กลายเป็นเกมของมหาชนชาวสมาร์ทโฟนประเทศไทยไปแล้วสำหรับ “โปเกมอน โก” โมบายเกมยอดฮิตจากค่ายนินเทนโด
ขณะเดียวกันเกิดเป็นกระแสความสนใจในสังคม มีทั้งเสียงสะท้อนเชิงบวกและเชิงลบ เวทีจุฬาฯ เสวนา เรื่อง “Pokemon Go จะพาสังคมไทยไปไหน?” จัดโดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีอีกหลายมุมมองน่าสนใจ…
นายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม(กทค.) และคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) มองว่า เทคโนโลยีมักไปไกลกว่าสติสัมปชัญญะ หากเล่นโดยไม่รู้ตัวก็อาจกลายเป็นเหยื่อ
สำหรับเกมโปเกมอนโกจนขณะนี้ยังหาความผิดทางกฎหมายในตัวเกมไม่พบ ที่พบคือพฤติกรรมการเล่นที่ไม่เหมาะสม แต่ไม่ใช่ว่าตัวเกมไม่ผิดกฎหมายแล้วไม่ต้องใส่ใจสังคม เป็นเรื่องของการอยู่ร่วมกัน
“เรื่องนี้เป็นปัญหาเชิงประจักษ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก ทว่าเป็นเพียงจุดเริ่มต้นที่คงได้เห็นเกมอื่นๆ ตามมา ถ้าอยู่กับมันไม่ได้ เราจะอยู่กับมันไม่ได้ตลอดไป”
อย่างไรก็ตาม การแบนไม่ให้เล่นเกมคงไม่ใช่คำตอบของปัญหา ถ้าห้ามเกมนี้ต่อไปคงต้องห้ามอีกหลายอย่างในโลกใบนี้ ทั้งจะเกิดปัญหาถกเถียงกันได้ในหลายๆ ประเด็น
บางเรื่องไม่จำเป็นต้องเข้ามาดูแล หากทำจะเป็นเรื่องที่สิ้นเปลืองทรัพยาการ แต่เป็นเรื่องของการดูแลตัวเองและโอกาสการเรียนรู้ร่วมกัน ว่าจะต้องมีทิศทางหรือมาตรการดูแลอย่างไร
“การแบนคงไม่ได้แก้ปัญหาใดๆ ทั้งสิ้น วิธีแก้ควรร่วมกันสรุปและรายงานไปยังผู้ให้บริการเกมว่า สถานที่ใดควรมี สถานที่ใดควรมี ที่ใดอันตราย เป็นเรื่องของการขอความร่วมมือและการอยู่ร่วมกัน”
สร้างโอกาสมหาศาล
นายพีรธน เกษมศรี ณ อยุธยา ผู้ช่วยบริหารงานประธานคณะผู้บริหารและหัวหน้าคณะผู้บริหารด้านคอนเทนต์และมีเดีย บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า ในฐานะตัวแทนด้านพาณิชย์ของเกมเชื่อว่าโปเกม่อน โก เพิ่มโอกาสได้มหาศาล โดยเฉพาะเป็นเครื่องมือการตลาดสำหรับธุรกิจตั้งแต่กลุ่มเอสเอ็มอีไปจนถึงขนาดใหญ่
ตัวอย่างที่พบ ในอเมริกาบางร้านเพิ่มยอดขายได้กว่า 75% ญี่ปุ่นมีความร่วมมือกับแมคโดนัล ในไทย ททท. มีแผนงานซึ่งจะช่วยเผยแพร่ความเป็นไทยไปสู่ชาวโลก จึงนับเป็นอีกหนึ่งแพลตฟอร์มซึ่งต้องหาวิธีใช้มันให้เกิดประโยชน์
นอกจากนี้ มีส่วนสำคัญช่วยสร้างคอมมูนิตี้ เป็นสิ่งบวกที่เปิดโอกาสให้เกิดการสื่อสาร สร้างโอกาสการค้าขาย
อย่างไรก็ตาม แผนของเกมแบ่งเป็น 2 เฟส ระยะแรกนี้คือปล่อยโกลบอลเวอร์ชั่นออกมาให้เล่น เพื่อนำไปพัฒนาอินฟราสตรักเจอร์ ทำให้เกมสเถียร พร้อมเปิดรับความคิดเห็นจากแต่ละท้องถิ่นที่ทำตลาด
ส่วนเฟสต่อไป เน้นร่วมมือกับพันธมิตรท้องถิ่น ที่ต้องการเห็นคือการทำให้ภาษาไทยกลายเป็นอีกหนึ่งภาษาในเกม ผู้เล่นจะได้เข้าใจคำเตือนต่างๆ เท่าที่ทราบแผนการพัฒนาจะทำในระยะยาว 5 ปี ดังนั้นน่าจะมีอะไรให้ตื่นเต้นมาให้เห็นต่อเนื่อง
อย่างไรก็ดี ตลาดเกมประเทศไทยมีมูลค่าหลายพันล้านบาท และปัจจุบันโมบายได้กลายเป็นเซ็กเมนท์ที่ใหญ่ที่สุดไปแล้ว
“มีความจำเป็นที่คนไทยต้องใช้เทคโนโลยีล่าสุด ทันสมัยที่สุดเพื่อผลักดันให้เกิดการพัฒนา พร้อมยกระดับคุณภาพชีวิต”
การเล่นเกมอย่างมีสติเป็นสิ่งที่ต้องสื่อสารออกไป ส่วนของทรูมีคอนเทนท์ให้ความรู้ผู้ใช้งาน การประชาสัมพันธ์ไปยังช่องทางต่างๆ ในแผนจะมีกระมีกระบวนการที่ชัดเจนและสม่ำเสมอ
แนะมองที่สมดุล
นายภุชงค์ เหล่ารุจิสวัสดิ์ นักวิชาการจิตเวชผู้ใหญ่ คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ขณะนี้เป็นเพียงเชิงพฤติกรรม ปัญหาติดเกมมีอยู่มาก่อนอยู่แล้ว ไม่ใช่เพิ่งมีหลังจากเกมตัวนี้เข้ามา ที่ผ่านมาหมกมุ่นกว่านี้ก็มีให้เห็น
อย่างไรก็ดี ขอเรียกว่าตัวป่วนใหม่ซึ่งไม่ได้บวกหรือลบในตัวเอง แต่มีผลกระทบกับสังคม และยังต้องรอดูว่าจะส่งผลไปทางใด สร้างปัญหาลักษณะไหน
สำหรับระดับสังคม คำถามคือสังคมไทยจะป่วนจะรวนเพราะเกมนี้เลยหรือ ถ้าเป็นเช่นนั้นถือว่าสังคมอ่อนมาก ระดับครอบครัวต้องย้อนไปดูว่าการอบรมเลี้ยงดูเป็นอย่างไร ที่เห็นตอนเด็กๆ มักตามใจ และไปควบคุมกันตอนวัยรุ่น
“กรอบใหญ่ของปัญหาคือการใช้ไอทีของเยาวชน แม้ไม่มีเกมนี้ปัญหาก็มีอยู่แต่แรกอยู่แล้ว หากไม่มีวินัยต่อให้ไม่มีเกมนี้ก็รวนอยู่ดี ส่วนคนที่มีวินัยอาจมีเผลอไปบ้าง”
เกมนี้สะท้อนอะไรหลายๆ อย่างในสังคม ช่วงนี้ยังเป็นกระแสจึงเห็นคนเล่นจำนวนมาก หลังจากนี้พอหายเห่อก็อาจหายไปตามระยะเวลา ทว่านับเป็นโอกาสทดสอบระบบหลายอย่างของประเทศไทยเช่น ความปลอดภัย การจัดระเบียบสถานที่ การเดินในชุมชน การปฏิสัมพันธ์กับทางบ้าน วินัยทางสังคม ปัญหาการเลี้ยงดู การติดเกม ส่วนการปรับแก้ต้องใช้อารมณ์เชิงบวก
“ผมไม่คิดว่าเกมนี้เป็นปัจจัยเลวร้ายที่ต้องกำจัด ทั้งมีปัญหาที่ใหญ่กว่านี้ที่ต้องเข้าไปดูแลสังคมและเยาวชน ฉะนั้นขอให้มองอย่างกว้างๆ กลับมามองที่สมดุล หากสังคมถูกอะไรป่วนง่ายๆ ก็เพราะสมดุลของเราเอง”
นอกจากนี้ ไม่มีอะไรได้มาฟรีๆ ต้องแลกด้วยอะไรบางอย่าง ที่ห่วงคือเยาวชน หากแก้ปัญหาด้วยความรุนแรงหรือไปห้ามเขาอาจสร้างผลเสียมากกว่า
สำคัญที่กาละเทศะ
นางพรรณรพี สุทธิวรรณ นักวิชาการด้านจิตวิทยาพัฒนาการเด็กและวัยรุ่น คณะจิตวิทยา จุฬาฯ กล่าวว่า แง่จิตวิทยาเป็นเรื่องพฤติกรรมของคน โดยไทยเป็นสังคมที่ใจกว้าง พร้อมเปิดรับสิ่งใหม่ แต่ทั้งนี้อีกส่วนหนึ่งไม่ค่อยมีความระมัดระวังเรื่องความปลอดภัย และบางครั้งลืมเรื่องกาละเทศะ ใช้สิทธิของตน แต่อาจเผลอไปเหยียบเท้าคนอื่น
อย่างไรก็ดี ความกังวลเกิดจากความไม่รู้ ความกลัว และไม่ใช้เวลาศึกษาให้เต็มที่ ที่ผ่านมาทางออกที่พ่อแม่มักใช้กับลูกคือสั่งห้าม กรณีนี้หากห้ามเพียงอย่างเดียวเด็กอาจไม่เข้าใจ คิดว่าพ่อแม่ไม่รัก
อีกทางหนึ่งปัญหาอาจไม่ใช่เพียงแค่ไม่ได้เล่นเกม เป็นเรื่องของการได้รับการยอมรับจากเพื่อน จากสังคม ขณะนี้กระแสมาแรง การจะอธิบายให้เด็กเข้าใจในเวลาอันสั้นคงทำได้ยาก ส่วนการแก้ปัญหาวัยรุ่นต้องมีกรอบให้เขา
“ไม่มีอะไรหรอกที่ดีส่วนเดียวหรือเลวส่วนเดียว มันมักมีทั้งดีและไม่ดี มีจุดที่ต้องระมัดระวัง ฉะนั้นอยู่ที่ว่าจะปรับอย่างไรให้เหมาะกับตัวเองหรือคนในครอบครัว”
สำหรับผลเสียหรืออันตรายนั้นมีแน่นอน เช่นทำให้เปลืองเงิน เปลืองเวลา เป็นเหตุให้เกิดการทะเลาะระหว่างวัยรุ่น กระแสใหม่ๆ มักมีเข้ามาตลอด ดังนั้นขอให้ใช้เป็นโอกาสอบรมจริยธรรม สร้างความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัว หรือการออกกำลังกาย
อย่างไรก็ตาม แง่จิตวิทยาจะมองที่ตัวคอนเทนท์ว่ารุนแรงหรืออันตรายไหม เวลาเล่นแล้วมีความสุขไหม เชื่อว่าในที่สุดมันจะเกิดความสมดุล
สำหรับการที่เกิดกระแสต่อต้านจนคนบางกลุ่ม มองว่าเป็นเรื่องธรรมดา เนื่องจากคนไทยมีลักษณะขี้หมันไส้ เรื่องบางเรื่องไม่เป็นเรื่องจะสร้างให้เป็นเรื่องทำไม มันไม่ได้เป็นอะไรที่ขาวหรือดำ ดีหรือร้าย แต่ต้องหาจุดสมดุลซึ่งอาจไม่ใช่สูตรสำเร็จ สังคมชอบถามหาสูตรสำเร็จแต่ในความเป็นจริงมันไม่เคยมี
“ต้องหาจุดที่เหมาะสมของแต่ละบ้าน แต่ละครอบครัว แต่ละบุคคล ประเด็นสำคัญคือเรื่องของกาละเทศะ ไม่ไปละเมิดสิทธิของคนอื่น”
กสทช.ส่งอีเมลขอถอด4สถานที่
ส่วนที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการกสทช. กล่าวว่า สำนักงาน กสทช. ได้ส่งอีเมลไปยังบริษัท ไนแอนติกประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นผู้พัฒนาและให้บริการเกมโปเกม่อน โก โดยในอีเมลได้ระบุให้ไนแอนติกเพิกถอนโปเกมอนออกจากพื้นที่ต้องห้าม 4 แห่ง
ประกอบด้วย 1. สถานที่อันตราย ได้แก่ ถนน ทางเท้า ทางรถไฟริมน้ำภูเขาต่างๆ 2. ศาสนสถาน 3. โบราณสถาน พิพิธภัณฑ์ และ 4. โรงเรียน สถานที่ราชการ สถานที่ความมั่นคง ต่างๆ และพื้นที่ส่วนบุคคล บ้านพักที่อยู่อาศัย ทั่วประเทศแล้ว
จากนี้บริษัทไนแอนติกจะเป็นผู้พิจารณา และหากภายในวันจันทร์ที่ 15 ส.ค. 2559 ยังไม่ทราบผลการขอความร่วมมือ กสทช. จะส่งย้ำเตือนไปอีกครั้งขณะเดียวกัน สำนักงาน กสทช.ได้แจ้งพนักงาน ห้ามเล่นเกมในเวลาทำงาน รวมถึงห้ามบุคคลภายห้ามเข้ามาเนื่องจากเป็นสถานที่ราชการ
“สำนักงานกสทช.ขอยืนยันว่าไม่มีเจตนาแบนเกมดังกล่าว เนื่องจาก กสทช. ไม่มีอำนาจแต่อย่างใด ขอให้ประชาชนมั่นใจว่ายังเล่นเกมได้ แต่ขณะเดียวกันก็ขอให้ผู้ปกครองดูแลเด็กและเยาวชนในการเล่น”