นักบรรพชีวินวิทยาค้นพบเทอโรซอร์ชนิดใหม่ เคยมีชีวิตในทวีปอเมริกาเหนือเมื่อ 77 ล้านปีก่อน จุดเด่นคือมีขนาดเท่าแมว หักล้างทฤษฎีที่ว่าปลายยุคครีเทเชียสมีแต่สัตว์เลื้อยคลานบินได้ตัวโตๆ
รายงานวิจัยตีพิมพ์ในวารสาร Open Science บอกว่า คณะนักบรรพชีวินวิทยาพบซากอายุ 77 ล้านปีของเทอโรซอร์จำพวกตัวเล็กชนิดหนึ่ง ที่เกาะฮอร์นบี มลรัฐบริติชโคลัมเบีย นับเป็นชนิดที่มีความแปลก เพราะในช่วงปลายยุคครีเทเชียสนั้น เคยพบแต่ฟอสซิลของเทอโรซอร์ตัวใหญ่กับนก
เจ้าตัวที่พบเมื่อปี 2552 นี้ มีวงปีกกว้าง 1.5 เมตร ในขณะที่เทอโรซอร์ส่วนใหญ่ในยุคนั้นมีวงปีกกว้าง 4-11 เมตร ทั้งนี้ เทอโรซอร์ชนิดใหม่ดังกล่าวเป็นพวกปีกสั้นและไม่มีฟัน
เอลิซาเบธ มาร์ติน-ซิลเวอร์สโตน มหาวิทยาลัยเซาแธมป์ตัน หัวหน้าทีมวิจัย บอกว่า การค้นพบครั้งนี้น่าตื่นเต้นทีเดียว เพราะบ่งชี้ว่าเทอโรซอร์จำพวกตัวเล็กยังมีอยู่จนสิ้นสุดปลายยุคครีเทเชียส ไม่ได้ถูกพวกนกเบียดขับ
แม้สภาพของฟอสซิลจะแตกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย แต่ถือเป็นตัวอย่างแรกของเทอโรซอร์พันธุ์เล็กในช่วงปลายยุคครีเทเชียส
มาร์ค วิทตัน แห่งมหาวิทยาลัยพอร์ธสมัต นักวิจัยร่วม บอกว่า เจ้าตัวนี้เป็นตัวที่โตเกือบเต็มวัยแล้ว ไม่ใช่ลูกเทอโรซอร์ หรือเทอโรซอร์วัยอ่อน นับเป็นหลักฐานที่ว่า ช่วงปลายยุคครีเทเชียสไม่ได้มีแต่เทอโรซอร์ยักษ์ แต่ยังมีพวกพันธุ์เล็กดำรงชีพอยู่ด้วย.