วันที่ 23 เมษายน 2563 เวลา 09.00 น.: กรมสอบสวนคดีพิเศษ โดย
พันตำรวจเอก อัครพล บุณโยปัษฎัมภ์ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้หารือร่วมกับผู้แทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ผู้แทนสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) และผู้แทนภาคเอกชน ประกอบด้วย บริษัท ทรูมันนี่ จำกัด และบริษัท ลาซาด้า จำกัด เพื่อประสานข้อมูลด้านการสืบสวนสอบสวนขยายผล และประเด็นสำคัญคือการสร้างการรับรู้ให้กับประชาชนให้ระมัดระวังเพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อในการซื้อสินค้าออนไลน์
สืบเนื่องมาจากนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม มอบนโยบายให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ ดำเนินมาตรการเชิงรุกด้วยการเฝ้าระวังและดำเนินการป้องกันปราบปรามสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมพิเศษ เพื่อปกป้องและช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 ภายใต้ชื่อ ศูนย์ DSI COVID-19 จากการปฏิบัติหน้าที่ของกองคดีเทคโนโลยีและสารสนเทศ ซึ่งเป็นหน่วยปฏิบัติของศูนย์ พบเบาะแสการหลอกขายสินค้าออนไลน์ มีประชาชนหลงเชื่อตกเป็นเหยื่อในการกระทำความผิดในเบื้องต้น 225 ราย
นายไตรยฤทธิ์ เตมหิวงศ์ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ และพันตำรวจเอก อัครพล บุณโยปัษฎัมภ์ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ซึ่งกำกับดูแลกองคดีเทคโนโลยีและสารสนเทศ ได้มอบหมายให้ พันตำรวจโท วิชัย สุวรรณประเสริฐ ผู้อำนวยการกองคดีเทคโนโลยีและสารสนเทศ สืบสวนเรื่องดังกล่าว พบพฤติการณ์กระทำผิด โดยกลุ่มมิจฉาชีพได้เปิดอินสตาแกรม (Instagram : IG) ในชื่อ sphonep2hand myphone2h เป็นต้น
เพื่อเชิญชวนให้สั่งซื้อสินค้าประเภทโทรศัพท์มือถือ กล้องถ่ายรูป และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ในราคาที่ถูกกว่าท้องตลาด เมื่อเหยื่อสนใจและเข้าไปติดต่อ จะให้เหยื่อเพิ่มเป็นเพื่อนในไลน์ (Line) ที่ใช้ชื่อว่า “เจ้าใหญ่ขายส่ง–มือ 2” เมื่อตกลงสั่งซื้อสินค้ากันแล้วจะให้เหยื่อส่งข้อมูลสำคัญให้ ประกอบด้วย ภาพถ่ายสำเนาบัตรประจำตัวประชาชน ภาพถ่ายตัวจริงคู่กับบัตรประจำตัวประชาชน รวมถึงหลักฐานการชำระเงินผ่านกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Wallet) พร้อมสลิปการจ่ายเงิน เมื่อได้ข้อมูลครบถ้วน ก็จะทำการบล็อกไลน์ของผู้เสียหาย และลบโพสต์ในอินสตาแกรม แล้วเปลี่ยนชื่อผู้ใช้งานบัญชีอินสตาแกรมใหม่เพื่อหลอกลวงผู้เสียหายไปเรื่อยๆ
ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่าเปลี่ยนไปแล้วทั้งหมด 55 ครั้ง แต่ทุกชื่อจะลงท้าย “….-2hand” เสมอ โดยข้อมูลตั้งแต่กุมภาพันธ์ 2561 ถึงวันที่ 20 มีนาคม 2563 พบว่ามีผู้เสียหายทั้งหมด 225 ราย แยกเป็นพื้นที่กรุงเทพมหานคร 73 ราย และกระจายในพื้นที่ 51 จังหวัด จำนวน 152 ราย รวมมูลค่าความเสียหายประมาณ 1,800,000 บาท
จากกรณีดังกล่าว กรมสอบสวนคดีพิเศษจึงได้ประสานข้อมูลกับเจ้าหน้าที่ตำรวจท้องที่เกิดเหตุ โดยเฉพาะจังหวัดปทุมธานี เพื่อสอบสวนดำเนินคดีและนำไปสู่การออกหมายจับมิจฉาชีพดังกล่าว โดยพบว่าหนึ่งในคนร้ายที่ถูกออกหมายจับเป็นเยาวชน และเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2563 กองคดีเทคโนโลยีและสารสนเทศ กรมสอบสวนคดีพิเศษได้บูรณาการร่วมกับกองบัญชาการตำรวจนครบาล กองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 1 และสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เข้าตรวจค้นและจับกุมผู้ต้องหาซึ่งเป็นเยาวชนดังกล่าว
ในความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน และความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม นำส่งพนักงานสอบสวนดำเนินคดีและอยู่ระหว่างการสอบสวนขยายผลเครือข่าย นอกจากนี้ยังพบข้อเท็จจริงเพิ่มเติมว่ากลุ่มมิจฉาชีพได้นำข้อมูลส่วนบุคคลที่ได้จากผู้เสียหายดังกล่าว ไปเปิดบัญชี e-Wallet หมายเลขอื่นเพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการรับโอนเงินจากการฉ้อโกงเหยื่อ
รายอื่นๆ ต่อไปเป็นทอดๆ
จากการสืบสวนพบว่ามีบัญชี e-Wallet กว่า 80 บัญชี ที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการถ่ายโอนเงิน สุดท้ายผลประโยชน์จะถูกโอนไปยังบัญชีเงินฝากธนาคารของมิจฉาชีพ จากการตรวจสอบพบว่า
มีเงินหมุนเวียนกว่า 10 ล้านบาท
กรมสอบสวนคดีพิเศษเห็นว่า แม้คดีความผิดอาญาดังกล่าวจะมิใช่คดีพิเศษที่กรมสอบสวนคดีพิเศษจะมีอำนาจรับไว้ทำการสอบสวน แต่พฤติการณ์และการกระทำของกลุ่มมิจฉาชีพดังกล่าว เป็นการซ้ำเติมพี่น้องประชาชนในช่วงที่กำลังได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 อันเป็นภัยสังคม
ในวันนี้ จึงเชิญผู้แทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ผู้แทนสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) และผู้แทนภาคเอกชน ประกอบด้วย บริษัท ทรูมันนี่ จำกัด และบริษัท ลาซาด้า จำกัด เพื่อร่วมกันหารือและแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อให้การป้องกันปราบปรามอาชญากรรมในเรื่องนี้เป็นรูปธรรมและมีประสิทธิภาพ และขอประชาสัมพันธ์ถึงแผนประทุษกรรมของกลุ่มมิจฉาชีพเพื่อให้พี่น้องประชาชนได้ทราบ และจะได้ไม่ตกเป็นเหยื่อ รวมทั้งขอแจ้งเตือนถึงการนำข้อมูลส่วนบุคคล โดยเฉพาะข้อมูลในบัตรประจำตัวประชาชนส่งให้บุคคลอื่น เป็นเรื่องที่ต้องระมัดระวังอย่างยิ่ง เพราะมิจฉาชีพอาจใช้ข้อมูลส่วนตัวไปก่ออาชญากรรม เช่น การเปิดบัญชีธนาคาร หรือเปิดบัญชี e-Wallet เพื่อใช้กระทำผิดต่อ ซึ่งทำให้เจ้าของข้อมูลได้รับความเดือดร้อนจากการรู้เท่าไม่ถึงการณ์ดังกล่าว
หากประชาชนมีข้อมูลหรือเบาะแสเกี่ยวกับการกระทำผิดในเรื่องต่าง ๆ สามารถร้องเรียนผ่านเว็บไซต์ของกรมสอบสวนคดีพิเศษ www.dsi.go.th หรือหากเป็นข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าควบคุม จำพวกหน้ากากอนามัย ใยสังเคราะห์เพื่อใช้ผลิตหน้ากากอนามัย ผลิตภัณฑ์ที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนผสมเพื่อสุขภาพอนามัยสำหรับมือ และกระดาษที่นำกลับมาใช้ได้อีก สามารถส่งข้อมูลได้ที่ “ศูนย์ DSI COVID-19” ผ่านทางเว็บไซต์ https://register.dsi.go.th/CaseControlledProducts หรือ สายด่วน DSI Call Center โทร.1202 (โทร.ฟรีทั่วประเทศ) โดยกรมสอบสวนคดีพิเศษจะเก็บรักษาข้อมูลผู้แจ้งเบาะแสไว้เป็นความลับ
สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน