(จ.สุรินทร์) เมื่อวันที่ 11 ส.ค. 63 ที่ผ่านมา – หน่วยงานราชการจากหลายภาคส่วน ประกอบด้วย เจ้าหน้าที่สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาค 11 นครราชสีมา, ประมงจังหวัดสุรินทร์, ฝ่ายปกครองอำเภอเมืองสุรินทร์, สาธารณสุขจังหวัดสุรินทร์, ชลประทาน และเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์จังหวัดสุรินทร์ ลงพื้นที่ตรวจสอบบริเวณฟาร์มหมูศิริวรรณ
จากกรณีที่ชาวบ้าน 3 ตำบล ประกอบด้วย ตำบลคอโค ตำบลนอกเมือง และตำบลท่าสว่าง อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์ กว่า 100 คน นำโดย นายชุมพร เรืองศิริ ผู้ใหญ่บ้านแสงตะวัน ม.4 ต.คอโค อ.เมืองสุรินทร์ จ.สุรินทร์ รวมตัวยื่นหนังสือร้องเรียนขอความเป็นธรรมให้ผู้ว่าราชการ จ.สุรินทร์ เร่งแก้ไขปัญหากรณีได้รับความเดือดร้อนจากฟาร์มหมูศิริวรรณ ซึ่งเป็นฟาร์มหมูขนาดใหญ่ ตั้งอยู่ หมู่ที่ 5 บ้านสนายดวจ (สะ-น๋าย-ดวด) ตำบลคอโค อำเภอเมืองสุรินทร์ จังหวัดสุรินทร์ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2553 ถึงปัจจุบัน ปล่อยน้ำเสียจากฟาร์มหมูลงสู่ลำน้ำห้วยเสนง และส่งกลิ่นเหม็นกระจายเป็นวงกว้าง ทำให้ประชาชนเกิดความเดือนร้อนรำคาญเป็นอย่างมาก รวมระยะเวลาเกือบ 10 ปี
ทั้งนี้เจ้าหน้าที่และสื่อมวลชนได้เข้าตรวจสอบภายในฟาร์มหมูศิริวรรณ จุดบ่อบำบัดน้ำเสีย และบ่อพักน้ำ ซึ่งเป็นระบบบริหารจัดการแบบไม่ได้นำน้ำที่บำบัดแล้วออกสู่ภายนอก ฟาร์มจะนำน้ำที่บำบัดแล้วมาใช้ประโยชน์ภายในฟาร์ม โดยเจ้าหน้าที่สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาค 11 นครราชสีมา ได้นำน้ำจากบ่อหน่วงบ่อสุดท้ายที่ผ่านบำบัดแล้วมาตรวจสอบค่าความเป็นกรดเป็นด่างในเบื้องต้น ได้ค่า 8.1 ซึ่งถือว่าสูงแต่ยังไม่อันตรายซึ่งค่ามาตรฐานจะอยู่ที่ 5-9 หมายความว่า ค่าต้องไม่ต่ำกว่า 5 และ สูงไม่เกิน 9 จากนั้นจะนำไปเข้าห้องแล็ปตรวจสอบอีกครั้ง จะรู้ผลภายในหนึ่งสัปดาห์ และจากการตรวจสอบบ่อน้ำเสียบ่อแรกยังไม่พบการรั่วซึมออกมาภายนอกฟาร์ม ส่วนการวัดค่าของน้ำที่ปลายน้ำพื้นที่บ้านแสงตะวัน ต.คอโค วัดความหนาแน่นของน้ำได้ 112 ของสะสารที่อยู่ในน้ำ ยังไม่เกินค่าที่กำหนด
เจ้าหน้าที่สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาค 11 นครราชสีมา เปิดเผยว่า เมื่อปี 61 มีการร้องเรียนเรื่องลำน้ำห้วยเสนง เน่าเสีย ปลาตาย หลังมีการร้องเรียนก็ได้ประสาน ทสจ. เข้ามาตรวจสอบในฟาร์มแห่งนี้ที่บ่อบำบัดน้ำเสียที่มีประตูระบายน้ำกั้น ระหว่างบ่อบำบัดน้ำเสียกับทางลงไปยังลำห้วยเสนง ปรากฏว่าฝังตรงข้ามที่ทางลงลำห้วยเสนงพบการรั่วออกมาจากบ่อ ก็ได้มีการเก็บตัวอย่างน้ำที่ระบายออกมาไปตรวจสอบและวิเคราะห์ พบว่าเกินค่ามาตรฐานที่กระทรวงกำหนด จึงดำเนินการด้านการทางปกครองโดยให้ดำเนินการแก้ไข ก็ผ่านมาระยะหนึ่ง เมื่อครบกำหนด ก็ได้ประสานทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาติดตามว่ามีการดำเนินการแก้ไขอย่างไร โดยทางฟาร์มมีการปรับปรุงโดยมีความประสงค์ว่าจะเก็บน้ำไว้ไม่มีการระบายน้ำออกไปสู่ภายนอก แล้วมีการขุดบ่อเพิ่ม แล้วเปลี่ยนทิศทางการไหลของน้ำ หลังจากปรับปรุงแล้วตรวจสอบก็ยังพบว่ามีน้ำรั่วซึมออกมาจากขอบบ่อบางส่วน แต่ก็ได้ทำบ่อหน่วงกักเก็บไว้ เพื่อไม่ให้ไหลออกสู่ภายนอก ซึ่งยังอยู่ในบริเวณของฟาร์ม และไม่ได้ไหลลงสู่ลำห้วยเสนงอีกต่อไป แล้วมีการสูบน้ำจากบ่อหน่วงมาใช้ประโยชน์ แต่ก็มีความเสี่ยง เพราะว่าหากไม่มีการนำไปใช้ก็จะทำให้น้ำที่บำบัดในบ่อหน่วงอาจล้นและไหลออกไปได้ แต่ก็ได้มีการเข้ามาเก็บตัวอย่างน้ำในบ่อหน่วงมาตรวจสอบอีกถึง 2 ครั้งในช่วงเดือนกันยายนและตุลาคมปี 62 ที่ผ่านมา ปรากฏว่าน้ำในบ่อหน่วงยังคงผ่านค่ามาตรฐาน แต่ก็ต้องยังเฝ้าระวัง
การลงพื้นที่ในวันนี้เป็นการมาติดตามผลว่าค่าน้ำยังได้มาตรฐานหรือไม่ การแก้ไขของทางฟาร์มเองไปถึงไหนแล้ว เพื่อไม่น้ำในฟาร์มรั่วไหลออกไป ซึ่งทางฟาร์มก็แจ้งว่าในขณะนี้น้ำในบ่อบำบัดมีมาก ยังไม่สามารถที่จะซ่อมแซมอะไรได้ แต่ที่แน่ๆไม่พบมีการไหลหรือรั่วออกไปยังภายนอก ยังอยู่ในพื้นที่ของฟาร์ม แต่ก็จะเฝ้าระวังไว้จนกว่าจะแน่ใจไม่มีการรั่วซึมออกไป ส่วนในเรื่องกลิ่นเหม็นจากฟาร์มหมู ต้องให้ทางด้านหน่วยงานปศุสัตว์,สาธารณสุข และ อบต.คอโค เข้ามาดำเนินการตรวจสอบถึงขั้นตอนขบวนการเลี้ยง ว่าฟาร์มดำเนินการถูกต้องตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดหรือไม่ รวมถึงการแก้ไขปัญหาที่เกิดจากมลภาวะที่ส่งผลกระทบต่อชาวบ้านที่มีการร้องเรียนเข้ามา
ณัฐพัชร์ บุญมี ศูนย์ข่าว 5 เหล่าทัพ อีสานใต้ (จ.สุรินทร์) / รายงาน