สำนักข่าวต่างประเทศได้รายงานว่า สถาบัน Royal Melbourne Institute of Technology ในประเทศออสเตรเลีย ได้ออกมาเปิดเผยถึงผลทดสอบพิเศษ เด็กมัธยมจำนวน 12,000 คนทั่วประเทศ เพื่อวัดประสิทธิภาพในการแก้โจทย์ปัญหาต่างๆ ทั้งในเชิงคณิตคำนวณ, วิทยาศาสตร์ และความสามารถในการอ่าน-เขียน ภายหลังถูกเชิญมาเข้าร่วม Program for International Student Assessment (PISA) พบว่า
กลุ่มเด็กที่ชอบเล่นเกมออนไลน์เป็นประจำ สามารถทำคะแนนในบททดสอบคณิตและการอ่านได้สูงกว่าค่าเฉลี่ย 15 แต้ม ในขณะที่ผลทดสอบวิทยาศาสตร์ พุ่งสูงเกินค่าเฉลี่ยถึง 17 แต้ม ซึ่งแตกต่างจากกลุ่มเด็กที่ติดสื่อโซเชียลมีเดีย อย่างเฟซบุ๊ก หรือทวิตเตอร์ ที่ผลการทำข้อสอบส่วนใหญ่ได้คะแนนต่ำกว่าเกณฑ์เฉลี่ย 4 %
โดยอัลแบร์โต พอสโซ (Alberto Posso) รองศาสตราจารย์นักเศรษฐศาสตร์แห่งสถาบันดังกล่าวได้เผยว่า จากผลทดสอบดังกล่าวทำให้เห็นว่าเกมออนไลน์นั้นมีส่วนช่วยฝึกฝนความสามารถอันหลากหลาย อีกทั้งยังช่วยให้ผู้เล่นมีการเรียงลำดับการคิดวิเคราะห์ที่สูงขึ้น จนนำไปสู่พัฒนาการในด้านคณิตศาสตร์และการอ่านเขียน เพราะตัวเกมมีการกระตุ้นให้เด็กนำเอาความรู้ที่ได้จากโรงเรียนมาประยุกต์ใช้ในการแก้ปัญหาภายในเกม เพื่อเดินหน้าสู่ความท้าทายในด่านใหม่ๆ ต่อไป
จะแตกต่างจากกลุ่มที่เล่นโซเชียลมีเดีย ที่ไม่ได้ช่วยในการพัฒนาใดๆ ดังนั้นจึงทำให้เห็นว่ากลุ่มเด็กเยาวชนผู้มีพรสวรรค์ทางด้านคณิตคำนวณ, วิทยาศาสตร์ และการอ่านเขียน มักนิยมชมชอบการเล่นเกมออนไลน์ ในขณะที่กลุ่มเด็กที่มีผลการเรียนย่ำแย่ มักชอบใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับสื่อโซเชียลมีเดีย