เมื่อวันที 23 กรกฎาคม 2563 ที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ ทำเนียบรัฐบาล – เครือข่ายกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้สนใจเข้าร่วมโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก นำโดย นางสาววลัญช์รัช พรกิจจานนท์ ประธานเครือข่ายฯ พร้อมด้วยหัวหน้าชุดประสานงาน ได้แก่ นายอดิเรก วายุโชติ นายศักดินา นักรำ นายจีรพัตร์ ธาตุตระกูลวงค์ นายภัคพิสิฐ บุญเรือง นายอนันต์ชัย มหาสวัสดิ์ และนายจักรพงษ์ ขันตี ยื่นหนังสือเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรี หวังเร่งขับเคลื่อนโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานรากในพื้นที่ต่างๆ ให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรมทั่วประเทศ
นางสาววลัญช์รัช พรกิจจานนท์ ประธานเครือข่ายฯ เปิดเผยว่า ทางเครือข่ายฯ ได้ยื่นหนังสือฉบับเดียวกันนี้ ถึงนายกรัฐมนตรี, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรี พิจารณาเร่งรัดการขับเคลื่อนโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน ให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม โดยสั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ดำเนินการนำเสนอแผนพัฒนาการผลิตไฟฟ้าของประเทศ พ.ศ. 2561 – 2580 ( PDP 2018 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1) เข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี และเร่งรัดการออกประกาศโดยสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ให้มีการยื่นข้อเสนอขอขายไฟฟ้าสำหรับโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนต่อไป
“ขอเรียนย้ำว่า โครงการโรงไฟฟ้าชุมชน มีวัตถุประสงค์ชัดเจนอยู่ที่การสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้เกิดขึ้น นอกจากนั้นยังช่วยให้เกษตรกรมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น พึ่งพาตนเองได้และนำความยั่งยืนลงสู่ชุมชนอย่างทั่วถึงและตรงจุด ในปัจจุบันมีพี่น้องเกษตรกรให้ความสนใจและมีความตื่นตัวเป็นอย่างยิ่ง เห็นได้จากการที่วิสาหกิจชุมชนในเครือข่ายของเรามีการสมัครสมาชิกและขึ้นทะเบียนเกษตรกรเรียบร้อยแล้วมากกว่า 7,000 ราย และมีพื้นที่เพาะปลูกที่รวบรวมแล้วมากกว่า 179,000 ไร่ ทั้งนี้ ทางเครือข่ายฯ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าเสียงสะท้อนจากเกษตรกรจำนวนหนึ่ง จะทำให้รัฐบาลหันกลับมาให้ความสำคัญในเรื่องนี้ และเร่งขับเคลื่อนโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน ให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมโดยเร็ว” นางสาววลัญช์รัช พรกิจจานนท์ กล่าวว่า
สำหรับ เครือข่ายกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้สนใจเข้าร่วมโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก ก่อตั้งขึ้นแบบรวมกลุ่มกันเองโดยไม่ได้มีหน่วยงานหรือองค์กรใดให้การสนับสนุน มาตั้งแต่เดือนตุลาคม 2562 เพื่อช่วยเหลือและให้คำปรึกษาแก่สมาชิกด้วยกันเอง มีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพืชพลังงาน ที่มีศักยภาพในชุมชน ในระยะยาวการสร้างโรงไฟฟ้าชุมชน ที่ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินการ จะสร้างส่วนแบ่งรายได้รวมถึงผลประโยชน์ต่างๆ ลงสู่ชุมชน แก้ไขปัญหาราคาผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำ ผันผวน ยกระดับคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนคนไทยต่อไป
ภาพ/ข่าว ประภาพรรณ ขาวขำ รายงาน