กรณีมีข้อความพร้อมรูปประกอบระบุว่า เร็วๆ นี้คนไทยจะได้ใช้รถยนต์ไฟฟ้าราคาถูก เพราะยักษ์ใหญ่ค่ายรถยนต์ไฟฟ้าดอดไปซื้อที่ดินผืนใหญ่ เตรียมก่อตั้งโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยแล้ว
จากข้อมูลระบุว่า ค่ายรถยนต์เทสลาผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้ารายใหญ่จากต่างประเทศเตรียมบุกเมืองไทย ทั้งที่ความเป็นจริงค่ายเทสลายังไม่มีผู้นำเข้าและจำหน่ายอย่างเป็นทางการในประเทศไทยแต่อย่างใด
เมื่อปีที่แล้ว มีความพยายามจากเอกชนบางราย อ้างสิทธิเป็นผู้นำเข้าและตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้าเทสลา แต่ก็มีผู้คัดค้านร้องเรียนว่าสิทธิการนำเข้ามาจำหน่ายเป็นของตนเอง จนเกิดเป็นประเด็นพิพาท
ในที่สุดจนแล้วจนรอดเทสลาก็ยังไม่มีโอกาสเข้ามาทำตลาดในประเทศไทยได้อย่างจริงจัง ทั้งที่กระแสความนิยมรถยนต์ไฟฟ้ากำลังแผ่กว้างขึ้นในโลกยานยนต์ขึ้นเรื่อยๆ ค่ายรถยนต์หลายค่ายต่างเร่งพัฒนารถยนต์ไฟฟ้ารุ่นใหม่ๆ เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพื่อส่งไปจำหน่ายในหลายประเทศ
ฝ่ายรัฐบาลเองก็คงมองเห็นถึงความสำคัญของรถยนต์ไฟฟ้า แม้ว่าจะมีท่าทีไม่เห็นด้วยจากค่ายรถยนต์หลายแห่ง หากจะเร่งสนับสนุนรถยนต์ไฟฟ้าเร็วเกินไป เพราะจะส่งผลกระทบกับการลงทุนรถยนต์ทั่วไปของค่ายรถยนต์ต่างๆ เพราะควักกันไปมหาศาลแล้วก็ตาม ดังนั้นที่ประชุม ครม.เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม จึงอนุมัติแผนสนับสนุนรถยนต์ไฟฟ้า
นายศิริรุจ จุลกะรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กล่าวว่า ครม.มีมติเห็นชอบมาตรการสนับสนุนตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมนำเสนอ 2 ส่วน คือ แผนส่งเสริมให้มีรถยนต์ไฟฟ้ามาขับเคลื่อนบนท้องถนนภายในเดือนพฤศจิกายน ตามนโยบาย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ส่วนนี้ ครม.มอบหมายให้องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ เร่งจัดทำร่างทีโออาร์จัดซื้อรถโดยสารไฟฟ้า 200 คัน ให้กระบวนการจัดซื้อรถโดยสารไฟฟ้าให้แล้วเสร็จโดยเร็ว และแผนส่งเสริมลงทุนผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย ครม.อนุมัติหลักการว่าบริษัทที่สนใจลงทุนผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศ ต้องยื่นแผนการดำเนินงานในลักษณะแผนรวม (แพคเกจ) ประกอบด้วยแผนการลงทุนประกอบรถยนต์ไฟฟ้า และผลิตชิ้นส่วนสำคัญของรถยนต์ไฟฟ้า อาทิ แบตเตอรี่ มอเตอร์ ระบบการจ่ายไฟ
“หลังจาก ครม.เห็นชอบมาตรการสนับสนุนการผลิตรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าในประเทศแล้ว จะทำให้ภาคเอกชนตัดสินใจยื่นแผนขอรับการส่งเสริมการลงทุนในลักษณะของแพคเกจต่อสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ เพื่อแลกกับการยกเว้นภาษีนำเข้ารถยนต์สำเร็จรูป (ซีบียู) 0% จากก่อนหน้านี้ กระทรวงอุตสาหกรรมเชิญผู้ประกอบการที่มีฐานการผลิตรถยนต์ในประเทศไทยทั้ง 11 ราย ประกอบด้วย ค่ายรถญี่ปุ่น 8 ราย จีน 1 ราย และยุโรป 2 ราย แต่ทั้ง 11 ค่ายรถยนต์ยังไม่สนใจ เพราะขอรอมาตรการส่งเสริมก่อน” นายศิริรุจกล่าว
นายศิริรุจกล่าวว่า แนวทางการนำเสนอเป็นแพคเกจ อาทิ ค่ายรถโตโยต้าขอผลิตรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นอัลติส ช่วงแรกจะสามารถขอนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้า เฉพาะรุ่นอัลติสดังกล่าวเข้ามาได้ทั้งคัน ได้รับการยกเว้นภาษีนำเข้า โดยแต่ละค่ายรถยนต์ต้องนำเสนอแพคเกจว่าต่อไปจะผลิตรถไฟฟ้ารุ่นดังกล่าวในประเทศอย่างไรบ้าง การยกเว้นภาษีเพื่อเป็นการทดลองตลาดในประเทศ และมอบหมายให้กระทรวงการคลังจัดทำระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างรถยนต์ไฟฟ้าเพื่อนำมาใช้ในหน่วยราชการ
ด้านนายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) แสดงความเห็นต่อแผนการผลิต และการตลาดรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ในประเทศไทย ภายหลังรัฐบาลโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เดินหน้านโยบายดังกล่าวอย่างเต็มที่ ว่า นโยบายนี้เป็นเรื่องถูกต้อง และเป็นไปตามเทรนด์ของโลกต้องการลดมลพิษ ลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ โดยส่วนตัวเห็นด้วยกับนโยบายรัฐ และพูดเรื่องนี้มาหลายปีแล้วว่ารัฐบาลควรส่งเสริมการผลิตในไทยเพื่อให้ราคาถูก ตามเทรนด์ของโลก หากเราเร่งทำจะเป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออกและขายในประเทศ
ล่าสุด รัฐบาลมีการสนับสนุนอย่างเต็มที่ หลังจากนี้เชื่อว่าผู้ผลิตรถยนต์แต่ละค่าย ทั้งกลุ่มที่มีการผลิตในไทยอยู่ก่อนแล้ว และกลุ่มยังไม่มีการผลิตในไทยกำลังทำตลาดรถไฟฟ้าในต่างประเทศ จะมีการหารือกับภาครัฐอีกหลายครั้ง อาจใช้หลายเดือน หรือเป็นปี ขึ้นอยู่กับผลการเจรจาด้านกรอบลงทุนและสิทธิประโยชน์เหมาะสม เพราะจากเทรนด์ของรถไฟฟ้า ทำให้แต่ละค่ายมีโมเดลรถไฟฟ้าเพื่อเตรียมทำตลาดอยู่แล้ว ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ และช่วงเวลาเหมาะสมในการปล่อยรถออกสู่ตลาด
ดังนั้นต้องลุ้นว่าปี 2560 จะเริ่มมีค่ายรถยนต์นำเข้ารถไฟฟ้ามาจำหน่ายอย่างเป็นทางการเพื่อทดลองตลาดหรือไม่ แต่ที่แน่นอนคือ เดือนพฤศจิกายนนี้ จะมีรถบัสไฟฟ้าเกิดขึ้นก่อนตามนโยบายรัฐบาล กำหนดเป้าหมายการผลิตไฟฟ้าของไทยภายใน 1 ปีครึ่งถึง 2 ปี รวม 5,000 คัน จำนวนนี้เป็นรถบัสไฟฟ้า 200 คัน ที่เหลือเป็นรถยนต์นั่ง
นายสุรพงษ์กล่าวว่า ผู้สนใจลงทุน หากจะนำเข้ามาจำหน่ายจะต้องมีแผนผลิตชัดเจน โดยแผนการผลิตรถยนต์ประหยัดพลังงานมาตรฐานสากล (อีโคคาร์) น่าจะถูกนำมาใช้กับการผลิตไฟฟ้า แต่เชื่อว่าคงไม่กำหนดจำนวนผลิตรถยนต์ไฟฟ้าตายตัวนัก เพราะตลาดรถไฟฟ้ายังถือว่าเป็นตลาดใหม่ มีความเสี่ยงมากกว่ารถอีโคคาร์
นายสุรพงษ์ยังกล่าวด้วยว่า อย่างไรก็ตาม หากปี 2560 ค่ายรถยนต์ยังไม่มีการนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้ามาจำหน่าย แต่เชื่อว่าจะมีกลุ่มคนระดับบนต้องการทดลองใช้นำรถไฟฟ้าเข้ามาวิ่งในไทยอยู่บ้าง และเมื่อมีการจำหน่ายอย่างเป็นทางการ ตลาดคงเป็นไปตามคุณภาพของแต่ละแบรนด์ที่ผลิต ล่าสุดการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) มีแผนผลิตรถไฟฟ้าออกจำหน่าย ต้องติดตามว่าจะมีคุณภาพ ราคา ชวนให้คนกล้า มั่นใจซื้อไปใช้หรือไม่ และเมื่อใช้แล้วผลตอบรับเป็นอย่างไร เพราะต้องดูว่าระยะทาง ระยะเวลา คุณภาพแบตเตอรี่เป็นอย่างไร
เชื่อว่าต้องใช้เวลาเช่นเดียวกับรถไฮบริดเกิดมานานร่วม 10 ปี แต่พบว่าบางยี่ห้อดัง บางยี่ห้อไม่ดัง จากงานวิจัยระบุว่าตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในอาเซียนอยู่ที่ 1-1.5 หมื่นคันต่อปี ทำให้ค่ายรถลังเลว่าเหมาะสมแก่การลงทุนหรือไม่ เพราะเมื่อตลาดยังเล็กและมีค่ายรถหลายค่ายมาหารเฉลี่ยการผลิต พบว่าแต่ละปีผลิตได้น้อย จึงไม่มั่นใจว่าจะคุ้มทุนเมื่อไร ดังนั้นภาพรวมเชื่อว่ารถยนต์ไฟฟ้าจะใช้เวลาในเติบโตในไทยพอสมควร หากเริ่มปี 2560 ก็น่าจะบวกไปอีก 4-5 ปี
“กรณีผู้ผลิตไฟฟ้าเข้ามาเล่นในตลาดรถยนต์ไฟฟ้า หากคุณภาพไม่ดีจะทำให้ภาพรวมของมาตรฐานรถไฟฟ้าถูกมองลบหรือไม่ อันนั้นต้องอยู่ที่รัฐบาลในการควบคุมมาตรฐาน ที่ทุกคนจับตาคือระยะทางว่าเมื่อขับแล้วจะถึงปลายทางหรือไม่ จะเกิดปัญหาหรือไม่ แนวทางนี้ควรเริ่มที่รถไฟฟ้ากึ่งไฮบริดก่อน เพราะถึงที่หมายแน่นอน และเมื่อใช้เวลาทดลองตลาด 2-3 ปีขึ้นไป จะสร้างความเชื่อมั่นจนสุดท้ายตัดสินใจใช้รถไฟฟ้า 100%” นายสุรพงษ์ระบุ
โฆษกและรองประธานกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ยังกล่าวอีกว่า ปัจจุบันหลายประเทศในโลกสนับสนุนรถไฟฟ้าจริงจัง อาทิ สหรัฐอเมริกาตั้งเป้าปี 2020 ให้มีการจดทะเบียนรถไฟฟ้า 1 ล้านคันในรัฐฟลอริดา สหภาพยุโรปตั้งเป้าปี 2020 รถวิ่งถนน 1 ล้านคัน และมาเลเซียตั้งเป้าหมายรถไฟฟ้าวิ่งบนถนน 1 แสนคัน ในปี 2020 เช่นกัน รวมทั้งจีนหนุนให้มีการผลิตและใช้รถไฟฟ้าในประเทศ จากเทรนด์ดังกล่าวจึงเป็นที่ทราบกันดีว่าปัจจุบันค่ายรถยนต์ทุกค่ายต่างมีแผนผลิตรถไฟฟ้าอยู่แล้ว แต่อยู่ที่การกำหนดราคาให้ตลาดยอมรับ
และสิ่งสำคัญคือ ความสามารถในการพัฒนา เพราะบางค่ายตั้งราคาสูง บางค่ายตั้งราคาไม่สูง อยู่ที่คุณภาพแบตเตอรี่