วันที่ 7 เม.ย.63 เวลา 10.30 น.ที่ ปคบ.: อย.และ ตำรวจปคบ.แถลงจับกุมผู้กักตุนหน้ากากอนามัย ลักลอบผลิตเจลแอลกอฮอล์ และลักลอบนำชุดตรวจโควิด-19 มาจำหน่ายโดยไม่ได้รับอนุญาต พร้อมตรวจยึดของกลางมูลค่า 50 ล้านบาท ประกอบด้วยหน้ากากอนามัย อุปกรณ์ชุดตรวจโควิด-19 และเจลผสมแอลกอฮอล์จำนวนมาก
พลตำรวจโท เพิ่มพูน ชิดชอบ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ หัวหน้าคณะทำงานปราบปรามผลิตภัณฑ์และการบริการด้านสุขภาพที่ผิดกฎหมายของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พร้อมด้วยพลตำรวจตรีณัฐศักดิ์ เชาวนาศัย ผู้บังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข โดย นายแพทย์ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เภสัชกรหญิงสุภัทรา บุญเสริม รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ร่วมกันแถลงผลการจับกุมผู้กักตุนหรือขายหน้ากากอนามัยในราคาที่สูงเกินควร รวมถึงลักลอบนำชุดตรวจโควิด-19 และลักลอบผลิตเจลผสมแอลกอฮอล์มาจำหน่ายโดยไม่ได้รับอนุญาตในช่วงวันที่ 22 มีนาคม – 2 เมษายน 2563 พร้อมตรวจยึดของกลางประกอบด้วยหน้ากากอนามัย จำนวน 350,000 ชิ้น อุปกรณ์ชุดตรวจโรคโควิด-19 จำนวน 55,000 ชุด เครื่องวัดอุณหภูมิ แบบอินฟราเรด 1,200 เครื่อง ผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์ 53,000 ลิตร ผลิตภัณฑ์เจลผสมแอลกอฮอล์ 7,896 ชิ้น ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง 8,271 ชิ้น รวมมูลค่าของกลางที่ตรวจยึดกว่า 50 ล้านบาท
โดยมีผลการปฏิบัติที่น่าสนใจ ดังนี้ คดีแรก “ปคบ.ร่วม อย.ทลายโรงงานเถื่อน ผลิตเจลแอลกอฮอล์ปลอม” เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2563 ได้ตรวจค้นอาคารเลขที่ 168 หมู่ 9 ต.อ้อมน้อย อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร พร้อมตรวจยึดของกลางประกอบด้วยผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์ จำนวน 15 ถัง ถังละ 200 ลิตร รวม 3,000 ลิตร เครื่องสำอางสำเร็จรูป จำนวน 6,865 ขวด อุปกรณ์การผลิต บรรจุภัณฑ์ และฉลากผลิตภัณฑ์จำนวนมาก ซึ่งการกระทำดังกล่าวเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติเครื่องสำอาง พ.ศ.2558 ดังนี้ 1. ฐาน “ผลิตเครื่องสำอางโดยไม่จดแจ้ง หรือยังไม่ได้รับใบจดแจ้งก่อนผลิต” มีอัตราโทษ จำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 2. ฐาน “ผลิตเพื่อขายเครื่องสำอางปลอมที่ใช้ฉลากแจ้งชื่อผู้ผลิต ผู้นำเข้าหรือแหล่งผลิตที่ไม่ใช่ความจริง” มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 3. ฐาน “ผลิตเพื่อขายเครื่องสำอางปลอมที่แสดงว่าเป็นเครื่องสำอางที่ได้จดแจ้งไว้ซึ่งมิใช่ความจริง” มีอัตราโทษ จำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
คดีที่สองตรวจค้นโกดังพ่อค้าชาวจีน พบหน้ากากอนามัย ชุดตรวจโควิด-19 เถื่อน มูลค่ากว่า 33 ล้านบาท โดยเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2563 ได้จับกุมตัว นายเฉิน เหล่ย อายุ 35 ปี สัญชาติจีน นายเหวิน ปินปิน อายุ 24 ปี สัญชาติจีน โดยจับกุมที่บ้านเลขที่ 67 ซอยวชิรธรรมสาธิต 53 แขวงบางจาก เขตพระโขนง กรุงเทพฯ พร้อมตรวจยึดของกลางประกอบด้ว อุปกรณ์ชุดตรวจโรคโควิด-19 จำนวน 45,000 ชุด มูลค่ากว่า 22,500,000 บาท เครื่องวัดอุณหภูมิแบบอินฟราเรด จำนวน 1,200 เครื่อง มูลค่ากว่า 6,000,000 บาท หน้ากากอนามัย จำนวน 350,000 ชิ้น มูลค่ากว่า 5,250,000 บาท รวมมูลค่าของกลางกว่า 33,750,000 บาท โดยการกระทำดังกล่าวเป็นความผิดดังนี้ สำหรับอุปกรณ์ชุดตรวจ โควิด 19 และเครื่องวัดอุณหภูมิแบบอินฟราเรด ผิดฐาน “นำเข้าเครื่องมือแพทย์โดยไม่จดทะเบียนสถานประกอบการ” ตามพระราชบัญญัติเครื่องมือแพทย์ พ.ศ.2551 มีอัตราโทษ จำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ สำหรับหน้ากากอนามัยผิดฐาน “เป็นผู้นำเข้าไม่แจ้งปริมาณนำเข้า ปริมาณจำหน่าย ปริมาณคงเหลือ ชื่อและที่อยู่�ของผู้ซื้อ” ตาม พระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 ,ประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ฉบับที่ 9 มีอัตราโทษ จำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
คดีที่สาม “ปคบ.ร่วม อย.ทลายโรงงานผลิตเจลล้างมือเถื่อน” โดยเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2563 ได้ตรวจค้น อาคารเลขที่ 97/67 ต.บึงน้ำรักษ์ อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี พร้อมตรวจยึดของกลางประกอบด้วยผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์ จำนวน 50 ถัง ถังละ 1,000 ลิตร รวม 50,000 ลิตร ผลิตภัณฑ์เจลผสมแอลกอฮอล์ จำนวน 1,180 ขวด ผลิตภัณฑ์เจลผสมแอลกอฮอล์ จำนวน 456 แกลลอน เครื่องสำอางสำเร็จรูป จำนวน 26 แกลลอน อุปกรณ์การผลิต บรรจุภัณฑ์ และฉลากผลิตภัณฑ์ จำนวนมาก โดยการกระทำดังกล่าวเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติเครื่องสำอาง พ.ศ.2558 ดังนี้ 1. ฐาน “ผู้จดแจ้งต้องผลิตหรือนำเข้าเครื่องสำอางให้ตรงตามที่จดแจ้งไว้ ” มีอัตราโทษ ปรับไม่เกิน 20,000 บาท 2. ฐาน “ผลิตเพื่อขายเครื่องสำอางปลอม ที่ใช้ฉลากแจ้งชื่อผู้ผลิตผู้นำเข้าหรือแหล่งผลิตที่ไม่ใช่ความจริง” มีอัตราโทษ จำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 3. ฐาน “ฉลากเครื่องสำอางมีข้อความที่อาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญ และ ฉลากแสดงที่ตั้งผู้ผลิตไม่ถูกต้อง” มีอัตราโทษ จำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
คดีที่สี่ ตรวจยึด ชุดตรวจโควิด-19 เถื่อน มูลค่ากว่า 5 ล้านบาท เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2563 เหตุเกิดที่ แขวงแสมดำ เขตบางขุนเทียน กรุงเทพฯ ได้ตรวจยึดของกลางดังนี้ อุปกรณ์ชุดตรวจ โรคโควิด-19 จำนวน 10,000 ชุด มูลค่ากว่า 5,000,000 บาท การกระทำดังกล่าวเป็นความผิดฐาน นำเข้าเครื่องมือแพทย์โดยไม่จดทะเบียนสถานประกอบการ ตามพระราชบัญญัติเครื่องมือแพทย์ พ.ศ.2551 มีอัตราโทษ จำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท �หรือทั้งจำทั้งปรับ
คดีที่ห้า ปคบ.ร่วม อย.ตรวจสอบโรงงานเถื่อน ผลิตเจลแอลกอฮอล์ปลอม โดยเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2563
ได้ตรวจค้น อาคารเลขที่ 42/29 หมู่ที่ 3 ต.บึงน้ำรักษ์ อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี พร้อมตรวจยึดของกลางดังนี้ ผลิตภัณฑ์เจลผสมแอลกอฮอล์ จำนวน 6,260 หลอด เครื่องสำอางสำเร็จรูป จำนวน 1,380 ขวด ฉลากผลิตภัณฑ์ จำนวน 54,050 แผ่น อุปกรณ์การผลิต และบรรจุภัณฑ์ จำนวนมาก การกระทำดังกล่าวเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติเครื่องสำอาง พ.ศ.2558 ดังนี้ 1. ฐาน “ ผลิตเครื่องสำอางโดยไม่จดแจ้ง หรือยังไม่ได้รับใบจดแจ้งก่อนผลิต” มีอัตราโทษ จำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 2. ฐาน “ ผลิตเพื่อขายเครื่องสำอางปลอมที่ใช้ฉลากแจ้งชื่อผู้ผลิตผู้นำเข้าหรือแหล่งผลิตที่ไม่ใช่ความจริง” มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
3. ฐาน “ ผู้จดแจ้งต้องผลิตหรือนำเข้าเครื่องสำอางให้ตรงตามที่จดแจ้งไว้” มีอัตราโทษ �ปรับไม่เกิน 20,000 บาท
พลตำรวจโทเพิ่มพูนฯ กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้เกิดการกักตุนหน้ากากอนามัยและถูกนำมาจำหน่ายในราคาที่สูงเกินสมควร อีกทั้งมีการลักลอบนำอุปกรณ์ชุดตรวจโรคโควิด-19 ซึ่งเป็นเครื่องมือแพทย์ และเจลผสมแอลกอฮอล์มาโฆษณาขายผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์ โดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งการกระทำดังกล่าวอาจทำให้เกิดอันตรายแก่พี่น้องประชาชนได้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าวเป็นอย่างมาก จึงมีคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานปราบปรามผลิตภัณฑ์และการบริการด้านสุขภาพที่ผิดกฎหมายขึ้นมา โดยเน้นย้ำในการจับกุมผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพให้ครอบคลุมในทุกพื้นที่และประสานการทำงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เพื่อเป็นการคุ้มครองความปลอดภัยของพี่น้องประชาชน ซึ่งจากผลการปฏิบัติที่ผ่านมา สามารถจับกุมผู้กระทำผิดพร้อมตรวจยึดของกลางได้จำนวนมาก และขอฝากเตือนไปยังผู้ประกอบการที่ยังลักลอบกระทำความผิดไม่ว่าจะเป็นการผลิต นำเข้า หรือจำหน่ายผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผิดกฎหมาย ให้หยุดการกระทำดังกล่าว หากตรวจพบจะดำเนินคดีตามกฎหมายอย่างถึงที่สุด
ด้านเภสัชกรหญิงสุภัทราฯ กล่าวว่า อย.และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จะผนึกกำลังร่วมมือกันปฏิบัติหน้าที่ เพื่อคุ้มครองความปลอดภัยให้กับผู้บริโภค โดยจะขยายผล เข้าตรวจสอบหาโรงงานที่ลักลอบผลิต นำเข้าและจำหน่าย หากพบผู้รับอนุญาตฯ รายใดมีส่วนเกี่ยวข้องจะดำเนินคดีทั้งทางอาญาและใช้มาตรการทางปกครองทันที และขอเตือนผู้ประกอบการอย่าซ้ำเติมสถานการณ์โควิด-19 ลักลอบนำเข้าอุปกรณ์ชุดตรวจโรคโควิด-19 เครื่องวัดอุณหภูมิอินฟราเรด หรืออุปกรณ์ทางการแพทย์อื่นๆ โดยไม่ได้รับอนุญาตโดยเด็ดขาด สำหรับผู้ผลิตเครื่องสำอางควรเลือกวัตถุดิบแอลกอฮอล์สำหรับผลิตเจลแอลกอฮอล์ให้ดีก่อนซื้อมาผลิต ห้ามใช้เมทิลแอลกอฮอล์โดยเด็ดขาด เพราะจะเกิดอันตรายกับผู้บริโภค แนะให้ซื้อจากแหล่งจำหน่ายวัตถุดิบที่น่าเชื่อถือและขอเอกสารระบุรายละเอียดของวัตถุดิบ (CoA) เพื่อความมั่นใจในคุณภาพ นอกจากนี้ในกรณีที่พบแป้งเปียกผสมสีบรรจุขวด ติดฉลากว่าเป็นเจลแอลกอฮอล์ จัดเป็นเครื่องสำอางปลอม โทษมีทั้งจำคุกหรือปรับ ซึ่ง อย. พร้อมเอาผิดกับผู้ประกอบการที่ไม่เป็นธรรมกับผู้บริโภคทุกกรณี
รองเลขาธิการฯ อย. กล่าวอีกว่า เน้นย้ำสำหรับผู้บริโภคอย่าซื้ออุปกรณ์ชุดตรวจโรคโควิด-19 ทางเว็บเพจหรือสื่อออนไลน์มาใช้โดยเด็ดขาด เพราะในการตรวจวิเคราะห์จะต้องกระทำโดยผู้ประกอบวิชาชีพที่มีความชำนาญในการอ่านและแปลผล หากมีการตรวจด้วยตนเองแล้วเกิดข้อผิดพลาดอาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดคิดว่าตนเองไม่ติดเชื้อ จะทำให้เกิดการแพร่กระจายของเชื้อมากขึ้น และอย่าหลงเชื่อโฆษณาขายยาต้านไวรัสทางเว็บเพจอ้างช่วยรักษาโรคไวรัสโคโรนา เพราะการใช้ยาดังกล่าวต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ การซื้อมาใช้เองอาจทำให้เกิดเชื้อดื้อยา ที่สำคัญกฎหมายไม่อนุญาตให้ขายยาผ่านทางอินเทอร์เน็ต เสี่ยงได้รับยาไม่มีคุณภาพหรือยาปลอม และการเลือกซื้อเครื่องสำอางเจลแอลกอฮอล์ขอให้ตรวจสอบเลขจดแจ้งของผลิตภัณฑ์ก่อนซื้อทุกครั้งโดยสามารถตรวจสอบได้ที่ Oryor Smart Application หรือ อย.ตรวจเลข หรือ Line @ Fdathai เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค และขอเตือนไปยังร้านจำหน่ายทั่วประเทศ ให้ระมัดระวังในการเลือกสินค้าเข้ามาจำหน่าย ต้องเป็นผลิตภัณฑ์ที่ถูกต้องตามกฎหมายและซื้อจากแหล่งจำหน่ายที่เชื่อถือได้ อีกทั้ง ฝากถึงประชาชนผู้บริโภค ช่วยกันเป็นหูเป็นตา หากพบการลักลอบผลิต นำเข้า จำหน่ายผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผิดกฎหมาย ขอให้แจ้งมาที่สายด่วน อย. 1556 หรือที่ E-mail: 1556@fda.moph.go.th หรือ ตู้ ปณ. 1556 ปณฝ. กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี 11004 หรือที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกจังหวัด รวมทั้งสามารถร้องเรียนผ่าน Oryor Smart Application หรือเดินทางมาร้องเรียนด้วยตนเอง ที่ศูนย์จัดการเรื่องร้องเรียนและปราบปรามการกระทำผิดกฎหมายเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพ (ศรป.) ได้ทุกวันในเวลาราชการ หรือสายด่วน 1135 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค เพื่อ อย. จะได้ทำการตรวจสอบและดำเนินการทางกฎหมายกับผู้ที่กระทำผิดอย่างเด็ดขาดต่อไป
สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน