ทีมนักวิจัยด้านฟิสิกส์ดาราศาสตร์ เพิ่งค้นพบ “นิกุ” เมื่อต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา และเผยแพร่รายงานเบื้องต้นเกี่ยวกับ “นิกุ” เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม ที่กลายเป็นที่มาของความมึนงง และตื่นเต้นในแวดวงดาราศาสตร์มาจนถึงขณะนี้
“นิกุ” ถูกจัดให้เป็นเทหวัตถุประเภท “ไมเนอร์แพลเนท” ชนิด “ทรานส์ เนปจูน ออร์บิท” หรือ “ทีเอ็นโอ” ซึ่งหมายถึงดาวเคราะห์ขนาดเล็กที่มีวงโคจรอยู่นอกวงโคจรของดาวเนปจูน (หรือดาวเกตุ) ที่ถือเป็นดาวเคราะห์ดวงที่อยู่นอกสุดของระบบสุริยะในขณะนี้
การสะท้อนแสงของนิกุนั้นอ่อนจางมาก กล่าวคืออ่อนจางกว่าแสงสะท้อนจากดาวเนปจูนถึง 160,000 เท่า ซึ่งหมายความว่า ดาวเคราะห์ขนาดเล็กดวงนี้ที่เส้นผ่านศูนย์กลางไม่ถึง 200 กิโลเมตรด้วยซ้ำไป
แต่สิ่งที่ทำให้นิกุกลายเป็นปริศนาลึกลับต่อบรรดานักดาราศาสตร์ทั้งหลายถึงขนาดหาคำอธิบายที่เป็นเหตุเป็นผลไม่ได้ ไม่ใช่ขนาดของมันแต่เป็นพฤติกรรมของดาวดวงนี้
ปริศนาแรกสุดก็คือ วงโคจรของนิกุในตอนนี้อยู่เหนือ “ระนาบสุริยะ” และยิ่งเวลาผ่านไปมันยิ่งโคจรขึ้นสู่ด้านบนอยู่ตลอดเวลาอีกด้วย นักดาราศาสตร์พบว่า แนวระนาบวงโคจรของนิกุ เอียงทำมุม 110 องศากับระนาบสุริยะ ซึ่งเป็นแนวระนาบของวงโคจรของดาวเคราะห์และเทหวัตถุอื่นๆ ส่วนใหญ่ในระบบสุริยะ ที่ทำให้ระบบสุริยะแผ่ออกเป็นเหมือนจานเรียบๆ ที่มีดวงอาทิตย์เป็นจุดศูนย์กลางนั่นเอง
ปริศนาถัดมา ก็คือทิศทางการโคจรรอบดวงอาทิตย์ของนิกุ ซึ่งสวนทางไปในทิศทางตรงกันข้ามกับดาวเคราะห์ทุกดวงในระบบสุริยะ รวมทั้งเนปจูน ถ้าเปรียบทิศทางการโคจรของดาวเคราะห์ว่าเป็นการเดินหน้า ก็เท่ากับว่านิกุเดินถอยหลังอยู่ตลอดเวลา
นั่นเป็นเหตุผลที่ทำให้ทีมวิจัยที่ค้นพบตั้งชื่อให้มันว่า นิกุ ซึ่งมาจากภาษาจีนที่หมายถึงการก่อกบฏ
มิเชล แบนนิสเตอร์ นักดาราศาสตร์จากมหาวิทยาลัยควีนส์ ในเบลฟาสต์ สหราชอาณาจักร บอกว่าแรงโมเมนตัมเชิงมุมทำให้ทุกอย่างในระบบสุริยะหมุนไปในทิศทางเดียวกัน ตั้งแต่ดาวเคราะห์ไปจนถึงอนุภาคขนาดเล็กจิ๋ว นั่นหมายถึงว่าอะไรก็ตามที่หมุนไปในทิศทางตรงกันข้ามจะถูกดีดออกไปจากวงโคจร
แต่นิกุยังอยู่?
คอนสแตนติน บาทายกิน จากสถาบันเทคโนโลยีแห่งแคลิฟอร์เนีย (แคลเทค) ซึ่งเป็นผู้ใช้การวิเคราะห์บ่งชี้ว่า นอกวงโคจรของดาวเนปจูนออกไปมี “ดาวเคราะห์ดวงที่ 9” (ที่ไม่ใช่พลูโต ซึ่งถูกลดชั้นเป็นดาวเคราะห์แคระไปแล้ว) ดำรงอยู่แต่ยังไม่มีใครค้นพบ ยอมรับว่า ตอนแรกคิดว่านิกุตกอยู่ใต้อิทธิพลของแรงโน้มถ่วงจาก “ดาวเคราะห์ดวงที่ 9” ถึงได้แสดงพฤติกรรมแปลกๆ ออกมา
แต่บาทายกินระบุว่า ยิ่งวิเคราะห์มากไปเรื่อยๆ ยิ่งเป็นที่ชัดเจนว่านิกุอยู่ใกล้กับระบบสุริยะมากเกินไป มากจนไม่น่าจะตกอยู่ในอิทธิพลของดาวเคราะห์ดวงที่ 9 ดังกล่าว
แมทธิว โฮลแมน จากศูนย์ศึกษาฟิสิกส์ดาราศาสตร์ ฮาร์วาร์ด-สมิธโซเนียน ซึ่งเป็นหนึ่งในทีมที่ค้นพบนิกุวิเคราะห์ในทำนองเดียวกัน แต่ก็ได้ผลลัพธ์เดียวกัน พยายามค้นหาว่ามีดาวเคราะห์แคระอื่นที่อาจส่งอิทธิพลต่อนิกุหรือไม่ ก็ไม่พบยังไม่มีคำตอบอธิบายพฤติกรรมประหลาดของนิกุในเวลานี้
โฮลแมนบอกว่าคำตอบเดียวที่ได้ในเวลานี้ก็คือนิกุ แสดงให้เห็นว่าบริเวณรอบนอกระบบสุริยะนั้น ยังมีอะไรประหลาดๆ ที่เราไม่รู้อีกเยอะมาก!