วันที่ 10 ก.ค.63 เวลา 11.00 น.ที่ ห้องประชุม MDES 2 กระทรวงดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ศูนย์ราชการอาคาร B ชั้น 9 : ตำรวจดำเนินคดีกับผู้โพสต์ข่าวปลอมอีก 4 คน ที่โพสต์ข่าว “ยาบ้าสามารถรักษาโรคโควิด-19 ได้” หลังจากเมื่อ 2 สัปดาห์ที่แล้ว เพิ่งมีการดำเนินคดีกับเพจที่เริ่มโพสต์ข้อความดังกล่าว สร้างความสับสนให้กับสังคม
พลตำรวจตรีพันธนะ นุชนารถ ในฐานะหัวหน้าผู้ประสานความร่วมมือกับศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม แถลงผลการดำเนินคดีผู้โพสต์ข่าวปลอมในช่วงระหว่างวันที่ 29 มิถุนายน ถึง 10 กรกฎาคม 2563 โดยพบผู้เข้าข่ายกระทำความผิดรวม 10 คน แบ่งเป็นการดำเนินคดีฐานนำข้อมูลอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ และความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน 4 คน ส่วนอีก 6 คน ได้ตักเตือนพร้อมทำความเข้าใจ และให้ลบข่าวปลอมออกจากโซเชียลมีเดีย
โดยการดำเนินคดีผู้ต้องหาทั้ง 4 คน มีการโพสต์ข้อความลักษณะเดียวกันคือ “ยาบ้าสามารถรักษาโรคโควิด-19 ได้” ซึ่งเป็นข้อความที่เคยมีการดำเนินคดีกับเพจเฟซบุ๊กรายหนึ่งเมื่อ 2 สัปดาห์ก่อน และปรากฎว่าผู้ต้องหาได้นำข้อความดังกล่าวมาโพสต์ใหม่ในเฟซบุ๊กของตนเอง มีการแก้ไขข้อความบางส่วน ไม่ใช่ผู้ที่แชร์ข้อความจากเพจดังกล่าว ประกอบกับได้รับการตรวจสอบ และยืนยันข้อมูลจากกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข แล้วว่าไม่เป็นความจริง จึงรวบรวมพยานหลักฐานไปขอศาลพิจารณาออกหมายค้น เพื่อสืบสวนดำเนินคดีผู้ต้องหาที่อาศัยอยู่ในหลายพื้นที่ คือในพื้นที่พัทยา,ยะลา,นครราชสีมา และฉะเชิงเทรา โดยผลการลงพื้นที่พบตัวผู้ต้องหา 3 คน ให้การยอมรับว่าเป็นผู้โพสต์ข้อความจริง อ้างว่าเห็นข้อความจากเพจเฟซบุ๊ก หลังการตรวจค้นยึดหลักฐานที่ใช้ในการโพสต์ข้อความแล้ว ก็ได้ส่งตัวไปดำเนินคดีที่ สน.ทุ่งสองห้อง ส่วนอีก 2 คน ได้ส่งข้อมูลให้พนักงานสอบสวน ออกหมายเรียกเพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป
สำหรับผู้กระทำผิดอีก 6 คน ที่ตำรวจใช้อำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พิจารณาว่ากล่าวตักเตือน และให้ดำเนินการลบข้อความออกจากโซเชียลมีเดีย โดยมี 5 คนที่โพสต์ข้อความว่า “กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ช่วยเหลือผู้พิการ แจกเงินคนละ 2,000 บาท” และ 1 คน ที่โพสต์ข้อความว่า ” รัฐหลอกให้ลงทะเบียนรับเงินเยียวยา เพื่อจะเรียกเก็บภาษี ”
ทั้งนี้ พลตำรวจตรีพันธนะฯ ระบุว่า ปัจจุบันมีข้อมูลผู้ที่โพสต์ข่าวปลอมลดน้อยลงไปมาก โดยผลการรวบรวมข้อมูลจากบริษัทเอกชนที่ทำหน้าที่รวบรวมข้อมูลการโพสต์ข้อความผ่านช่องทางโซเชียลมีเดีย พบว่ามีข้อความที่อยู่ในข่ายต้องตรวจสอบว่า อาจเป็นข่าวปลอมจากหลักแสนข้อความในช่วงที่เปิดศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม เหลือเพียง 20,000 กว่าข้อความในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งแต่ละข้อความจะถูกนำไปคัดแยกเพื่อดูเจตนาในการโพสต์ข้อความอีกครั้ง ก่อนดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดกฎหมายต่อไป
สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน