วันที่ 9 มิถุนายน 2563 เวลา 13.30 – 15.00 น.ณ ห้องประชุมจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ชั้น 2 อาคาร วช. 1 ถนนพหลโยธิน เขตจตุจักร กรุงเพทฯ : การประกาศเจตนารมณ์ความร่วมมือทั้ง 3 หน่วยงาน ระหว่าง ศาสตราจารย์ นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ นายณรงค์ชัย คุณปลื้ม นายกเทศมนตรีเมืองแสนสุข และ ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์ รักษาราชการแทนอธิการบดี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และดร.ขวัญฤดี โชติชนาทวีวงศ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยยุทธศาสตร์สิ่งแวดล้อม เพื่อความร่วมมือในการผลักดันให้หาดบางแสนเป็น Zero Waste Beach แห่งแรกของประเทศ และเป็นประโยชน์ต่อการจัดการขยะเชิงพื้นที่ต้นแบบ และมุ่งเน้นการนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง นำไปสู่การสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนที่เกี่ยวข้องกับขยะ และเป็นส่วนหนึ่งของการขยายความร่วมมือ รวมทั้งสร้างการตระหนักรู้และสร้างจิตสำนึกของปัญหาขยะในทะเลของประเทศไทย นำไปสู่การแก้ปัญหาร่วมกันต่อไป
จากวิสัยทัศน์ของเทศบาลเมืองแสนสุขที่ต้องการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของบางแสน ควบคู่ไปกับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของพื้นที่ซึ่งเชื่อมโยงสู่เศรษฐกิจและภาพลักษณ์ของประเทศ นำไปสู่การหารือเพื่อหาแนวทางการดำเนินงานให้เกิดผลในเชิงปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมกับสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ หรือ (วช.) ที่มีประสบการณ์การบริหารงานวิจัยและพัฒนาในทุกสาขา จึงเกิดเป็นความร่วมมือใน “การยกระดับบางแสนเป็น Zero waste beach แห่งแรกของประเทศ” โดยมอบหมายให้มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หรือ (มก.) ดำเนินการถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมไปประยุกต์ ติดตั้ง และดำเนินการจัดการปัญหาขยะในพื้นที่แบบเบ็ดเสร็จ โดยแบ่งการดำเนินงานภายใต้ความร่วมมือ ดังนี้
1.นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ผ่านการวิจัยแล้วและสามารถดำเนินการได้จริงภายใต้การสนับสนุนของ (วช.) ไปประยุกต์ ติดตั้ง และใช้งานในพื้นที่เทศบาลเมืองแสนสุข
1.1 เปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคของนักท่องเที่ยว โดยไม่ใช้สินค้าครั้งเดียวทิ้ง (Single-used) ร่วมมือกับเอกชนในพื้นที่ส่งเสริมการบรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งหลอด ถุง และอื่นๆ
1.2 เพื่อลดการเกิดขยะในพื้นที่ โดยการนำขยะไปใช้ประโยชน์ เช่น ทำกระเบื้อง ขอบถนน วัสดุมวลเบา อิฐตัวหนอน และกระถางต้นไม้
1.3 เพื่อลดขยะตกค้างจากบริเวณชายหาดบางแสน เช่น การใช้อุปกรณ์กวาดขยะชายหาด ประยุกต์ใช้ตาข่ายในการดักขยะจากท่อในพื้นที่
1.4 เพื่อกำจัดขยะตกค้างในพื้นที่กำจัดขยะ เช่น การทำก้อนเชื้อเพลิง (RDF) การทำน้ำมันเชื้อเพลิงจากขยะพลาสติก
1.5 เพื่อกำจัดขยะหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้วซึ่งถือเป็นขยะติดเชื้อ โดยดำเนินการตามคำแนะนำของกรมควบคุมมลพิษ โดยกำหนดจุดทิ้งขยะหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้วออกจากขยะอื่น ๆ โดยมีข้อความระบุชัดเจนเพื่อนำไปกำจัดอย่างถูกวิธี
2.การวิจัยเพื่อตอบปัญหาเชิงพื้นที่
2.1 การประเมินปริมาณขยะบริเวณชายหาดในช่วงฤดูมรสุม
2.2 การกำจัดขยะที่ลอยในทะเลในบริเวณพื้นที่ที่มีคลื่นกระแทก โดยใช้เรือเก็บขยะในทะเลไร้คนขับ
2.3 เทคโนโลยีการเก็บขยะตกค้างบริเวณชายหาดที่เป็นโคลนและโขดหิน
2.4 วิจัยพัฒนาถังขยะอัจฉริยะ เพื่อแยกขยะแต่ละประเภท
3.แนวทางการบริหารจัดการขยะพื้นที่ในระยะยาว โดยนำผลการดำเนินงานทั้งหมดมาจัดทำนโยบาย แผนงานและมาตรการเพื่อเป็นแนวทางให้เทศบาลเมืองแสนสุขในการจัดการและกำหนดงบประมาณในการดำเนินงานในระยะยาว
การดำเนินงานตามกรอบความร่วมมือในระยะ 1 ปี จะสามารถจัดการขยะในเทศบาลแสนสุขได้อย่างเบ็ดเสร็จ โดยอาศัยกลไกความร่วมมือของร้านค้าและผู้ประกอบการในพื้นที่ ใช้สถาบันการศึกษาท้องถิ่นเป็นหน่วยงานดำเนินงานเป็นพี่เลี้ยงให้กับท้องถิ่น และการประสานงานของทุกภาคส่วนผ่านการทำงานของเทศบาลแสนสุข
สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน