4 ก.ย.59 — ภายหลังจากเดินทางถึงนครหางโจว สาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อเข้าร่วมการประชุมผู้นำกลุ่ม 20 (G20) พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวแสดงวิสัยทัศน์ในการประชุมฯ วาระที่ 1 หัวข้อ “การประสานนโยบายและแนวทางการพัฒนาใหม่ ๆ เพื่อการเติบโตของเศรษฐกิจโลก (Strengthening Policy Coordination and Breaking a New Path for Growth)
โดยพลตรี วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรี กล่าวขอบคุณรัฐบาลจีนที่เชิญไทยในฐานะประธาน G77 เข้าร่วมการประชุมครั้งนี้ ซึ่งตรงกับเป้าหมายของการประชุมที่ให้ความสำคัญกับวาระการพัฒนา และบทบาทที่สร้างสรรค์ของจีนในการสร้างสะพานเชื่อมระหว่าง G20 และ G77 ซึ่งสอดคล้องกับแนวนโยบายของไทยเช่นกัน พร้อมทั้งแสดงความชื่นชมจีนและสหรัฐฯ ที่แสดงบทบาทนำในเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกโดยบรรลุข้อตกลงในการรับรองข้อตกลงปารีส ซึ่งเป็นข่าวดีสำหรับทั่วโลกโดยเฉพาะกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาที่เป็นเกาะขนาดเล็ก (Small Island Developing States: SIDS)
นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ในสภาวะที่เศรษฐกิจโลกชะลอตัว และเผชิญกับความท้าทายในหลากมิติ ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันมากขึ้นโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ด้วยการผนึกกำลังสร้างความร่วมมือรูปแบบใหม่เพื่อเป็น “ยานยนต์แห่งศตวรรษที่ 21” ขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกสู่แนวทางการพัฒนาใหม่ (New Path of Growth)ต้องกล้าคิดนอกกรอบและก้าวข้ามเส้นแบ่งในรูปแบบเดิม ๆ เพื่อสร้างหุ้นส่วนระดับโลก ที่ไม่จำกัดรูปแบบของความร่วมมือทั้งเหนือ-ใต้ ใต้-ใต้ และไตรภาคี โดยเฉพาะการพึ่งพาซึ่งกันและกันระหว่างประเทศพัฒนาแล้วและประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งเป็นวาระที่ไทยเน้นย้ำในฐานะประธานกลุ่ม G77
ในการผลักดันความร่วมมือใหม่เพื่อการเติบโตของเศรษฐกิจโลก ต้องลงมือทำใน 3 ส่วน ดังนี้
หนึ่งการประสานนโยบายและความร่วมมือเพื่อให้โอกาสและทางเลือกและไม่ปิดกั้นประเทศกำลังพัฒนา ที่จะต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างความเชื่อมั่นเกี่ยวกับการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจที่สำคัญของโลก จะมีการเชื่อมโยง มีความสมดุล และส่งเสริมซึ่งกันและกัน ขณะเดียวกันก็คงไว้ซึ่งพื้นที่สำหรับรัฐบาลใช้มาตรการที่เหมาะสมในการบริหารเศรษฐกิจของตนด้วย
สองการให้ความสำคัญกับการปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจจากภายใน ได้แก่ 1) พัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ผ่านการปฏิรูประบบการศึกษาทุกระดับชั้นและการพัฒนาทักษะกำลังคนให้ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดแรงงาน 2) พัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม โดยการส่งเสริมการเรียนรู้ ในทุกระดับการศึกษา สนับสนุนการวิจัยและพัฒนา และสร้างแรงจูงใจให้ภาคเอกชนสร้างนวัตกรรม โดย G20 ควรร่วมกับ G77 แสวงหาจุดแข็งและศักยภาพของแต่ละประเทศ เพื่อสร้างห่วงโซ่คุณค่าร่วมกัน ตลอดจนร่วมกันพัฒนาสินค้าจากทรัพยากรและภูมิปัญญาท้องถิ่นที่หลากหลายของ G77 สร้างแบรนด์ของภูมิภาค ขยายโอกาสตลาดสินค้าและตลาดแรงงานใหม่ ๆ ในกลุ่ม G77 ที่จะสามารถช่วยนำโลกออกจากภาวะเศรษฐกิจชะงักงันในปัจจุบัน
สามสนับสนุนทุกภาคส่วนให้เข้ามามีส่วนร่วม ผ่านกลไกประชารัฐ ประกอบด้วยภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม เพื่อสร้างความเข้มแข็งของสังคมจากภายใน ให้ทุกภาคส่วนได้มีส่วนร่วมในการกำหนดและขับเคลื่อนนโยบายร่วมกัน ลดความเหลื่อมล้ำและความอยุติธรรมในสังคม
นายกรัฐมนตรียังได้กล่าวถึงการเร่งรัดดำเนินการแก้ไขปัญหาภายในประเทศซึ่งอยู่ภายใต้ Roadmap ที่กำหนดไว้ ขณะนี้ประเทศไทยกำลังเดินหน้าเข้าสู่การเลือกตั้งในปี 2560 เพื่อการเป็นรัฐประชาธิปไตยที่มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนทั้งนี้ ไทยสนับสนุนวาระการปฏิรูปของ G20 (G20 Structural Reform Priorities) ซึ่งเน้นการสร้างการเติบโตที่เข้มแข็ง ยั่งยืน และสมดุล ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางตามแผนยุทศาสตร์ชาติ 20 ปีของไทยเช่นกัน
ในฐานะตัวแทนของ G77 นายกรัฐมนตรีเรียกร้องให้ G20 ร่วมมือร่วมใจ โดยอาศัยประสบการณ์ และทรัพยากร ที่มีอยู่ เพื่อขับเคลื่อนยานยนต์ใหม่ที่จะนำพาโลกไปสู่แนวทางการพัฒนาใหม่ อย่างยั่งยืนโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ดังคำกล่าวที่ว่า แข็งแกร่งไปด้วยกัน (Stronger Together)