วันที่ 22 ก.ค.63 เวลา 10.30 น.ณ ห้องศูนย์ TIC ชั้น 4 อาคาร 1 สตม.(สวนพลู) สาธร กทม. : พล.ต.ท.สมพงษ์ ชิงดวง ผบช.สตม. พร้อมด้วย พล.ต.ต.พรชัย ขันตี,พล.ต.ต.สุรพงษ์ ชัยจันทร์ รอง ผบช.สตม.,พล.ต.ต.พรชัย ขจรกลิ่น ผบก.สส.สตม.,พ.ต.อ.วีรพล สวัสดี รอง ผบก.สส.สตม. และ พ.ต.อ.สถิตย์ พรมอุทัย รอง ผบก.สส.สตม. ได้แถลงข่าวการจับกุมผู้ต้องหารายสำคัญ ดังนี้
บก.สส.สตม. และ ศปชก.สตม. ได้รับแจ้งจากผู้เสียหายและฝ่ายป้องกันการทุจริต ธนาคารออมสิน จำกัด (มหาชน) ว่า มีกลุ่มคนร้ายโทรศัพท์เข้าหมายเลขโทรศัพท์มือถือของผู้เสียหายที่เปิดบัญชีไว้กับธนาคารออมสิน โดยอ้างตนเป็นเจ้าหน้าที่ของธนาคารพูดจาหว่านล้อมหลอกลวงขอรหัสผ่านที่ใช้ได้เพียงครั้งเดียวหรือรหัส OTP ที่แจ้งมายังหมายเลขโทรศัพท์มือถือของผู้เสียหาย เมื่อผู้เสียหายหลงเชื่อจึงแจ้งหมายเลขรหัส OTP แก่คนร้าย
จากนั้น กลุ่มคนร้ายได้ติดตั้งแอปพลิเคชั่นการทำธุรกรรมทางการเงินบนโทรศัพท์มือถือของธนาคารออมสิน หรือแอปพลิเคชั่นมายโม (MyMo) แล้วทำการสวมรอยเป็นเจ้าของบัญชีถอนเงินออกจากบัญชีของผู้เสียหายโดยไม่ใช้บัตรเอทีเอ็ม (Cardless) หรือทำการโอนเงินจากบัญชีธนาคารออมสินของผู้เสียหายเข้าบัญชีธนาคารของคนร้ายที่เปิดรองรับไว้แล้วถอนเงินสดออกจากตู้เอทีเอ็ม มีผู้เสียหาย 2 ราย ถูกคนร้ายหลอกลวงทำให้เสียหายเป็นจำนวนเงินรวม 487,420 บาท ผู้เสียหายแจ้งความร้องทุกข์กับพนักงานสอบสวน สภ.โคกขาม จ.สมุทรสาคร
เจ้าหน้าที่ตำรวจ บก.สส.สตม. และ ศปชก.สตม. ได้ร่วมกันทำการสืบสวนจนทราบว่าคนร้ายในคดีนี้ คือนายพนาฯ และนายชูศักดิ์ฯ ที่เคยถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจ บก.สส.สตม. และ ศปชก.สตม. จับกุมตามหมายจับศาลจังหวัดสระบุรี ในความผิดฐาน “ร่วมกันฉ้อโกงประชาชนโดยแสดงตนเป็นคนอื่น,พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ และร่วมกันลักทรัพย์” ดำเนินคดีตามกฎหมายก่อนหน้านี้แล้ว
โดย นายพนาฯ ซึ่งเป็นลูกทำหน้าที่เป็นผู้หลอกลวงผู้เสียหายแล้ว สวมรอยโอนเงินจากบัญชีผู้เสียหายไปยังบัญชีอื่นที่นายชูศักดิ์ (ผู้เป็นพ่อ) เปิดรอไว้ จากนั้นนายพนาก็จะทำการ กดถอนเงินจากตู้เอทีเอ็มเพื่อนำไปใช้เล่นการพนันและเที่ยวเตร่ กก.1 บก.สส.สตม. จึงรวบรวมพยานหลักฐานและจัดทำรายงานการสืบสวนส่งมอบให้พนักงานสอบสวน สภ.โคกขาม จ.สมุทรสาคร เพื่อขอออกหมายจับ
ต่อมาเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2563 ศาลจังหวัดสมุทรสาคร ได้อนุมัติหมายจับผู้ต้องหาทั้งสองคน ในความผิดฐาน “ร่วมกันฉ้อโกงโดยแสดงคนเป็นคนอื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชน หรือด้วยการปกปิดความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งแก่ประชาชน และโดยการหลอกลวงดังว่านั้นได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม,โดยทุจริตหรือโดยหลอกลวงนำเข้าสู่ระบบฯ” พนักงานสอบสวน สภ.โคกขาม จ.สมุทรสาคร จึงได้ทำการอายัดตัวผู้ต้องหาทั้งสองคนต่อเรือนจำจังหวัดสระบุรี ไว้เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายเพิ่มเติมต่อไปแล้ว
พล.ต.ท.สมพงษ์ฯ ได้กล่าวว่า OTP หรือ One Time Password คือชุดรหัสผ่านใช้งานครั้งเดียวที่ระบบสร้างขึ้นเพื่อความปลอดภัยในการทำธุรกรรมทางอินเทอร์เน็ตซึ่งระบบจะส่งไปยัง Email,SMS หรือส่งเข้าแอปพลิเคชันของคุณเพื่อใช้ตรวจสอบยืนยันการเป็นเจ้าของบัญชีก่อนการเข้าถึงและเปลี่ยนแปลงข้อมูลส่วนตัวต่างๆ ซึ่งปัจจุบันมีคดีที่คนร้ายแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่ของธนาคารและหลอกขอรหัส OTP จากผู้เสียหาย ทำให้สูญเงินเกิดขึ้นหลายราย ดังนั้น จึงขอประชาสัมพันธ์ไปยังประชาชนทั่วไปอย่าได้หลงเชื่อผู้ที่แอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่ธนาคารและอย่าให้รหัส OTP หรือ One Time Password แก่ผู้ใดเป็นอันขาด
พล.ต.ท.สมพงษ์ฯ ขอเรียนให้ท่านทราบว่า สตม. มีมาตรการในการตรวจสอบ กวดขัน และปราบปรามการกระทำความผิดในด้านต่างๆ รวมทั้งดำเนินการตรวจสอบชาวไทยและชาวต่างชาติที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสม กระทำผิดกฎหมาย ก่อเหตุอันตรายต่อความสงบสุขและความปลอดภัยในชีวิตทรัพย์สินของประชาชน ทำให้เกิดความเสียหายต่อภาพลักษณ์ของประเทศชาติ
หากประชาชนท่านใดพบเห็นเบาะแสการกระทำความผิด กรุณาแจ้งมายัง สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง เลขที่ 507 ซ.สวนพลู แขวงทุ่งมหาเมฆ เขตสาทร กรุงเทพมหานคร 10120 หรือที่หมายเลขโทรศัพท์ 1178 หรือที่ www.immigration.go.th จักขอบพระคุณอย่างยิ่ง
สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน