บีบีซีไทย – BBC Thai รายงานว่า แอนโทนี เดวิส นักวิเคราะห์ประจำประเทศไทยของกลุ่มไอเอชเอส – เจนส์ ซึ่งเป็นกลุ่มที่ศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลข่าวความมั่นคงและการทหาร ได้ให้สัมภาษณ์บีบีซีไทยและให้ความเห็นถึงการก่อเหตุวางระเบิดในหลายจังหวัดในช่วงสองวันที่ผ่านมาว่า ถ้าดูจากลักษณะของการปฏิบัติการและอาวุธที่ใช้แล้วจะเห็นได้ชัดว่า กลุ่มที่มีศักยภาพในการลงมือก่อเหตุหนนี้มีอยู่กลุ่มเดียวคือกลุ่มบีอาร์เอ็น ซึ่งก่อเหตุแสดงการต่อต้านรัฐบาลตลอดเวลาสิบกว่าปีที่ผ่านมาในสามจังหวัดภาคใต้
เดวิสชี้ว่า ปฏิบัติการในระดับนี้ที่สามารถลงมือพร้อมกันได้ใน 7 จังหวัด ต้องใช้คนจำนวนมาก และต้องวางแผนมาอย่างดี ต้องใช้เวลาในการประสานงาน ไม่ใช่สิ่งที่จะสามารถลงมือทำได้ภายในไม่กี่วันและต้องอาศัยเครือข่ายคนในประเทศสนับสนุน ส่วนอาวุธที่ใช้เป็นวัตถุระเบิดขนาดเล็กพกพาได้ง่าย ความเสียหายที่เกิดจากเหตุการณ์แต่ละจุดไม่ได้มากนักแต่สร้างผลกระทบสูง นี่เป็นลักษณะการลงมือของกลุ่มบีอาร์เอ็นทั้งสิ้น
เมื่อถามถึงกรณีที่ผู้ใช้โซเซียลมีเดียจำนวนมากคาดการณ์กันว่า เรื่องนี้เป็นฝีมือของกลุ่มคนบางส่วนในกองทัพที่มีความไม่พอใจในหลายประเด็น โดยเฉพาะเรื่องที่จะมีการโยกย้ายกำลังทหารบางส่วนออกจากพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น เดวิสชี้ว่า จริงอยู่ในทางศักยภาพ พวกเขาอาจจะสามารถลงมือได้ แต่เขาเห็นว่าเรื่องนี้เป็นไปไม่ได้และไม่สมเหตุสมผลอย่างสิ้นเชิง
“ถ้าเราดูลักษณะของการลงมือ การใช้วัตถุระเบิดขนาดเล็ก การทำให้เกิดเพลิงไหม้ การใช้ระเบิดแสวงเครื่องแบบทำให้เกิดเพลิงไหม้ รวมทั้งปฏิบัติการที่สามารถประสานงานกันได้อย่างดี แต่ละแห่งเป็นปฏิบัติการที่ไม่ใหญ่มาก แต่ว่าจะต้องใช้คนอาจจะไม่ต่ำกว่า 30 คน ขณะที่ตัวปฏิบัติการไม่ได้ต้องการจะสร้างความเสียหายแบบทำให้มีคนบาดเจ็บล้มตายเป็นจำนวนมาก ทั้งหมดนี้เป็นสัญญาณการลงมือของกลุ่มบีอาร์เอ็นทั้งสิ้น”
“ผมว่ามันไม่ใช่กลุ่มไอเอส คนลงมือพยายามจะบอกว่า พวกเขาไม่ใช่นักฆ่าที่มุ่งหมายสังหารคนจำนวนมาก แม้ว่าจะทำได้แต่เลือกที่จะไม่ทำ”
เดวิสชี้ว่า บีอาร์เอ็นเคยพยายามก่อเหตุระเบิดรถยนต์ในภูเก็ตแต่ไม่เกิดระเบิดขึ้น ส่วนเหตุที่สมุยระเบิดทำงาน แต่สำหรับหนนี้ ทางกลุ่มเลือกใช้วัตถุระเบิดขนาดเล็กที่ทำงานง่ายกว่าระเบิดรถยนต์ และก่อเหตุในจุดที่สำคัญทางเศรษฐกิจ ไม่ได้สร้างความเสียหายสูงมาก แต่ก็กระทบต่อความเชื่อมั่นและตกเป็นข่าวไปทั่วโลก “เป็นปฏิบัติการที่ลงแรงน้อย แต่ได้ผลสูง” ทั้งหมดนี้ยิ่งทำให้เขาเชื่อว่าเป็นฝีมือของบีอาร์เอ็นอย่างแน่นอน
เมื่อถามถึงความเป็นไปได้ว่า เหตุระเบิดครั้งนี้อาจจะเป็นฝีมือของคนในกลุ่มเสื้อแดงหรือไม่ เดวิสชี้ว่า เขาสงสัยในข้อสันนิษฐานนี้อย่างยิ่ง เพราะกลุ่มคนเสื้อแดงที่เชื่อกันว่าน่าจะเป็นคนลงมือ เพื่อแสดงความไม่พอใจต่อผลการลงประชามติและต้องการลดความน่าเชื่อถือของคสช. นั้น เมื่อคำนึงถึงเหตุผลและเวลาของการลงมือนับว่าไม่สอดคล้องกัน ตลอดจนศักยภาพก็ไม่น่าจะทำได้
“เมืองไทยลงประชามติวันที่ 7 ส.ค. เหตุการณ์เกิดขึ้นวันที่ 11-12 ส.ค. พวกเขาจะทำเรื่องใหญ่ขนาดนี้ได้โดยมีเวลาเตรียมการแค่สามวัน มันจะเป็นไปได้อย่างไร การลงมือในระดับนี้ต้องการการเตรียมตัวที่ยาวนาน” นอกจากนี้ เดวิสชี้ว่า ทหารติดตามความเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดงมาช้านาน แกนนำเสื้อแดงทุกคนล้วนถูกจับตา เจ้าหน้าที่มีข้อมูลของพวกเขาไม่ว่าที่อยู่หรือเบอร์โทรศัพท์ การจะทำเรื่องใหญ่ขนาดนี้โดยที่เจ้าหน้าที่ไม่ระแคะระคายเลยนั้น นับเป็นเรื่องที่ไม่น่าเป็นไปได้
ยังมีผู้เสนอว่า เหตุระเบิดหนนี้อาจจะเป็นฝีมือของกลุ่มจากต่างประเทศ เช่นอุยกูร์ที่ต้องการปรามทางการไทย ไม่ให้ส่งตัวผู้หนีภัยอุยกูร์ให้จีนดังเช่นที่เคยกระทำเมื่อปีที่แล้วอีกหรือไม่ เดวิสชี้ว่า ปฏิบัติการในระดับนี้ครอบคลุมหลายพื้นที่ ต้องการคนที่มีความรู้ในพื้นที่แต่ละจุดเข้าร่วมจำนวนมาก เพื่อประสานงานเตรียมการ เขาไม่เชื่อว่าอุยกูร์มีคนอยู่ในเมืองไทยที่มีศักยภาพมากพอที่จะทำได้
เมื่อถามถึงมูลเหตุจูงใจ ว่าเหตุใดบีอาร์เอ็นจึงต้องการลงมือในขณะที่กำลังพูดคุยอยู่กับรัฐบาล แม้ว่าขณะนี้การพูดคุยจะยังไม่มีเค้าเดินหน้า แต่ก็ถือได้ว่ายังไม่ได้หยุดไปเสียทีเดียว แอนโทนี เดวิสกล่าวว่า แม้จะมีการพูดคุย แต่เป็นที่รู้กันว่าปีกการทหารของบีอาร์เอ็นไม่พอใจกับการพูดคุยนั้น เขาเชื่อว่านี่อาจจะเป็นการส่งสัญญาณให้ทางการไทยเอาจริงเอาจังเสียที โดยบอกเป็นนัยว่า ทางกลุ่มสามารถจะสร้างความเสียหายได้มากกว่านี้ถ้าต้องการ และแม้เจ้าหน้าที่อาจจะมีกำลังคนร่วม 7 หมื่นคนในสามจังหวัดภาคใต้ แต่ในพื้นที่ 7 จังหวัดภาคใต้ที่เกิดเหตุ เจ้าหน้าที่ไม่มีกำลังดูแลมากขนาดนั้น
เดวิสระบุว่า เขาเชื่อว่าบีอาร์เอ็นต้องการบอกอะไรสักอย่างกับรัฐบาลทหารของไทยผ่านการลงมือหนนี้ และเชื่อว่าเจ้าหน้าที่ทหารระดับสูงจะอ่านออก แต่สิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นคือ สังคมไทยอาจจะไม่มีวันได้รู้อย่างชัดเจนเลยว่า ใช่บีอาร์เอ็นจริงหรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากรอการแถลงยืนยันความรับผิดชอบ เพราะตลอดเวลาที่ผ่านมา กลุ่มบีอาร์เอ็นไม่เคยแสดงตัวรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ใด ๆ
บีบีซีไทยส่งคำถามไปยังอาบูฮาฟิส อัลฮากิม แห่งกลุ่มมารา ปาตานี ซึ่งเป็นกลุ่มที่บีอาร์เอ็นและขบวนการกลุ่มอื่นในภาคใต้เข้าร่วมเพื่อพูดคุยกับรัฐบาล ได้รับคำตอบว่า มารา ปาตานี เป็นกลุ่มที่ทำงานทางการเมือง ย่อมไม่ลงมือก่อเหตุ แต่ในเรื่องของสมาชิกมารา ปาตานีนั้น ต้องไปถามแต่ละกลุ่มเอาเองว่า พวกเขามีส่วนร่วมมากน้อยเพียงใด ที่ผ่านมา บีอาร์เอ็นยังไม่เคยมีถ้อยแถลงแสดงความรับผิดชอบในการก่อเหตุครั้งใดทั้งสิ้น และไม่ตอบคำถามผู้สื่อข่าวเช่นเดียวกัน