เมื่อวันที่ 24 ก.ค. 2563 (เวลา 10.00 น.) ผู้สื่อข่าว นสพ. 5 เหล่าทัพประจำจังหวัดสุรินทร์ ได้รับรายงานว่า เกษตรกรชาวสวนยาง อ.พนมดงรัก จ.สุรินทร์ ได้นำใบต้นยางพารามาผลิตเป็นดินปุ๋ยใบไม้ เพื่อช่วยลดต้นทุนซึ่งเป็นภาระค่าใช้จ่ายจากการใช้ปุ๋ยเคมี และเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับสวน
ยางพาราของตนเอง ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนจากปัญหาราคาน้ำยางตกต่ำอีกทาง พร้อมทั้งนำดินปุ๋ยใบยางพาราที่ผลิตได้มาปลูกสวนป่าเบญจพรรณเพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้แก่ชุมชน
ทั้งนี้จากการลงพื้นที่ ผู้สื่อข่าวพบ นายคำนึง เบยประโคน เกษตรกร ต.บักได อ.พนมดงรัก จ.สุรินทร์ พร้อมด้วยชาวบ้านและจิตอาสากว่า 10 คน ได้นำพันธุ์ไม้ป่านานาพรรณ อาทิ ต้นยางนา ไม้แดงประดู่ป่า ชิงชัน มะฮอกกานี พยอม ตะเคียน กระถินเทพา นนทรี มะค่าโมง ต้นหว้า รวมถึงพืชผักสวนครัว อาทิ มะละกอ และอื่นๆ มาช่วยกันปลูกในพื้นที่ว่างเปล่าของตนเองกว่า 600 ต้น บริเวณสามแยกบ้านรุน ม.1 ต.บักได อ.พนมดงรัก จ.สุรินทร์
นายคำนึง เบยประโคน วัย 57 ปี เปิดเผยว่า “ตนเองและภรรยาทำการเกษตร ทั้งทำนาและทำสวน ซึ่งยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียงของพ่อหลวงรัชกาลที่ 9 ปลูกผัก ผลไม้ เลี้ยงปลา แบบปลอดสารพิษ ในพื้นที่ 2 ไร่ สามารถนำผลผลิตมาขายจุนเจือครอบครัว ต่อมาบุตรสาวและบุตรเขย ได้ต่อยอดเข้าศึกษาหลักสูตรวนเกษตรเพื่อนำมาปรับใช้ในพื้นที่ของครอบครัว จึงนำความรู้การทำดินใบไม้มาผลิตดินปุ๋ยจากใบยางพาราในสวนที่ร่วงหลนทิ้ง ทำให้สามารถลดต้นทุนการผลิตและยังส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อม ตนจึงมีแนวคิดที่จะใช้ดินปุ๋ย
ดังกล่าวมาปลูกป่าในที่ดินว่างเปล่าที่ไม่เกิดประโยชน์ของตนเองกว่า 4 ไร่ เพื่อใช้พื้นที่ดังกล่าวต่อยอดในการทำดินปุ๋ยใบไม้และให้เกิดเป็นศูนย์การเรียนรู้แบบวนเกษตรพนมดงรัก ต่อไป”
ขณะที่ นางขวัญฤทัย ภาสดา บุตรสาวของ นายคำนึง เบยประโคน กล่าวว่า “ตนเองจบการศึกษาปริญญาโทบริหารธุรกิจ สาขาการตลาด มหาวิทยาลัยรามคำแหง และได้เปิดกิจการร้านถ่ายภาพ “โลกไอที เซอร์วิส” บริเวณข้างสำนักงาน ธกส.อ.พนมดงรัก แต่ช่วงที่ผ่านมาประสบปัญหาจากการระบาดของโรคโควิด-19 จึงต้องปิดร้านชั่วคราว
และพยายามพลิกวิกฤติเป็นโอกาส ตนและสามีจึงใช้เวลาว่างนำใบยางพาราในสวนตนเองมาทดลองทำดินใบไม้ ที่ตนเองเคยผ่านการอบรมทำปุ๋ยสูตรวนเกษตรเขาฉกรรจ์มาแล้ว ปรากฏว่าได้ผลดีตามตำราที่ร่ำเรียนมา จึงได้นำปุ๋ยดินดังกล่าวแบ่งปันให้เพื่อนเกษตรกรรายอื่น และหน่วยงานต่างๆ อาทิ โรงพยาบาลพนมดงรักเฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา เพื่อร่วมโครงการปลูกผักปลอดสารในโรงพยาบาลเพื่อเป็นวัตถุดิบทำอาหารให้กับคนไข้ในโรงพยาบาล”
นอกจากนี้ นางขวัญฤทัย ภาสดา ยังกล่าวอีกว่า “กระบวนการทำดินปุ๋ยใบยางพารานั้นไม่ยุ่งยาก เพื่อนเกษตรกรที่มีสวนยางพาราหรือสวนป่าเบ็ญจพรรณอื่นๆ สามารถปรับประยุุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับพื้นที่ โดยกวาดใบยางพารามากองรวมกัน และหมักด้วย ปุ๋ยคอก น้ำจุลินทรีย์หน่อกล้วย และยูเรียน้ำจากพืช ราว 2 เดือน ใบยางจะย่อยสลายกลายเป็นดินปุ๋ยที่มีธาตุอาหารอุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การเพาะปลูกพืชผักและต้นไม้ต่างๆ ซึ่งตนเองเตรียมผลิตปุ๋ยดินใบยางพาราเพิ่มเพื่อแบ่งจำหน่ายในราคาถูก และหากผู้ใดสนใจ
ศึกษาหาข้อมูลก็ยินดีที่จะแบ่งปันประสบการณ์ความรู้ โดยติดต่อได้ที่ 085-1045001”
ณัฐพัชร์ บุญมี
ผู้สื่อข่าว นสพ. 5 เหล่าทัพ จ.สุรินทร์