ประเทศจีน ประสบความสำเร็จอีกครั้งสำหรับเทคโนโลยีด้านอวกาศ หลังจากการปล่อยดาวเทียมควอนตัมได้เป็นครั้งแรกของโลก ในความพยายามที่จะช่วยพัฒนาระบบการสื่อสารที่ไม่สามารถ “แฮก” หรือเจาะระบบเข้าไปได้ โดยจรวดลองมาร์ช 2ดี ได้นำดาวเทียม “ควอนตัม เอ็กซ์เพอริเมนต์ส แอท สเปซ สเกล” (เควส) ยานสู่อวกาศที่ศูนย์ปล่อยดาวเทียม “จิ่วฉวน” ในทะเลสาบโกบี เมื่อเวลา 13.40 น. วันที่ 15 สิงหาคม ตามเวลาท้องถิ่น
สำนักข่าวซินหัวของทางการจีนรายงานเรื่องดังกล่าวไว้ว่า เควส ซึ่งมีระยะเวลาในการปฏิบัติหน้าที่ 2 ปี ถูกออกแบบมาเพื่อสร้างการสื่อสารแบบควอนตัมที่สามารถ “ป้องกันการแฮก” ด้วยการส่งสัญญาณที่ไม่สามารถเจาะรหัสได้จากอวกาศกลับมายังพื้นโลก และทำความเข้าใจเชิงลึกต่อปรากฏการณ์ควอนตัมฟิสิกส์ ที่เรียกว่า “เอ็นแทงเกิลเมนต์” ซึ่งเป็นเรื่องของความพัวพันเชื่อมโยงกันระหว่างสิ่งของสองสิ่ง แม้ว่าจะอยู่ห่างไกลกันออกไปในอวกาศ หากมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นกับสิ่งหนึ่งก็จะส่งผลกระทบต่ออีกสิ่งหนึ่งที่ผูกพันกันอยู่
ทั้งนี้ เควส จะส่งข้อมูลไปยังสถานีภาคพื้นดิน โดยใช้เอ็นแทงเกิล โฟตอน ซึ่งเป็นระบบที่ไม่สามารถแฮกได้ตามหลักวิชาการ นอกจากนี้ หากมีความพยายามจะดักฟังใดๆ ก็จะถูกจับได้ผ่านการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับสถานะของโฟตอน
โดยที่ผ่านมา มีหลายชาติพยายามที่จะทำให้การสื่อสารควอนตัมเกิดขึ้นได้จริง แต่ประเทศจีนถือเป็นประเทศแรกที่ปล่อยดาวเทียมที่มีเป้าหมายเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีดังกล่าวได้สำเร็จ โดยเควสยังจะทำการทดสอบ “ควอนตัม เทเลพอร์เตชั่น” การเคลื่อนย้ายข้อมูลที่แม่นยำเกี่ยวกับสถานะของอนุภาคต่างๆ จากดาวเทียม กลับไปยังสถานที่ฐานที่ทิเบต
สำหรับดาวเทียมเควสนั้นมีน้ำหนัก 600 กิโลกรัม ออกแบบให้โคจรรอบโลกที่ระดับความสูง 500 กิโลเมตร และใช้เวลา 90 นาทีในการโคจรรอบโลก 1 รอบ และมีชื่อเรียกอีกชื่อว่า “ม่อจื๊อ” ซึ่งเป็นชื่อของนักปรัชญาชาวจีน ที่เป็นคู่แข่งของขงจื๊อ
“ก็เหมือนกับโครงการกาลิเลโอของนาซา และกล้องโทรทรรศน์เคปเลอร์ เราใช้ชื่อของนักปรัชญาที่มีชื่อเสียงมาตั้งเป็นชื่อของดาวเทียมควอนตัมดวงแรกของเรา” พัน เจี้ยนเหว่ย นักควอนตัม ฟิสิกส์ หัวหน้าโครงการเควส กล่าว และว่า “เราหวังว่านี่จะเป็นการส่งเสริมและยกระดับความเชื่อมั่นที่มีต่อวัฒนธรรมของประเทศจีน”