วันที่ 10 เม.ย.63 11.00 น.บก.ปคบ.: พล.ต.ต.ณัฐศักดิ์ เชาวนาศัย ผบก.ปคบ. พร้อมด้วย เภสัชกรหญิงสุภัทรา บุญเสริม รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา และนายชาตรี อารีวงศ์ ผู้อำนวยการกองตรวจสอบและปฏิบัติการ ร่วมกันแถลงผลปฏิบัติการจับกุมหน้ากากอนามัย อุปกรณ์ชุดตรวจไวรัสโควิด-19 ชุดตรวจป้องกัน PPE เครื่องวัดอุณหภูมิแบบอินฟาเรด และเจลแอลกอฮอล์ รวมมูลค่าของกลางกว่า 113,990,000 บาท
พล.ต.ต.ณัฐศักดิ์ฯ กล่าวว่า สืบเนื่องจากปคบ.ได้รับการร้องเรียนจากประชาชนผ่านทางเพจเฟซบุ๊กกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค และสายด่วน ปคบ.1135 ว่ามีการลักลอบนำเข้าสินค้าควบคุม (หน้ากากอนามัย และเจลแอลกอฮอล์) มาเพื่อจำหน่าย จึงได้สืบสวนจนทราบว่าโกดังเลขที่ 60/10-11 ซ.บางกระดี่ 16 แขวงแสมดำ เขตบางขุนเทียน กรุงเทพฯ เป็นแหล่งเก็บสินค้าควบคุม (หน้ากากอนามัย)
ต่อมาวันที่ 8 เมษายน 2563 ได้ขออนุมัติหมายค้น ตามหมายค้นศาลแขวงธนบุรี ที่ 10/2563 ลงวันที่ 8 เมษายน 2563 เข้าตรวจสอบโกดังดังกล่าวพบนายมานะ ถาวร เป็นผู้ดูแลสถานที่ ผลการตรวจค้นพบของกลาง 10 รายการ ประกอบด้วย 1.หน้ากากอนามัย 160,000 ชิ้น 2.หน้ากากผ้า(PITTA MASK) 81,600 ชิ้น 3.เจลแอลกอฮอล์ 473,974 ขวด 4.เครื่องวัดอุณหภูมิแบบยิงอินฟาเรด 1,280 ชิ้น 5.ชุดตรวจหาเชื้อโรค 4,500 กล่อง 6.ชุดป้องกันโรค PPE 4,000 ชุด 7.ถังบรรจุเจลล้างมือขนาด 40 ลิตร จำนวน 88 ถัง 3,520 ลิตร 8.เครื่องใช้อิเล็กทรอนิกส์และอุปกรณ์เกี่ยวข้องที่ใช้กับแหล่งจ่ายไฟฟ้าประธาน สำหรับใช้ในที่อยู่อาศัย (ลำโพง) จำนวน 190 หน่วย 9.ของเล่นไม่แสดงเครื่องหมายมอก. จำนวน 48 หน่วย 10.เครื่องใช้อิเล็กทรอนิกส์และอุปกรณ์เกี่ยวข้องที่ใช้กับแหล่งจ่ายไฟฟ้าประธาน สำหรับใช้ในที่อยู่อาศัย (กล่องรับสัญญาณ) จำนวน 280 หน่วย มูลค่าของกลางที่ตรวจยึด 113,990,000 บาท
พล.ต.ต.ณัฐศักดิ์ฯ กล่าวต่อว่า ขณะนี้ประชาชนได้รับผลกระทบจากสถานการณ์เชื้อไวรัสโควิด-19 แพร่ระบาดอีกทั้งบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งถือเป็นกลุ่มเสี่ยงติดเชื้อมากที่สุด เพราะต้องเผชิญใกล้ชิดกับผู้ป่วยซึ่งหน้ากากอนามัยชุดป้องกันเชื้อโรค PPE เปรียบเสมือนเป็นเสื้อเกราะให้กับบุคลากรทางการแพทย์ในการต่อสู้กับโรคระบาดรัฐบาล ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติเล็งเห็นความสำคัญของปัญหาดังกล่าว
จึงมอบหมายให้หน่วยงานในสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติโดยเฉพาะกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคควบคุมกำกับดูแลและป้องกันการกำหนดราคาซื้อราคาจำหน่ายหรือการกำหนดเงื่อนไขและวิธีปฏิบัติทางการค้าอันไม่เป็นธรรม รวมทั้งสร้างความมั่นใจในมาตรฐานของสินค้า เพื่อความปลอดภัยของประชาชน ตำรวจบก.ปคบ. จึงได้ดำเนินการตรวจสอบโดยลงพื้นที่ร่วมกับอย. กรมการค้าภายใน รวมทั้งภาคประชาชนในการตรวจสอบและดำเนินการความสำเร็จในครั้งนี้เกิดจากความร่วมมือของหลายภาคส่วนที่ทำให้การตรวจค้นพบของกลางเป็นจำนวนมาก จากการสอบถามคนดูเเลภายในโรงงานรับว่ามีการนำเจลเเอลกอฮอล์มาผสมกันเองภายในโรงงานจริง ซึ่งสินค้าที่ตรวจพบมีทั้งผลิตเองเเละนำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งในส่วนนี้ต้องตรวจสอบเเละเตรียมเเจ้งข้อเเตกต่างกันออกไป พร้อมเตรียมติดต่อเจ้าของโกดังมาสอบปากคำเเจ้งข้อหาต่อไป
เภสัชกรหญิงสุภัทราฯ กล่าวว่า อย.และ สำนักงานตำรวจแห่งชาติจะร่วมมือกันปฏิบัติหน้าที่เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภคโดยจะขยายผลเข้าตรวจสอบหาโรงงานที่ลักลอบผลิต นำเข้าและจำหน่าย หากพบผู้ได้รับอนุญาตฯ รายใดมีส่วนเกี่ยวข้องจะดำเนินคดีอาญาและใช้มาตรการทางปกครองทันที และขอเตือนผู้ประกอบการอย่าซ้ำเติมสถานการณ์โควิด-19 ลักลอบนำเข้าอุปกรณ์ชุดตรวจไวรัสโควิด-19 เครื่องวัดอุณหภูมิอินฟาเรด หรืออุปกรณ์ทางการแพทย์อื่นๆ โดยไม่ได้รับอนุญาตโดยเด็ดขาด สำหรับผู้ผลิตเครื่องสำอางควรนำเข้าหรือเลือกวัตถุดิบแอลกอฮอล์สำหรับผลิตเจสแอลกอฮอล์ให้ดีก่อนซื้อ ห้ามใช้เมทิลแอลกอฮอล์โดยเด็ดขาด เพราะจะเกิดอันตรายกับผู้บริโภค แนะให้ซื้อจากร้านที่น่าเชื่อถือและขอเอกสารระบุรายละเอียดของวัตถุดิบ (CoA) เพื่อความมั่นใจในคุณภาพ นอกจากนี้ยังพบแป้งเปียกผสมสีบรรจุขวดติดฉลากว่าเป็นเจลแอลกอฮอล์จัดเป็นเครื่องสำอางปลอม อย. พร้อมเอาผิดกับผู้ประกอบการที่ไม่เป็นธรรมกับผู้บริโภคทุกกรณี
เภสัชกรหญิงสุภัทรา กล่าวย้ำว่า ส่วนเจลแอลกอฮอล์ ทางอย.ได้รับการร้องเรียนจากเจ้าของผลิตรายใหญ่รายหนึ่งว่ามีการผลิตเจลแอลกอฮอล์เลียนแบบ จากโรงงานเถื่อน ซึ่งไม่ได้คุณภาพและนำเลขจดแจ้งของผลิตภัณฑ์อื่นมาแสดง จึงฝากเตือนประชาชนที่จะซื้อเครื่องมือทางการแพทย์ต่างๆไปบริจาค จะต้องตรวจสอบว่ามีคุณภาพหรือไม่ ผ่านการรองรับจากอย.หรือไม่ โดยสามารถเข้าไปตรวจสอบเลขจดทะเบียนได้ที่เว็บไซต์ของอย. เนื่องจากหากเป็นสินค้าไม่ได้คุณภาพ จะเกิดอันตรายต่อผู้ใช้ได้ โดยการจับกุมครั้งนี้ยังมีลักษณะพิเศษ คือ พบชุดPPE ที่บุคลากรทางการแพทย์จำเป็นต้องใช้ เวลาเข้าไปตรวจผู้ที่เข้าข่ายติดเชื้อและรักษาผู้ติดเชื้อ หากไม่ได้คุณภาพจะทำให้บุคลากรทางการแพทย์ได้รับอันตรายได้เช่นกัน
เภสัชกรหญิงสุภัทราฯ กล่าวอีกว่า สำหรับผู้บริโภคอย่าซื้ออุปกรณ์ชุดตรวจโรคโควิด 19 ทางเว็บเพจหรือสื่อออนไลน์มาใช้โดยเด็ดขาด เพราะในการตรวจวิเคราะห์จะต้องกระทำโดยผู้ประกอบวิชาชีพที่มีความชำนาญในการอ่านและแปลผล หากมีการตรวจด้วยตนเองแล้วเกิดข้อผิดพลาดอาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดคิดว่าตนเองไม่ติดเชื้อ จะทำให้เกิดการแพร่กระจายของเชื้อมากขึ้น และอย่าหลงเชื่อโฆษณาขายยาต้านไวรัสทางเว็บเพจอ้างช่วยรักษาโรคไวรัสโคโรนา เพราะการใช้ยาดังกล่าวต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ การซื้อมาใช้เองอาจทำให้เกิดเชื้อดื้อยา ที่สำคัญกฎหมายไม่อนุญาตให้ขายยาผ่านทางอินเทอร์เน็ต เสี่ยงได้รับยาไม่มีคุณภาพหรือยาปลอมและการเลือกซื้อเครื่องสำอางเจลแอลกอฮอล์ขอให้ตรวจสอบเลขจดแจ้งของผลิตภัณฑ์ก่อนซื้อทุกครั้งโดยสามารถตรวจสอบได้ที่ Oryor Smart Application หรืออย. ตรวจเลขหรือ Line @ Fdathai เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค และขอเตือนไปยังร้านจำหน่ายทั่วประเทศให้ระมัดระวังในการเลือกสินค้าเข้ามาจำหน่ายต้องเป็นผลิตภัณฑ์ที่ถูกต้องตามกฎหมายและซื้อจากแหล่งจำหน่ายที่เชื่อถือได้ อีกทั้งฝากถึงประชาชนผู้บริโภคช่วยกันเป็นหูเป็นตาหากพบการลักลอบผลิตนำเข้าจำหน่ายผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผิดกฎหมายขอให้แจ้งมาที่สายด่วนอย. 1556
ทั้งนี้มีความผิดตามพ.ร.บ.เครื่องสำอาง พ.ศ.2558 พ.ร.บ.เครื่องมือแพทย์ พ.ศ.2551 พ.ร.บ.มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมพ.ศ.2511 และพ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการพ.ศ.2542
สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน