“พล.ต.อ.ปัญญา” เผยรู้ตัวกลุ่มคนร้ายเจาะระบบเอทีเอ็มออมสินกดเงิน 12 ล้าน เป็นยุโรปตะวันออก พบก่อเหตุในไทยครั้งแรก จ่อสอบคนไทยมีเอี่ยวด้วยหรือไม่ เชื่อคนร้ายบางส่วนยังตกค้างและเงินที่ก่อเหตุยังอยู่ในไทย ขณะนี้หลบหนีออกนอกประเทศไปแล้ว 5 คน
วันนี้ (24 ส.ค.) ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พล.ต.อ.ปัญญา มาเม่น ที่ปรึกษา (สบ 10) รับผิดชอบงานป้องกันและปราบปรามอาชญากรรม กล่าวถึงความคืบหน้ากรณีคนร้ายก่อเหตุตระเวนปล่อยมัลแวร์เข้าตู้เอทีเอ็มธนาคารออมสินในพื้นที่ กทม.และภาคใต้ ก่อนใช้บัตรทำที่ขึ้นเองกดเงินสดออกมาจากตู้เอทีเอ็ม สร้างความเสียหายมูลค่ากว่า 12 ล้านบาท ว่าสำหรับคดีดังกล่าว พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้กำชับทางตำรวจให้เร่งสืบสวนสอบสวนติดตามตัวคนร้าย โดย พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ได้สั่งการให้ตนดำเนินการสืบสวนคดีนี้มากว่า 1 สัปดาห์ โดยให้กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (บช.ก.) กองบัญชาการตำรวจตรวจคนเข้าเมือง (สตม.) และสำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ (สพฐ.ตร.) เป็นหน่วยช่วยเหลือสนับสนุนการปฏิบัติงาน สำหรับเหตุดังกล่าวเกิดในพื้นที่ตำรวจภูธรภาค 7, 8 และ บช.น. โดยขณะนี้จากวัตถุพยานต่างๆ ที่เจ้าหน้าที่รวบรวมได้ทำให้มั่นใจว่า คนร้ายกลุ่มนี้มีความเชื่อมโยงกับกลุ่มคนร้ายที่เคยก่อเหตุในประเทศไต้หวันเมื่อเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา และคล้ายกับเหตุที่เคยเกิดที่ประเทศมาเลเซียเมื่อปี 2557
พล.ต.อ.ปัญญากล่าวว่า จากการตรวจสอบเส้นทางการเดินทางของคนร้ายกลุ่มเหล่านี้ พบว่ากลุ่มคนร้ายกลุ่มดังกล่าวที่เคยก่อเหตุที่ไต้หวันมีประมาณ 5 คน เป็นชาวยุโรปตะวันออก มีประวัติเดินทางเข้าออกประเทศไทย และเป็นชาวยุโรปตะวันออก ส่วนจะมีคนไทยเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยหรือไม่นั้นขณะนี้เจ้าหน้าที่กำลังตรวจสอบอยู่ โดยพบว่าตู้ที่ถูกคนร้ายนำเงินออกไปนั้นมีทั้งหมด 21 ตู้ ไล่ตั้งแต่ จ.สุราษฎร์ธานี ภูเก็ต ชุมพร ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี และ กทม. มูลค่าความเสียหาย 12,291,000 บาท สำหรับตู้เอทีเอ็มที่ทางธนาคารออมสินกำลังตรวจสอบมีอยู่หมด 200 ตู้ ขณะนี้พบแล้วว่าตู้ที่เหลือไม่ได้ถูกคนร้ายนำเงินออกไปแต่อย่างใด
พฤติการณ์ของคนร้ายจะทำการปล่อยมัลแวร์เข้าไปในตู้เอทีเอ็ม โดยนำบัตรที่เชื่อว่าเป็นบัตรที่ผลิตในประเทศยูเครนเสียบเข้าไปที่ตู้ จากนั้นเงินก็จะไหลออกมา บางตู้ไหลออกมาจำนวนหลักหมื่น แต่บางตู้เช่นที่จังหวัดเพชรบุรีไหลออกมากว่า 1 ล้านบาท ทั้งนี้ขอความร่วมมือประชาชนช่วยกันแจ้งเบาะแสต่อเจ้าหน้าที่ เพราะคนร้ายใช้เวลาก่อเหตุที่หน้าตู้ค่อนข้างนาน หากพบคนยุุโรปตะวันออกยืนอยู่หน้าตู้เอทีเอ็มเป็นเวลานานโดยเฉพาะตอนกลางคืน สามารถแจ้งแบาะแสต่อเจ้าหน้าที่ได้ทันที
“ฝากถึงประชาชนว่าไม่ต้องตื่นตระหนก เพราะเงินที่คนร้ายโจรกรรมไปไม่ใช่เงินที่นำออกจากบัญชีของคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นเงินที่อยู่ในส่วนความรับผิดชอบของธนาคาร และขณะนี้ทางะนาคารหลายแห่งก็ร่วมมือกันแก้ไข และป้องกันไม่ให้เหตุลักษณะเช่นนี้เกิดขึ้นได้อีก จึงขอให้ประชาชนมั่นใจได้” ที่ปรึกษา (สบ 10) ระบุ
คนร้ายก่อเหตุในช่วงเดียวกับที่ก่อเหตุที่ไต้หวัน โดยเหตุที่เกิดในไทยวันที่ 7-30 ก.ค.นี้ โดยทางธนาคารตรวจพบในวันที่ 1-10 ส.ค.นี้ เพราะหลังจากคนร้ายนำเงินออกจากตู้คนร้ายจะสั่งให้ตู้รีเซ็ตระบบกลับไปเป็นเหมือนเดิมจึงสามารถตรวจสอบได้ยาก อีกทั้งภาพจากกล้องที่เครื่องยังไม่ทำงานขณะคนร้ายก่อเหตุเนื่องจากถูกมัลแวร์ควบคุม จะรู้เมื่อนำเงินมาตรวจนับและพบว่ามีเงินหายไปเท่านั้น ส่วนสาเหตุที่เลือกก่อเหตุที่ตู้ของธนาคารออมสินนั้นคาดว่าคนร้ายน่าจะมีข้อมูลและความชำนาญเกี่ยวกับตู้แบบนี้ ส่วนธนาคารอื่นก็อาจจะก่อเหตุก็เป็นหากยังยังไม่ถูกตรวจพบเสียก่อน ทั้งนี้ จากการตรวจสอบพบว่าคนร้ายที่ก่อเหตุบางส่วนได้เดินทางออกจากประเทศไทยไปแล้ว
ทั้งนี้ยังพบอีกว่า มีตู้เอทีเอ็มใน จ.ภูเก็ต ที่ทำหน้าที่ส่งข้อมูลเพื่อควบคุมตู้อื่นๆ ทั้ง 21 ตู้ที่ถูกนำเงินออก ซึ่งเจ้าหน้าที่กำลังร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าเก็บหลักฐานเพื่อนำไปตรวจสอบหาร่องรอยคนร้าย ส่วนในจังหวัดพังงาที่เกิดเหตุคนร้ายนำเงินออกไปจากตู้จำนวน 4 ล้านบาท เมื่อเดือน เม.ย.ที่ผ่านมาก็มีลักษณะการก่อเหตุคล้ายกับกรณีดังกล่าวคือการใช้บัตรวีซ่าการ์ดแบบเดียวกัน โดยเจ้าหน้าที่กำลังสืบสวนอยู่ว่าเป็นการนำข้อมูลทางธนาคารไปศึกษาก่อนลงมือก่อเหตุล่าสุดหรือไม่อย่างไร
จนถึงขณะนี้เจ้าหน้าที่มั่นใจว่าจะทำการสืบสวนเพื่อทราบตัว รวบรวมหลักฐานจนถึงขั้นออกหมายจับได้ เนื่องจากเจ้าหน้าที่ทราบข้อมูลหลายอย่าง เช่น ยานพาหนะที่ใช้ก่อเหตุ และที่พักของคนร้าย เป็นต้น ส่วนการติดตามจับกุมตัวนั้นเชื่อว่าคนร้ายบางส่วนยังคงตกค้างอยู่ในประเทศไทย นอกจาก 5 คนที่เดินทางออกจากไทยไปแล้ว หรืออาจจะเดินทางกลับมาในปรเะเทศไทยอีกเพราะคิดว่าประเทศไทยไม่สามารถรู้ตัวคนกระทำได้ ซึ่งพฤติการณ์เช่นนี้ถือว่าพบเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ทั้งนี้ พบว่าคนร้ายจะทำงานเป็นขบวนการวางแผนมาเป็นอย่างดี จากการศึกษาพฤติกรรมในการก่อเหตุที่ไต้หวันพบว่าคนร้ายจะนำเงินที่ได้มารวมไว้ที่คน 3 คน ก่อนจะส่งต่อไปยังอีก 3 คน และสุดท้ายถูกตำรวจของไต้หวันจับกุมตัวได้ ทำให้เจ้าหน้าที่เชื่อว่าหากคนร้ายอาจยังไม่ได้นำเงินที่ได้ออกจากประเทศไทย
ในวันที่ 26 ส.ค.นี้จะมีการเรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กองบัญชาการตำรวจนครบาล กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี กองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 7 และ 8 ร่วมกับตัวแทนธนาคารออมสิน และธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อหารือแนวทางป้องกันและการติดตามตัวคนร้ายต่อไป