ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่บริเวณศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงอำเภอวังโป่ง ทางสำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอวังโป่ง , ประมงอำเภอวังโป่ง , เกษตรอำเภอวังโป่ง ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นำท้องที่ และกลุ่มเกษตรอินทรีย์อำเภอวังโป่ง ในนาม “คนหัวใจอินทรีย์อำเภอวังโป่ง” ได้พร้อมใจกันร่วมสืบสานประเพณี ลงแขกถอนกล้าและดำนา เพื่ออนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีอันเก่าแก่ในการประกอบอาชีพเกษตรกรรม ซึ่งชาวนาถือเป็นกระดูกสันหลังของชาติ ให้คงอยู่สืบต่อไป
โดยจัดขึ้น ณ บริเวณศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงอำเภอวังโป่ง ของนายวินัย สีมาก อายุ 61 ปี เกษตรกรหมู่ที่ 11 บ้านวังหินเหนือ ตำบลวังหิน อำเภอวังโป่ง จังหวัดเพชรบูรณ์ ในพื้นที่ราว 20 ไร่ โดยพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นการปลูกพืชผักแบบผสมผสาน เลี้ยงไก่ เลี้ยงปลา ทำสวนผลไม้ เพื่อเป็นต้นแบบของการทำ “โคกหนองนาโมเดลของอำเภอวังโป่ง” และในกิจกรรมลงแขกดำนาในวันนี้ ได้ใช้พื้นที่ดำนาปลูกข้าว จำนวน 8 ไร่ แยกเป็น ปลูกข้าวเหนียวพันธุ์ กข 6 จำนวน 4 ไร่ และปลูกข้าวจ้าวหอมมะลิ 105 อีกจำนวน 4 ไร่
ซึ่งบรรยากาศภายในงานวันนี้ นอกจากทุกคนจะร่วมแรงร่วมใจกันลงแขกถอนกล้าและดำนากันอย่างแข็งขันแล้วนั้น ยังพบว่ามีอีกหนึ่งสีสัน ที่กลายเป็นไฮไลท์สำคัญ จนเรียกเสียงฮือฮาและสร้างรอยยิ้มเป็นอย่างมาก เมื่อมีชาวบ้านและเจ้าหน้าที่หน่วยงานราชการ ที่ไม่ได้จัดเตรียมชุดมาลงโคลนในครั้งนี้ แต่ด้วยหัวใจของลูกชาวนา แม้จะสวมใส่ผ้าถุง สวมใส่เสื้อหม้อฮ้อม และชุดกระโปรงหลากหลายสีสัน ก็ไม่อาจขวางกิจกรรมในวันนี้ได้ ต่างพร้อมใจกันลุยโคลน ร่วมลงแขกถอนกล้าและดำนา ท่ามกลางสายฝนที่ชุ่มฉ่ำตลอดทั้งวันจนแล้วเสร็จ และโดยเฉพาะ น้องเบล เด็กหญิงแทนธารา ศรีสังข์ ลูกสาวของประมงอำเภอวังโป่ง ก็ได้ร่วมกิจกรรมลงแขกดำนาเป็นครั้งแรก ด้วยความสนุกสนานตามประสาเด็ก เป็นการปลูกฝังเรียนรู้ประเพณีการทำนาแบบดั้งเดิม ให้น้องเบลสืบทอดและเติบโตเป็นเกษตรกรรุ่นเยาว์ในอนาคตต่อไป
สอบถาม นายวินัย สีมาก อายุ 61 ปี เจ้าของศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงอำเภอวังโป่งแห่งนี้ เปิดเผยว่า จัดตั้งศูนย์ฯ แห่งนี้ มาตั้งแต่ปี 2558 โดยทำเกษตรแบบพอเพียงนับจากนั้นเป็นต้นมา และได้ทำกิจกรรมลงแขกดำนา มาอย่างต่อเนื่อง โดยจะเริ่มการหว่านกล้า ตั้งแต่ต้นเดือนกรกฎาคม จนกล้าอายุได้ 30 วัน จึงเริ่มถอนกล้าและจัดกิจกรรมลงแขกดำนาในวันนี้ และที่สำคัญ ตนตั้งใจว่า จะยึดมั่นทำกิจกรรมลงแขกดำนาแบบนี้ต่อไปในทุกๆ ปี เพื่อสืบสานประเพณีอันเก่าแก่ให้คงอยู่ชั่วลูกชั่วหลานตลอดไป
เดชา มลามาตย์/มนสิชา คล้ายแก้ว