จากภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซา ทำให้คนไทยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมหันมารับประทานอาหารริมทางกันมากขึ้น ทำให้กิจการร้านริมทางขยายตัวอย่างรวดเร็ว เพิ่มขึ้นถึง 60% เลยทีเดียว
คุณฐนิวรรณ กุลมงคล นายกสมาคมภัตตาคารไทย ให้ข้อมูลว่า แนวโน้มร้านอาหารริมทางในประเทศไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเพิ่มขึ้นถึง 50-60% เพื่อรองรับพฤติกรรมของคนไทยที่ชื่นชอบรับประทานอาหารนอกบ้าน แต่ต้องประหยัดค่าใช้จ่าย จึงเปลี่ยนจากการเข้าร้านอาหาร ภัตตาคาร มารับประทานตามร้านริมทางมากขึ้น ทำให้ร้านอาหารภัตตาคารไม่สามารถปรับราคาอาหารขึ้นได้ เพราะมีการแข่งขันที่รุนแรงรวมทั้งยังต้องลดต้นทุนเพื่อให้ธุรกิจอยู่รอด
ร้านอาหาร ภัตตาคาร ลดต้นทุนด้วยการปรับลดวัตถุดิบในจานอาหารลง เช่น ลดปริมาณกุ้งจาก 3 ตัว เหลือ 2 ตัว แต่ราคาอาหารยังปกติ เพิ่มขนาดจานบรรจุอาหารให้มีขนาดใหญ่ขึ้น เพื่อให้ผู้ซื้อรู้สึกว่ามีการเพิ่มปริมาณอาหาร และล่าสุดสมาคมภัตตาคารได้ก่อตั้ง เรสเตอรองส์ โซไซตี้ ขึ้น เพื่อเพิ่มอำนาจต่อรองให้ราคาวัตถุดิบคงราคาเดิม
นอกจากนี้ ยังร่วมมือกับองค์การตลาดเพื่อการเกษตร (อ.ต.ก.) สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) สมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย จัดซื้อขายวัตถุดิบอาหารด้านเกษตรในรูปแบบออนไลน์ โดยให้ร้านอาหารที่เป็นสมาชิกซื้อวัตถุดิบด้านเกษตรจากเว็บไซต์ อ.ต.ก. โดยตรง และซื้อได้ถูกกว่าท้องตลาดประมาณ 10% ด้วยสินค้าเกษตรสำคัญมากสำหรับร้านอาหาร คิดเป็นสัดส่วนถึง 30%
คุณฐนิวรรณกล่าวว่า คนไทยเริ่มกินข้าวนอกบ้านน้อยลง เมื่อก่อนอาจจะสัปดาห์ละ 3 ครั้ง แต่ปัจจุบันเป็นสัปดาห์ละครั้ง เพราะระวังเรื่องการใช้จ่ายจากเศรษฐกิจที่ยังชะลอตัว แต่อย่างไรก็ตาม ภาพรวมของอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มในไทยในปีนี้ จากข้อมูลของศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่ามีมูลค่า 669,000 ล้านบาท มีผู้ประกอบการธุรกิจอาหารกว่า 4 แสนราย เป็นกลุ่มร้านอาหารริมทางประมาณ 40% และกลุ่มร้านอาหารภัตตาคารอีก 30% ขณะที่ตลาดอาหารเพื่อสุขภาพยังเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง เนื่องจากผู้บริโภคหันมาใส่ใจเรื่องสุขภาพมากขึ้น