กรมการรถไฟญี่ปุ่น พบรมว.คมนาคม หารือโครงการรถไฟความเร็วสูง เส้นทางกรุงเทพฯ-พิษณุโลก-เชียงใหม่ มูลค่า 4.4 แสนล้าน คาด ต.ค.-พ.ย.นี้จะสรุปครั้งสุดท้าย ก่อนรายงาน ครม.พร้อมขอความช่วยเหลือจาก “ไจก้า” ศึกษาการพัฒนาที่ดินเชิงพาณิชย์
ที่กระทรวงคมนาคม เมื่อวันที่ 2 ก.ย. 2559 กรมการรถไฟของญี่ปุ่นเข้าพบ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม เพื่อประชุมหารือร่วมคณะทำงานระหว่างไทย-ญี่ปุ่น ของโครงการรถไฟความเร็วสูงเส้นทางกรุงเทพฯ-พิษณุโลก-เชียงใหม่ ระยะทาง 669 กม. วงเงินประมาณ 440,000 ล้านบาท
รมว.คมนาคม กล่าวว่า ขณะนี้การทำผลการศึกษาใกล้จะแล้วเสร็จ และคาดว่าในช่วงเดือน ต.ค.-พ.ย.2559 จะส่งรายงานครั้งสุดท้าย ก่อนที่จะรายงานขออนุมัติโครงการจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งในการหารือร่วมกันที่มีการแบ่งการดำเนินการพัฒนาโครงการเป็น 2 ระยะได้แก่ ระยะแรกช่วงเส้นทางกรุงเทพฯ-พิษณุโลก และระยะที่ 2 ช่วงเส้นทางพิษณุโลก-เชียงใหม่ โดยในส่วนของเส้นทางกรุงเทพฯ-พิษณุโลก
ทั้งนี้ประเด็นทางด้านเทคนิคที่ไทยจะต้องพิจารณาตัดสินใจคือ 1.ทางญี่ปุ่นเสนอให้ฝ่ายไทยศึกษาการใช้สถานีกลางบางซื่อที่เป็นศูนย์กลางการ เชื่อมต่อระบบรางที่ต้องรองรับรถจากหลายโครงการจึงต้องมีการแบ่งการใช้ราง ให้เหมาะสมเพราะความถี่ของการเดินรถสัมพันธ์กับการใช้ประโยชน์ของราง
2.ให้ศึกษาการใช้งานสถานีดอนเมือง ที่นอกจากจะต้องรองรับรถในหลายเส้นทางแล้วยังมีพื้นที่จำกัดมากอาจจำเป็นที่ จะต้องทำการยกระดับขึ้น 3.สถานีอยุธยา ที่มีรัศมีทางโค้ง โดยสถานีแห่งนี้จะรองรับรถไฟในเส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ และเส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมาด้วย จึงจะต้องศึกษาการใช้งานของโครงการที่เหมาะสม ส่วนประเด็นทางด้านเทคนิคที่จะต้องให้ไทยพิจารณาตัดสินใจและได้มีการมอบหมาย ให้ทาง การรถไฟแห่งประเทศไทย(ร.ฟ.ท.) ลงพื้นที่ตรวจสอบสภาพข้อเท็จจริงและจัดสรรเส้นทางดังกล่าวให้เรียบร้อย
“ให้การรถไฟฯเป็นคนกลาง เพราะว่าเป็นเจ้าของพื้นที่ จะต้องแบ่งพื้นที่เพื่อให้รถไฟสายกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ และเส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมา เข้าผ่านอยุธยาได้ คงน่าจะใช้เวลาสัก 1-2 สัปดาห์ แต่ก็ได้มีการระบุจุดที่เป็นปัญหาตรงนี้แล้ว คาดว่าน่าจะให้ระยะเวลา 1-2 สัปดาห์ และรายงานขั้นสุดท้ายของญี่ปุ่นก็น่าจะเป็นช่วง ต.ค.-พ.ย.” รมว.คมนาคม กล่าว
ส่วนเรื่องของรายงานความเหมาะสมนั้นทางไทยได้ชี้จุดที่จะมีการพัฒนาสถานีที่จะพัฒนาทั้ง อยุธยา นครสวรรค์ พิษณุโลก ซึ่งจะเป็นจุดเชื่อมกับทางรถไฟระเบียงเศรษฐกิจ EWCD และแหล่งท่องเที่ยวที่จะป้อนนักท่องเที่ยวเข้า โดยทางญี่ปุ่นก็ได้มีการประเมินในส่วนของตัวเลข” นายอาคม กล่าว
รมว.คมนาคม กล่าวว่า ในการพัฒนาที่ดินได้มีการขอความช่วยเหลือจากองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (Japan International Cooperation Agency : JICA)ทำการศึกษาแนวทางการพัฒนาพื้นที่ควบคู่ไป-กลับ โดยทาง JICA จะหางบประมาณในการช่วยเหลือและจัดหาที่ปรึกษาที่มีประสบการณ์ในการวางแผน เรื่องการพัฒนาพื้นที่
ส่วนที่ตั้งของสถานีนั้นได้มีการปรับในหลายจุด เนื่องจากมีสถานีหลายจุดที่มีความแออัดมากไม่สามารถพัฒนาตัวสถานีได้ก็จะมีการขยับตัวสถานีออกไปซึ่งรวมถึงเส้นทางกรุงเทพฯ-ระยอง, เส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมา, เส้นทางกรุงเทพฯ-หัวหิน ด้วย
สำหรับประเด็นการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ตามสถานีใหญ่ 3 สถานี เช่น อยุธยา นครสวรรค์ และพิษณุโลก เพื่อให้เห็นภาพของการลงทุนและความคุ้มค่าเนื่องจากโครงการดังกล่าวเป็น โครงการที่ต้องลงทุนในมูลค่าสูง อาจจะขยับสถานีในการออกแบบได้มีการกำหนดไว้ เช่น สถานีในช่วง บริเวณปากช่อง สระบุรี หัวหินก็จะไม่ใช่สถานีเดิมแต่จะมีการขยับออกไป เพราะพื้นที่สถานีเดิมจำกัด อย่างไรก็ตาม โครงการรถไฟความเร็วสูงเส้นทางกรุงเทพฯ-พิษณุโลก-เชียงใหม่ ช่วงกรุงเทพฯ-พิษณุโลก ทางญี่ปุ่นจะมีการเสนอผลการศึกษาภายในสิ้นปีนี้และในปี 2560 จะเป็นในส่วนของแผนการดำเนินการออกแบบรายละเอียดโดยเป็นไปตามแผนที่ได้ตกลง ร่วมกัน
ด้าน นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร(สนข.) กล่าวว่า โครงการเส้นทางกรุงเทพฯ-พิษณุโลก-เชียงใหม่ มีหลายสถานีใช้ที่เดิมเนื่องจากต้องการให้ประชาชนใช้บริการรถไฟความเร็วสูง ได้ง่ายแต่ก็มีบางสถานีที่มีการขยับออกไปจากสถานีเดิมเนื่องจากการที่ เอกชนเข้าร่วมลงทุน(PPP)ในสถานีบางแห่งหากใช้สถานีเดิมจะไม่คุ้มค่าในการลงทุน จึงได้มีการเสนอแนวคิดในการให้เอกชนลงทุนทั้งในส่วนของการพัฒนาพื้นที่ การก่อสร้างโยธา และสัมปทานการเดินรถ