ชี่เป็นพลังพื้นฐานของร่างกาย เป็นตัวนำพาเลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกาย ถ้ามีชี่เพียงพอ ร่างกายจะแข็งแรงไม่อ่อนเพลียง่าย แต่ถ้าชี่พร่อง จะทำให้ปวดหัว
ชี่เป็นพลังพื้นฐานของร่างกาย เป็นตัวนำพาเลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกาย ถ้ามีชี่เพียงพอ ร่างกายจะแข็งแรงไม่อ่อนเพลียง่าย สู้งานได้เต็มที่ แต่ถ้าชี่พร่อง จะทำให้ปวดศีรษะเป็นอาการหนึ่งร่วมกับอาการอื่น เช่นปวดพร้อมกับเวียนศีรษะ ปวดเรื่อยๆ เหนื่อยง่าย หลังเหน็ดเหนื่อยจะปวดศีรษะมากขึ้น อ่อนเพลีย ทนความเหนื่อยได้น้อย หายใจตื้น พูดก็เหนื่อย เดินมาก ขึ้นบันไดจะเหนื่อยจนหายใจไม่ทัน ลิ้นอ้วน
ถ้าชี่ส่วนกลางไม่พอจะทำให้กระเพาะอาหารหย่อน แสดงออกที่กินอาหารแล้วท้องอืด ลมมาก ย่อยไม่ดี ไตหย่อน แสดงออกที่ปวดเมื่อยเอวบริเวณไต ในสตรีบางท่านจะมีมดลูกหย่อนร่วม แสดงออกที่ปวดเอวโดยเฉพาะปวดที่กระเบนเหน็บ ที่ช่องคลอดมีก้อนจุกอยู่ มีระดูขาวเป็นน้ำใสๆ เลอะชั้นใน มาพร้อมกับอาการปวดศีรษะ
ต้องเสริมเพิ่มพลังชี่ ยกหยาง อาการปวดศีรษะจะทุเลาลง คนไข้ที่ปวดศีรษะชนิดชี่พร่องจะกินอาหารหรือดื่มเครื่องดื่มที่หนาวเย็นไม่ได้ พอกินจะปวดศีรษะทันที
ปวดศีรษะจากเสมหะอุดกั้น
เสมหะเกิดมาจากความชื้น ความชื้นมาได้ทั้งจากภายนอก ที่ฝนตกมาก อยู่กับน้ำมาก เช่นต้องสัมผัสกับน้ำมาก ที่อยู่อาศัยมีน้ำมาก เป็นต้น ส่วนความชื้นที่มาจากภายใน มาจากม้ามอ่อนแอ ม้ามอ่อนแอความชื้นจะเกิดขึ้น ถ้าความชื้นจากภายนอกรวมกับความชื้นภายใน จะทำให้ร่างกายมีความชื้นมาก ความชื้นขังอยู่ที่ไหนจะทำให้ที่นั่นเกิดปัญหา อาการปวดศีรษะจากความชื้น มาจากความชื้นขังอยู่ส่วนบน ซึ่งก็คือศีรษะ ทำให้เกิดอาการปวดศีรษะ อาการจะมีลักษณะพิเศษ ดังนี้
ปวดแบบเบลอๆ หรือปวดเหมือนถูกบีบรัด เหมือนเอาผ้ามารัดไว้หรือเหมือนมีอะไรครอบไว้ ปวดหนักๆ
แน่นหน้าอก อืดแน่นลิ้นปี่ คลื่นไส้อยากอาเจียน ดูง่าย ให้แลบลิ้นดู จะมีฝ้าขาวหนาเขรอะ แสดงว่ามีความชื้นในตัวเยอะ ต้องกินยาละลายเสมหะลดชื้นลง อาการปวดจะหายไปอย่างรวดเร็ว ต้มลูกเดือยใส่ขิงกินสามารถช่วยขับชื้นได้
ปวดศีรษะจากเลือดคั่ง
เลือดต้องไหลเวียนไปทั่วร่างกายไม่มีหยุดนิ่ง หากมีเหตุที่ทำให้เลือดต้องหยุดนิ่ง จะทำให้เลือดคั่งเกิดขึ้น สาเหตุที่ทำให้เลือดคั่งมี
-ชี่อั้น เพราะชี่เป็นตัวนำเลือด เมื่อชี่อั้น เลือดย่อมคั่งตาม ชี่อั้นเกิดจากนอนดึก ใช้สมองมาก ตับทำงานไม่คล่อง
-สารยินน้อย สารน้ำสารเหลวน้อย เลือดต้องมีสารน้ำสารเหลวเป็นส่วนประกอบส่วนหนึ่ง เมื่อสารยินน้อย เลือดจะหนืดง่าย มักเกิดขึ้นกับผู้สูงอายุที่ยินพร่อง
-ไขมันในเลือดสูง ทำให้เลือดข้น
-ได้รับบาดเจ็บ ทำให้ช้ำใน
อาการปวดจากเลือดคั่งแสดงออกดังนี้
ปวดแบบทิ่มแทง เจ็บอยู่ที่เดียว มักมีประวัติเกิดอุบัติเหตุ และปวดนานรักษาอย่างไรก็ไม่หาย ลิ้นจะมีจ้ำ ใต้ลิ้นเส้นเลือดจะบวมเป่งดำ ต้องใช้ยาตามสาเหตุที่ทำให้เกิดเลือดคั่ง ยากระจายเลือดจะเป็นยาหลักในการรักษาอาการปวดศีรษะชนิดนี้