พระหลวงปู่เผือก วัดกิ่งแก้วจ.สมุทรปราการ พิมพ์ขุดสระเล็ก
พระครูกรุณาวิหารี หรือที่เรารู้จักกันในนาม หลวงปู่เผือก วัดกิ่งแก้วพระเกจิในยุคก่อนกึ่งพุทธกาล ผู้มีชื่อเสียงเกียรติคุณโด่งดังเป็นที่รู้จักและเคารพศรัทธาของสาธุชนโดยถ้วนทั่วโดยเฉพาะชาวจังหวัดสมุทรปราการ เพราะท่านได้พัฒนาและปรับปรุงวัดกิ่งแก้วให้เจริญรุ่งเรืองและยังสร้างความเจริญให้แก่ชุมชนในพิธีพุทธาภิเษกครั้งสำคัญๆยุคนั้น ก็มักมีชื่อท่านร่วมด้วยเสมอ เช่น การปลุกเสกพระพุทธชินราชอินโดจีน วัดสุทัศน์ เมื่อปี พ.ศ. 2485 เป็นต้น
พระครูกรุณาวิหารี (หลวงปู่เผือก) วัดกิ่งแก้ว
หลวงพ่อเผือก ปัญญาธโรเกิดที่บ้านคลองสำโรง ต.บางพลี จ.สมุทรปราการเมื่อวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ.2412 อายุ13 ปีเข้าเรียนหนังสือกับพระอาจารย์อิ่ม อินทสโร เจ้าอาวาสวัดกิ่งแก้ว ต.ราชาเทวะ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ ได้ 2 ปี ก็กลับมาช่วยบิดามารดาทำนาทำสวน อายุ 18 ปี ถูกเกณฑ์เข้าเป็นทหารเรืออยู่ 2 ปี และเมื่ออายุครบบรรพชาจึงอุปสมบทที่วัดกิ่งแก้วโดยมี หลวงปู่ทองวัดราชโยธา(วัดราชบัวขาว) เป็นพระอุปัชฌาย์, พระอาจารย์อิ่ม วัดกิ่งแก้ว เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ได้รับฉายา “ปัญญาธโร”หลังอุปสมบทจำพรรษาที่วัดกิ่งแก้วเพื่อศึกษากับพระอาจารย์อิ่ม ทั้งด้านพระธรรมวินัยและวิปัสสนากรรมฐาน ตลอดจนภาษาบาลีและอักขระขอมท่านสามารถเรียกรู้แตกฉานได้อย่างรวดเร็วด้วยความใฝ่ใจและความอุตสาหะกล่าวกันว่าท่านสำเร็จผงอิทธิเจ ผงปัถมัง ยันต์นะเมตตา ยันต์ฤๅษี ฯลฯ ซึ่งได้รับการถ่ายทอดจากหลวงปู่ทอง ผู้เป็นพระอุปัชฌาย์อีกด้วย จนปี พ.ศ.2442อาจารย์อิ่มมรณภาพลง ชาวบ้านจึงพร้อมใจกันทำหนังสือร้องขอต่อศาสนาให้แต่งตั้งหลวงปู่เผือก เป็นเจ้าอาวาสสืบต่อมาขณะนั้นท่านมีอายุเพียง 30 ปี
วัดกิ่งแก้ว อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ
หลังจากได้รับตำแหน่ง หลวงปู่เผือกก็เริ่มบูรณปฏิสังขรณ์วัดกิ่งแก้ว และสร้างถาวรวัตถุต่างๆ เพิ่มเติม อาทิ พระอุโบสถ พระพุทธชินราชจำลอง พระวิหาร ศาลาการเปรียญ ฯลฯรวมทั้งสร้างโรงเรียนพระปริยัติธรรมและโรงเรียนประชาบาลเพื่อเป็นที่ศึกษาสำหรับพระภิกษุสามเณรและกุลบุตรกุลธิดาในท้องถิ่นด้วย ท่านได้รับการแต่งตั้งสมณศักดิ์เรื่อยมาสมณศักดิ์สุดท้ายได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูกรุณาวิหารี และเป็นกรรมการสงฆ์ องค์การสาธารณูปการ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ ก่อนมรณภาพเมื่อปี พ.ศ.2501 สิริอายุ 89 ปี69พรรษา
พระหลวงปู่เผือก พิมพ์ขุดสระเล็ก
วัตถุมงคลของหลวงปู่เผือก ทั้ง เหรียญรูปหล่อ พระกริ่ง พระเนื้อผง ฯลฯ ทุกรุ่นทุกแบบล้วนทรงพุทธคุณเป็นที่นิยมและแสวงหาในแวดวงนักนิยมสะสมพระเครื่องและเหรียญคณาจารย์มาตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน แต่ที่เรียกได้ว่าเป็นยอดนิยมที่สุดเห็นจะเป็น “พระหลวงปู่เผือก รุ่นขุดสระ”
มูลเหตุของการจัดสร้างนั้น สืบเนื่องจากบริเวณวัดกิ่งแก้วแต่เดิมเป็นที่ราบลุ่ม แวดล้อมไปด้วยคูคลองที่มีสวนล้อมรอบ เวลาฝนตกลงมาน้ำก็จะขัง ประกอบกับหลวงปู่เผือกดำริจะสร้างโบสถ์ จึงขอแรงจากบรรดาลูกศิษย์และชาวบ้านให้มาช่วยกันขุดดินนำไปถมในที่ลุ่ม และปรับพื้นที่ที่จะสร้างโบสถ์ ส่วนพื้นที่ที่ถูกขุดดินก็เป็นบ่อเป็นสระใหญ่สำหรับเก็บกักน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง ซึ่งมีให้เห็นอยู่จวบจนปัจจุบันนี้ ในการนี้ท่านจึงจัดสร้าง “พระหลวงปู่เผือก รุ่นขุดสระ” ขึ้น เพื่อเป็นอนุสรณ์และเป็นที่ระลึกแก่ผู้มาช่วยเหลืองานจนประสบผลสำเร็จ พระหลวงปู่เผือก รุ่นขุดสระมีการจัดสร้างหลายเนื้อหลายพิมพ์ทรงทั้ง เนื้อผง เนื้อว่าน เนื้อชินตะกั่ว ฯลฯ พิมพ์ใหญ่ พิมพ์เล็ก พิมพ์สามเหลี่ยม และพระปิดตา โดย‘พิมพ์ขุดสระเล็ก’ จะได้รับความนิยมมากกว่าพิมพ์ใหญ่ อาจเนื่องจากมีขนาดย่อมและกะทัดรัดกว่า แต่ทุกพิมพ์ทรงผู้ใดมีไว้สักการบูชานับว่าเป็นสิริมงคลทั้งสิ้นครับผม
การพิจารณาจุดชี้ตำหนิ ของ พระหลวงปู่เผือก พิมพ์ขุดสระเล็ก
เส้นรัศมีรอบองค์พระมีข้างละ 3 เส้น
พระเกศมีขนาดใหญ่ ปลายพระเกศพาดบนขอบแม่พิมพ์
ข้างพระพาหาด้านซ้ายท่อนบนขององค์พระมีเนื้อเกินเป็นทิว
พระพาหาด้านซ้ายขององค์พระทิ้งเป็นแนวดิ่ง การประสานพระหัตถ์เอียงลาดไปด้านขวาขององค์พระ
อาสนะฐานบัว 9 กลีบ (ในองค์ที่ติดชัดเจน)
มีเนื้อเกินพอกติดบริเวณพระรากขวัญ (ไหปลาร้า) ด้านขวาขององค์พระ
มีเนื้อเกินเป็นทิวแนวดิ่งข้างพระอังสาด้านขวาขององค์พระ
ปลายเส้นรัศมีเส้นที่2 จะไม่จรดพระกรรณด้านขวาขององค์พระ
ทีมข่าวเฉพาะกิจหนังสือพิมพ์ 5 เหล่าทัพ