“วราเทพ รัตนากร” ขึ้นไต่สวนพยานจำเลยนัดสอง คดีจำนำข้าว ย้ำรัฐบาลยิ่งลักษณ์ เข้มวิธีการตรวจคุณภาพข้าว – ชาวนาลงทะเบียน
19 ส.ค.59 นายชีพ จุลมนต์ รองประธานศาลฎีกา เจ้าของสำนวน พร้อมองค์คณะรวม 9 คน ได้ไต่สวนพยานจำเลยนัดที่ 2 คดีโครงการรับจำนำข้าว หมายเลขดำ อม.22/2558 ที่อัยการสูงสุด เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นจำเลย ในความผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบฯ และเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่ หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 กรณีละเลยไม่ดำเนินการระงับยับยั้งโครงการรับจำนำข้าว ซึ่งทำให้รัฐเสียหายกว่า 5 แสนล้านบาท
โดยวันนี้ ทนายความจำเลย นำ นายวราเทพ รัตนกร อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และอดีต รมช.เกษตรและสหกรณ์ เข้าไต่สวนเพียงปากเดียว สรุปว่า ข้าวที่ชาวนานำมาเข้าโครงการจะมีการคิดคำนวณว่ามีข้าวหักหรือไม่ ซึ่งหากมีข้าวหัก ชาวนาจะได้รับเงินไม่เต็มจำนวนที่กำหนดไว้ในการรับจำนำ 15,000 บาทต่อตัน และรัฐบาลไม่รับจำนำข้าวอายุน้อยกว่า 110 วัน โดยวิธีการตรวจสอบข้าวนั้น ณ จุดรับจำนำข้าวเปลือก จะมีเครื่องบดเพื่อตรวจสอบลักษณะและคุณภาพข้าวว่าใช้ได้หรือไม่ซึ่งเจ้าหน้าที่ผู้ตรวจจะเป็นผู้รับผิดชอบ โดยไม่ได้นำตัวอย่างข้าวเปลือกที่นำมาจำนำทดลองในห้องปฏิบัติการ พร้อมทั้งยืนยันชาวนาไม่ได้เร่งปลูกข้าวเพื่อจะเข้าสู่โครงการเพราะเป็นไปได้ยาก ขณะที่ชาวนาผู้ที่จะนำเข้ามาจำนำต้องมีการขึ้นทะเบียนเพื่อให้รู้ว่าปลูกข้าวพันธุ์อะไร จำนวนเท่าใด ในพื้นที่ใด แล้วจะมีเจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบ ซึ่งไม่มีเจ้าหน้าที่คนใดที่จะปล่อยให้มีการจำนำข้าวที่ไม่มีคุณภาพเพราะจะต้องมีผู้รับผิดชอบ
ส่วนรัฐบาลโดยกระทรวงพาณิชย์ ออกประกาศเรื่องการนำข้าว เข้าจากต่างประเทศนั้นเป็นการดำเนินการตามข้อตกลงเขตการค้าเสรี หรือ AFTA ของ WTO (องค์การการค้าโลก) ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความชัดเจนในทางปฏิบัติให้นำเข้า ข้าวได้เฉพาะบางประเภทในสัดส่วนไม่เกิน 200,000 ตัน โดยประกาศนั้นไม่เกี่ยวกับโครงการรับจำนำข้าว ส่วนที่ ป.ป.ช. และ สตง. มีหนังสือแจ้งเตือนการทุจริตและเสนอข้อแนะนำโครงการฯ จำเลยก็รับทราบและมอบหมายให้หน่วยงานเกี่ยวข้องปฏิบัติโดยจำเลยติดตามผลและปรับปรุงข้อกำหนดต่างๆ ให้รัดกุมขึ้น
ขณะที่พยานก็ได้รับมอบหมายให้ร่วมตรวจสอบตัวเลขของอนุกรรมการปิดบัญชี ที่ระบุผลขาดทุน 3 ฤดูกาล 5.6 แสนล้านบาทเศษนั้น ตัวเลขดังกล่าวไม่ถูกต้องและไม่สมบูรณ์ ใน 2 กรณี คือ 1.อนุฯ ได้คิดคำนวณมูลค่าข้าวคงเหลือในบัญชีโดยใช้ราคาเฉลี่ยต่ำสุดที่มาจาก ราคาต้นทุนซึ่งเป็นราคาที่รับจำนำ , ราคาขาย และราคาที่ขายได้จริง แต่กระทรวงพาณิชย์ให้เสนอใช้ราคาต้นทุนซึ่งมีราคาที่สูงกว่า จะทำให้ตัวเลขขาดทุนน้อยลง และ 2.อตก.กับ อคส. รายงานตัวเลขข้าวแตกต่างกันถึง 2 แสนตัน โดยที่ประชุมตรวจสอบแล้วสุดท้ายพบว่า ตัวเลขอ้างข้าวหายไม่เป็นความจริง จึงทำให้ผลขาดทุนลดลง อย่างไรก็ตามรัฐบาลไม่ได้คัดค้านตัวเลขของอนุฯ ปิดบัญชี แต่ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับวิธีคำนวณที่ทำให้ตัวเลขแตกต่างกัน สำหรับการควบคุมกรอบวงเงินนั้นเป็นตาม พ.ร.บ.หนี้สาธารณะ