ผู้สื่อข่าวรายงาน เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดหลายราย ในพื้นที่บ้านวังไทรทอง หมู่ 7 ตำบลซับเปิบ อำเภอวังโป่ง จังหวัดเพชรบูรณ์ ต่างกำลังได้รับความเดือดร้อน หลังประสบปัญหากับกองทัพหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุด แพร่ระบาด บุกกัดกินต้นข้าวโพดปลูกใหม่ และยอดอ่อน จนได้รับความเสียหายเป็นบริเวณกว้าง นับพันไร่
จึงเดินทางไปตรวจสอบ พบเกษตรกรชาวไร่ข้าวโพด ต่างกำลังนำคนงาน เร่งฉีดพ่นสารเคมี เพื่อป้องกันและกำจัดหนอนกระทู้ ที่กำลังลงกัดกินต้นข้าวโพดทั่วทั้งแปลง โดยกัดกินยอดอ่อนและใบข้าวโพดจนแหว่งเป็นรู เมื่อใช้มือคลี่ใบข้าวโพดและในยอดอ่อน ก็จะพบตัวหนอนหลบซ่อนแสงอยู่ข้างใน หรือตามโคนกาบใบข้าวโพด ซึ่งหากปล่อยทิ้งไว้อย่างนี้ ความเสียหายที่เห็นได้ชัด คือ ในระยะต้นอ่อนจะทำให้ข้าวโพดตาย และในระยะต้นแก่ ข้าวโพดจะเจริญเติบโตได้ไม่เต็มที่ ฝักลีบเล็กไม่สมบูรณ์ ทำให้ผลผลิตเสียหายได้
จากการสอบถาม นายบุญล้ำ ทองเสี่ยน อายุ 57 ปี อาศัยอยู่บ้านเลขที่182 บ้านวังไทรทอง หมู่ 7 ต.ซับเปิบ อ.วังโป่ง จ.เพชรบูรณ์ เปิดเผยว่า ปีนี้ การแพร่ระบาดของหนอนกระทู้ มีความรุนแรงมากกว่าทุกปีที่ผ่านมา โดยแปลงข้าวโพดของตนที่ปลูกไว้ จำนวน 45 ไร่ พบว่าตั้งแต่ข้าวโพดเริ่มงอก แตกใบอ่อน ประมาณ 2-3 ใบ ก็ถูกกองทัพหนอนกระทู้บุกเข้ากัดกินยอดอ่อน ใบอ่อน และต้นอ่อน จนได้รับความเสียหายทั่วทั้งแปลง ตนจึงรีบนำคนงานเข้าฉีดพ่นสารเคมีเพื่อป้องกันและกำจัดหนอนกระทู้โดยด่วน ไม่ให้สร้างความเสียหายไปมากกว่านี้ แต่หลังจากฉีดพ่นไปได้ไม่กี่วัน กลับพบว่าหนอนกระทู้ ก็ยังคงแพร่ระบาดอย่างต่อเนื่อง ทำให้ตนและเกษตรกรรายอื่นๆ จำเป็นต้องฉีดพ่นสารเคมีทุกๆ สัปดาห์ หรือ 7 วันต่อครั้ง ซึ่งจนถึงขณะนี้ ตนฉีดพ่นสารเคมีไปแล้ว ถึง 4 รอบ และอาจจะต้องฉีดยาไปจนกว่าจะได้เก็บเกี่ยว ทำให้ต้องแบกรับภาระต้นทุนที่สูงขึ้น ทั้งค่ายา ค่าแรง ค่าคนงาน ฯลฯ อีกทั้งในปีนี้ นอกจากเกษตรกรจะประสบปัญหาหนอนกระทู้แพร่ระบาดแล้วนั้น ยังพากันประสบปัญหาภาวะภัยแล้ง ฝนทิ้งช่วง ทำให้ต้นข้าวโพดขาดน้ำ จนเริ่มเหี่ยวเฉา
ทั้งนี้ หนอนกระทู้ข้าวโพด จะมีลักษณะส่วนบนของหัวมีแถบสีขาวเป็นรูปตัว Y หัวกลับ ด้านหลังและด้านข้างมีแถบสีขาวตามยาว ลำตัวปล้องท้องก่อนปล้องสุดท้ายมีจุดสีดำ 4 จุด เรียงเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส เมื่อตัวเต็มวัย มีแถบสีขาวที่ขอบปีกคู่หน้า กลางปีกมีแถบลักษณะเป็นวงรีสีน้ำตาล เพศเมียมีสีและลวดลายจางกว่าเพศผู้ ซึ่งวงจรชีวิตหนอนกระทู้ข้าวโพด หนึ่งรอบวงจรชีวิต ใช้เวลาประมาณ30-40วัน เมื่อผสมพันธุ์แล้ว เพศเมียจะวางไข่ในเวลากลางคืน โดยจะวางเป็นกลุ่ม ใต้ใบพืช แต่ละกลุ่มไข่จะมีไข่ประมาณ 100-200 ฟอง และมีขนสีน้ำตาลอ่อนปกคลุม เพศเมียหนึ่งตัวจะวางไข่ได้ประมาณ 1,500-2,000ฟอง หนอนโตเต็มที่มีขนาดลำตัวยาวประมาณ 3.2-4.0 ซม. หนอนจะทิ้งตัวลงดินเพื่อเข้าดักแด้ ระยะดักแด้ 7-13 วัน จึงออกเป็นตัวเต็มวัย และมีชีวิตอยู่ได้ 10-21วัน ตัวเต็มวัยสามารถบินได้เฉลี่ย 100 กิโลเมตรต่อคืน
เดชา มลามาตย์/มนสิชา คล้ายแก้ว