(15มิ.ย.63)ที่รัฐสภา นายวัชระ เพชรทอง อดีตส.ส.ประชาธิปัตย์ ยื่นหนังสือที่ลงนามโดยพลเรือเอกบรรณวิทย์ เก่งเรียน อดีตสนช.นายสมบูรณ์ ทองบุราณ อดีตสว.และตนเองถึงนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร และนายสรศักดิ์ เพียรเวช เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร คัดค้านการจ่ายค่าเร่งรัดงาน 215 ล้านบาทให้บริษัทรับเหมาก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ พร้อมสำเนาหนังสือบริษัทฯ เลขที่ SINO-THAI/J.2436/L-841/R1. ลงวันที่ 15 เมษายน 2563 และสำเนาหนังสือสัญญาการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ โดยระบุว่า ตามที่บริษัทผู้รับเหมาส่งหนังสือลงวันที่ 15 เมษายน 2563 ขอค่าเร่งรัดงานก่อสร้างห้องประชุมสุริยันและห้องประชุมจันทรา จำนวน 215,041,233.48 บาท (สองร้อยสิบห้าล้านสี่หมื่นหนึ่งพันสองร้อยสามสิบสามบาทสี่สิบแปดสตางค์) เป็นเงินของแผ่นดินที่มาจากเงินภาษีอากรของประชาชนทั้งชาติ หาใช่เงินที่จะสั่งจ่ายตามอำเภอใจไม่ ดังนั้น ในฐานะที่ตนเองเป็นอดีตสมาชิกรัฐสภา เป็นผู้เสียภาษีอากรให้รัฐ ขอใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ไม่เห็นชอบและขอคัดค้านการที่สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรจะจ่ายเงินให้กับบริษัทผู้รับเหมาตามสำเนาหนังสือที่อ้างถึงดังกล่าวอย่างเด็ดขาด
นายวัชระชี้ว่าการที่บริษัทผู้รับเหมาอ้างเหตุผลว่าต้องทำประกันเพิ่มและเตรียมพื้นที่นั้น ตามสัญญาการก่อสร้างข้อ 30 การทำประกันภัยเป็นาใช้พื้นที่ระหว่างก่อสร้างสภาฯสามารถเข้าใช้ได้ตามสัญญาข้อ 34 โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย นอกจากนี้ บริษัทยังได้ประโยชน์จากการที่นายสรศักดิ์ เพียรเวช เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ได้ขยายเวลาการก่อสร้างให้กับบริษัทแล้ว ครั้งที่1เป็นเวลา 387 วัน ซึ่งเดิมกรรมการชุดตรวจการจ้าง (ชุดนายวีระพันธ์ มุขสมบัติ เป็นประธานฯ)ชุดเก่าอนุมัติเพียง 287 วัน เมื่อยุบกรรมการชุดเก่าปรากฏว่านายสรศักดิ์ มาเป็นประธานแทนกลับอนุมัติเสนอเห็นชอบทันทีเพิ่มเติมอีก 100 วัน เป็น 387 วัน ครั้งที่ 2 ในฐานะเลขาธิการสภาฯ 421 วัน ครั้งที่ 3 ในฐานะเลขาธิการสภา 674 วัน และครั้งที่ 4 ในฐานะเลขาธิการสภาฯ 382 วัน รวม 1,864 วัน โดยไม่ฟังคำท้วงติงของกลุ่มงานพัสดุและไม่ขอความเห็นชอบจากสำนักกฎหมายสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรแต่อย่างใด ซึ่งจะมีค่าปรับก่อสร้างล่าช้าวันละ 12 ล้านบาท ทำให้สภาฯได้รับความเสียหายต้องเสียค่าใช้จ่ายเป็นอย่างมาก ดังนั้น เพื่อรักษาผลประโยชน์ของชาติ จึงขอให้ระงับการจ่ายเงิน 215 ล้านบาทเศษดังกล่าว นายวัชระ กล่าวว่า ที่มายื่นหนังสือคัดค้านเป็นหลักฐานต่อนายชวนและนายสรศักดิ์นี้เพราะในที่ประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ นายสุทธิพล พัชรนฤมล ตัวแทนบริษัทซิโน-ไทย พูดในที่ประชุมว่าบริษัทไม่ได้ขอเงินเพิ่มใดๆจากการเร่งรัดการก่อสร้างห้องประชุมสุริยัน-จันทรา เมื่อนายสุทธิพลยืนยันในกรรมาธิการวิสามัญแบบนี้ แล้วเหตุใดนายสุทธิพลจึงลงชื่อในนามบริษัทฯขอเงินค่าเร่งรัดงานเพิ่มถึง 215 ล้านบาทตามหลักฐานที่ส่งถึงนายชวนในวันนี้.