเอกสาร ต.8 ต่อเจ้าหน้าที่ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ เพื่อตรวจสอบเอกสารและระบุสถานที่กักตัว จากนั้นจึงจะมาตรวจอนุญาตเข้าประเทศตามสิทธิกับเจ้าหน้าที่ ตม.
หลังจากนั้นจะมีเจ้าหน้าที่ตำรวจสภ.สุวรรณภูมิ,เจ้าหน้าที่ทหาร และ เจ้าหน้าที่ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ พาผู้โดยสารต่างชาติดังกล่าวไปรับกระเป๋าและกำหนดให้เดินเป็นแถวออกทางประตู 9 ของสนามบินเท่านั้น ซึ่งมีรถของโรงแรมหรือโรงพยาบาลมารับไปสถานที่กักตัว ซึ่งกระบวนการทุกขั้นตอนที่กล่าวมาข้างต้น ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้บูรณาการการปฏิบัติร่วมกันภายใต้การกำกับดูแลของศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉิน ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (EOC ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ) ในการควบคุม คัดกรองคนต่างชาติที่เดินทางเข้ามาตามความจำเป็นดังกล่าวให้เข้าสู่การกักตัวทุกราย รวมถึงคนต่างชาติที่จำเป็นต้องเข้ามารักษาพยาบาล ซึ่งในหนังสือรับรองการอนุญาตให้เดินทางเข้าราชอาณาจักรได้ (COE) ที่ออกโดยสถานทูตต้นทางจะระบุว่าให้กักตัวที่โรงพยาบาลใด ก็จะต้องมีเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลนั้น มารับเพื่อไปกักตัวที่โรงพยาบาลไม่น้อยกว่า 14 วัน เช่นเดียวกัน
ในปัจจุบัน นับตั้งแต่มีมาตรการกักตัวคนไทยที่เดินทางกลับ ตั้งแต่ 4 เม.ย.63 และนับตั้งแต่มีการผ่อนคลายให้คนต่างชาติที่มีความจำเป็นต้องเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร มีสถิติคนไทย เดินทาง จำนวน 49,696 คน คิดเป็น 79.98% คนต่างชาติ จำนวน 12,441 คน คิดเป็น 20.02% โดยคนต่างชาติดังกล่าวเป็นบุคคลที่มีความจำเป็นเพื่อเข้ามารักษาพยาบาล 367 คน และสำหรับวันที่ 10 ก.ย.63 มีคนไทยเดินทางเข้ามาทางสนามบินสุวรรณภูมิ จำนวน 690 คน ต่างชาติ จำนวน 479 คน มีชาวต่างชาติเป็นผู้เข้ามารักษาพยาบาลจำนวน 10 คน ซึ่งทุกคนได้เข้ารับการกักตัวในโรงพยาบาลที่กำหนดไม่น้อยกว่า 14 วัน ทุกราย
ขอเรียนว่า จากข้อมูลสถิติผู้ที่เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรปัจจุบัน ยังเป็นคนไทยมากกว่าคนต่างชาติ ซึ่งทุกคนต้องเข้ารับการกักตัวตามมาตรการที่กำหนดทุกราย เพื่อการควบคุม ป้องกัน การนำเชื้อไวรัสโควิด-19 จากต่างประเทศเข้ามาระบาดในประเทศไทยอย่างจริงจังตามนโยบายของรัฐบาล
สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน