เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2563 เวลา 10:30 น.โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ตำบลคลองหนึ่ง อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี รศ.เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ , ศ.ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ ประธานกรรมการบริหารโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ , คุณชาญศิลป์ ตรีนุชกร นายกสมาคมธรรมศาสตร์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ , รศ.นพ.พฤหัส ต่ออุดม ผู้อำนวยการโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ , ผศ.นพ.ดิลก ตันทองทิพย์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านศัลยกรรมหลอดเลือดสมอง , ผศ.นพ.บุลวัชร์ หอมวิเศษ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านศัลยกรรมหัวใจและปอด , อ.นพ.สฤษฏ์พัฒน์ ออรพินท์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านศัลยกรรมหลอดเลือด ได้ร่วมเปิดห้องผ่าตัดอัจฉริยะ Hybrid Operation Room ชนิด Biplane ที่ทันสมัยและมีประสิทธิภาพที่สุดในประเทศและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รองศาสตราจารย์นายแพทย์พฤหัส ต่ออุดม ผู้อำนวยการโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ กล่าวว่า ห้องผ่าตัดไฮบริดโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ เป็นที่แรกในอาเซียนที่มีการติดตั้งเครื่อง เอกซเรย์หลอดเลือดคุณภาพสูง แบบ 2 ระนาบในห้องผ่าตัด ทำให้สามารถรักษาโรคหลอดเลือดที่มีความซับ ซ้อนและขดเคี้ยวได้ โดยเฉพาะหลอดเลือดสมองหรือโรคหลอดเลือดอื่น ๆ ที่มีความซับซ้อนทางกายวิภาค อีกทั้ง ยังมีการติดตั้งเตียงผ่าตัด อุปกรณ์เสริมต่าง ๆ ที่เชื่อมต่อกันทั้งหมดด้วยระบบคอมพิวเตอร์ เพื่อสามารถรองรับการรักษาทั้งการผ่าตัดและการรักษาผ่านสายสวนหลอดเลือดในทุกส่วนของร่างกาย เช่น หลอดเลือดสมอง หลอดเลือดไขสันหลัง หลอดเลือดช่องท้อง และหัวใจ เป็นต้น ห้องผ่าตัดไฮบริดโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ เหมาะกับผู้ป่วยโรคหลอดเลือดทุกส่วนของร่ายกาย ซึ่งสามารถรักษาได้ทั้งสามแบบคือ 1.การผ่าตัดโดยใช้ภาพถ่ายเอกซเรย์หลอดเลือดในการประเมินหลังการผ่าตัด 2.การรักษาผ่านสายสวนหลอดเลือดซึ่งเป็นการรักษาที่ไม่ต้องมีแผลผ่าตัดใหญ่ และสามารถแก้ไข ภาวะแทรกซ้อนได้ทันทีในกรณีผู้ป่วยต้องการแก้ไขโดยการผ่าตัด 3.การรักษาแบบผสมผสาน (combine treatment) ทั้งนี้การรักษาโรคหลอดเลือดแต่ละโรคจะมีความเหมาะสมในวิธีการรักษาแตก ต่างกัน ตัวอย่างหัตถการ อาทิเช่น การรักษาหลอดเลือดสมองโป่งพองโดยการผ่าตัด (Clipping) และการใส่ขดลวด (Coiling) , การรักษาหลอดเลือดขอดในสมองโดยการผ่าตัด (AVM resection) และการอุดผ่านสายสวนหลอดเลือด (AVM embolization) , การผ่าตัดบายพาสหลอดเลือดในสมอง (Intracranial-extracranial bypass) , การรักษาผู้ป่วยหลอดเลือดสมองอุดตัน (Mechanical thrombectomy) , การรักษาโรคหลอดเลือดโป่งในช่องท้อง (Endovascular aortic aneurysm repair, EVAR) , การเปลี่ยนลิ้นหัวใจผ่านสายสวน (Transcatheter aortic valve implantation, TAVI) , การรักษาหลอดเลือดตีบโดยบอลลูนในส่วนต่าง ๆ (Balloon angioplasty with stenting) , การรักษาโรคอื่น ๆ เช่น ผู้ป่วยอุบัติเหตุ ผู้ป่วยนรีเวช ที่มีการเสียเลือดมากและต้องการการห้ามเลือดผ่านสาย สวนหลอดเลือด (Intraoperative bleeding control)
ซึ่งประสิทธิภาพของการรักษาโดยใช้ห้องผ่าตัดไฮบริดที่เพิ่มขึ้นนั้น สามารถทำการประเมินการผ่าตัดรักษาโรคหลอดเลือด และแก้ไขได้ทันที ทำให้การรักษาโรคหลอดเลือดมีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น สามารถเลือกวิธีการรักษาโรคหลอดเลือดให้เหมาะสมกับผู้ป่วยและกระทบต่อร่างกายน้อยที่สุด ทำให้ระยะเวลาการผ่าตัดลดลง ผู้ป่วยฟื้นตัวเร็วขึ้น ระยะเวลารักษาในโรงพยาบาลสั้นลง เพิ่มประสิทธิภาพการรักษาโรคหลอดเลือดที่มีความซับซ้อนมากขึ้น โดยสรุปห้องผ่าตัดไฮบริดโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ (TU hybrid OR) ได้มีการออกแบบเพื่อรองรับให้สามารถทำการรักษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดได้ทุกประเภท โดยมีการออกแบบให้ห้องมีขนาดใหญ่มีที่ว่างสำหรับอุปกรณ์ผ่าตัดหลอดเลือด หลอดเลือดสมอง และการผ่าตัดหัวใจ เป็นการนำอุปกรณ์ และ เทคโนโลยีที่มีความล้ำหน้า มาติดตั้งในห้องผ่าตัดในสามารถทำงานสอดคล้องร่วมกัน ทำให้เพิ่มประสิทธิภาพในการ ดูแลรักษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดในทุกส่วนของร่างกาย ผู้ป่วยมีความปลอดภัยในการรักษามากขึ้น ระยะเวลาในการ ฟื้นตัวเร็วขึ้น ระยะเวลาในการรักษาในโรงพยาบาลสั้นลง ซึ่งทางโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ มีนโยบายในการรักษาคนไข้ให้ประชาชนทุกคนเข้าถึงทุกสิทธิการรักษา ทั้งสิทธิ สปสช. , บัตรทอง , กรมบัญชีกลาง , ประกันสังคม เมื่อท่านมีโรคหรือมีภาวะความจำเป็นที่จะต้องใช้ห้องผ่าตัดอัจฉริยะ Hybrid Operation Room ชนิด Biplane โดยที่ไม่มีค่าใช้จ่ายใด ๆ เพิ่มเติม ทุกท่านมีสิทธิในการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ เพื่อประโยชน์ในการช่วยเหลือชีวิตท่านทำให้สุขสถาวะทำให้คุณภาพชีวิตของทุกท่านหลังจากที่มาผ่าตัดแล้ว จะสามารถฟื้นตัวเร็ว และสามารถกลับบ้านได้อย่างรวดเร็ว เป็นอีกหนึ่งนวัตกรรม และความภูมิใจในการพัฒนาการดูแลรักษาการรักษาของโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ
ภาพ/ข่าว ประภาพรรณ ขาวขำ รายงาน