ย้อนไปในอดีต 11 ส.ค. 2544 เวลา 03.00 น.19 ปีเต็ม เหตุการณ์วิปโยค หลังจากฝนตกอย่างหนักราวกับฟ้ารั่ว ที่บ้านน้ำก้อ ตำบลน้ำก้อ อำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์ ได้เกิดกระแสน้ำป่าอันเชี่ยวกราก พัดเอาบ้านที่อยู่ในรัศมีทางน้ำของชาวบ้านที่กำลังนอนหลับใหล พัดหายไปทั้งหลัง ทั้งหมู่บ้านราบเป็นหน้ากลอง ด้วยฤทธิ์น้ำป่าที่หอบเอามาทั้งดินโคลน และซากต้นไม้ กิ่งไม้ อย่างถอนรากถอนโคน เช้าวันรุ่งขึ้นหน่วยกู้ภัยเข้าเคลียร์พื้นที่ สิ่งที่พบเห็นล้วนเป็นภาพแห่งความสลดหดหู่ เพราะมีแต่ซากปรักหักพัง และถูกทับด้วยต้นไม้ กิ่งไม้ และดินโคลน และเต็มไปด้วยศพ นับรวมเป็นจำนวนมากมายถึง 136 ศพ และมีผู้บาดเจ็บ 109 คน สูญหาย 4 คน บ้านเรือนเสียหายทั้งหลัง 188 หลัง บ้านเรือนเสียหายบางส่วน 441 หลัง คิดเป็นมูลค่าความเสียหายรวม 645 ล้านบาท ซึ่งยอดคนตายอาจประมาณค่ามิได้ จนเป็นภาพติดตาติดใจจนไม่อาจจะลืมได้
หลังจากสถานการณ์สงบลง สิ่งที่เห็นเป็นรูปธรรม นอกเหนือจากการเยียวยาผู้ประสบเคราะห์กรรม ตามระเบียบของทางราชการ ภาคประชาสังคมได้นำเสนอต่อทางจังหวัดเพชรบูรณ์ พร้อมทั้งได้จัดเวทีระดมความคิดเห็น เชิญอาจารย์ปราโมทย์ ไม้กลัดมาให้ความรู้ การแก้ไขมีการสำรวจพื้นที่เสี่ยงภัย ซึ่งเป็นทางน้ำไหลจากภูเขาที่ล้อมรอบพื้นที่จังหวัดเพชรบูรณ์ พบว่ามีพื้นที่เสี่ยงภัยกว่า 160 จุด การแก้ไขระยะเร่งด่วน มีการเจาะถนนที่ขวางทางน้ำกว่า 414 แห่ง ระยะยาวสร้างอ่างเก็บน้ำกว่า 9 แห่ง นี่คือผลพวงจากเหตุการณ์วิกฤติที่เกิดขึ้น ซึ่งการแก้ไขคิดว่ายังไม่เพียงพอ
จวบจนถึงวันนี้ กว่า 19 ปีเศษ มันคงจะเอาอะไรคืนไม่ได้ ทั้งชีวิตผู้คนที่ล้มตาย พ่อแม่พี่น้องต้องจากกันด้วยฤทธิ์ของพายุในครั้งนี้ แต่สิ่งที่น่าจะทำได้คือ การถอดบทเรียน เป็นการระวังป้องกัน เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ท้องถิ่น แกนนำหมู่บ้าน ที่อยู่ในพื้นที่เสียง มาร่วมถอดบทเรียน ซึ่งพวกเราพอทราบสาเหตุที่เหตุการณ์ที่บ้านน้ำก้อ มีความรุนแรง ก็เพราะมีการสร้างชุมชนซึ่งอยู่ห่างจากไหลเขาเพียงไม่กี่กิโลเมตร ดังนั้นเมื่อเกิดฝนตก การพังทลายของดินจากภูเขา ปริมาณน้ำหลากผสมโคลนต้นไม้ ตอไม้ จะใช้เวลาเดินทางประมาณ 6- 10นาทีก็จะถึงบริเวณหมู่บ้าน ประกอบกับเหตุการณ์เกิดขึ้นเวลาประมาณตี3ซึ่งเป็นเวลาหลับนอนอย่างสนิทความสูญเสียจึงมาก โครงสร้างอาคารจึงไม่สามารถต้านแรงกระแทกน้ำได้
วันนี้ชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่เชิงเขา และเป็นพื้นที่เสี่ยงรอบๆจังหวัดเพชรบูรณ์ จากเหนือจดใต้ ตะวันออกจดตะวันตก ยังหวาดผวา และมีข่าวน้ำจากภูเขาไหลทะลักท้วมหมู่บ้าน สร้างความเสียหาย ซึ่งหากทางราชการที่เกี่ยวข้องจะดำเนินการถอดบทเรียน โดยใช้หลักวิชาการ และการมีส่วนร่วมของชุมชนท้องถิ่น ก็น่าจะเป็นการสร้างความมั่นใจในวิถีชีวิตของประชาชน เพราะเราไม่ทราบว่าจะมีเหตุการณ์วิปโยคเกิดขึ้นอีกเมื่อไหร่ / สุขสัณห์ ภิชัย